พ.ร.บ. ยาเสพติดฉบับใหม่ อนุญาตให้ปลูก-เสพ-ขายกระท่อมได้
2021.08.19
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ว่า พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ. 2564 ได้ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ทำให้ประชาชนสามารถปลูก ขาย และใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 นี้ และจะปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฏหมายพืชกระท่อมเดิม จำนวน 1,038 ราย
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีข้อมูลที่ไม่ได้ยืนยันเป็นทางการว่า มีกลุ่มก่อความไม่สงบ ต้มน้ำใบกระท่อมไปใช้ทำ “สี่คูณร้อย” แล้วเสพเพื่อกล่อมประสาทตนก่อนก่อเหตุ และยังมีกลุ่มวัยรุ่นเสพแล้วก่ออาชญากรรมลักเล็กขโมยน้อย ต่างแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป ส่วน โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ชี้เรื่องนี้ไม่มีนัยยะต่อเรื่องความมั่นคง
“24 สิงหาคม 2564 เป็นการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ทำให้ประชาชนสามารถปลูกและขายได้ รวมทั้งมีการปล่อยผู้กระทำความผิดตามกฏหมายพืชกระท่อม ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 จำนวน 1,038 ราย โดยถือว่าไม่เคยกระทำความผิด” นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในวันพฤหัสบดีนี้
“อย่างไรก็ตาม หากมีการนำไปผสมยาเสพติดอื่น ๆ เช่น 4x100 เป็นความผิดตามกฎหมาย สำหรับการนำเข้าหรือส่งออกไปต่างประเทศ ในเชิงอุตสาหกรรมนั้น ต้องขออนุญาตก่อน” นายอนุชา กล่าว
ทั้งนี้ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ. 2564 ได้ประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 โดยให้มีผลหลังจากนั้น 90 วัน ซึ่งในตอนท้ายของราชกิจจานุเบกษา ระบุว่าถึงการปรับปรุงกฎหมายว่า ปัจจุบัน พืชกระท่อมเป็นยาเสพติด ให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่ในหลายประเทศมิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประกอบกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1972 มิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ดังนั้นปรังปรุงให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ ที่มีการบริโภคพืชกระท่อม ตามวิถีชาวบ้าน
สำหรับกระท่อมนั้นถือเป็นพืชที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ หลายครั้งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงพบว่ากระท่อมมักถูกนำมาผสมเป็นเครื่องดื่มของสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบ จึงเกิดข้อถกเถียงในหมู่ประชาชนว่า การถอดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด จะกระทบต่อปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่
ในเรื่องนี้ พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ในหลักความมั่นคงไม่น่ากังวลอะไรและไม่มีผลอะไรต่อความมั่นคง แต่การต้มผสมยาเสพติดยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่ เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องตระหนักเรื่องนี้
ด้าน นางตอฮีเราะ อีแต ชาวบ้านในจังหวัดยะลา ไม่เห็นด้วยกับการทำให้กระท่อมถูกกฎหมาย เพราะเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเยาวชน
“โลกวิบัติหมดแล้ว ของมึนเมาทำให้ถูกกฎหมายได้ มันจะทำลายคนดีให้เป็นคนไม่ดีได้ ทำให้คนเสียสุขภาพ อยากให้เยาวชนหยุดกินมันจะดีที่สุด เชื่อว่าพอมันไม่ผิดกฎหมายความวุ่นวายจะตามมา โดยเฉพาะการลักขโมย” นางตอฮีเราะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ด้าน นางมัสนี ดอเลาะ ชาวจังหวัดปัตตานี เผยว่า หากกฎหมายบังคับใช้จะทำให้ตนเองคลายกังวล เพราะที่ผ่านมา ตนแอบใช้กระท่อมเป็นยา
“ตามหลักศาสนาอิสลามหากกินกระท่อมเป็นยา ถือว่าไม่ผิด แต่ถ้ากินเป็นสิ่งมึนเมาผิด ที่บ้านก็แอบปลูก 1 ต้นมาแล้ว 5 ปี เพื่อไว้กินแก้ความดัน แต่แม้จะกินเป็นยาเมื่อผิดกฎหมายก็ทำให้เรากังวลกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะรู้มาตลอด จึงต้องปลูกไม้อื่นแซม ตอนนี้ เราดีใจ เพราะจะไม่ผิดกฎหมายแล้ว” นางมัสนี กล่าว
กระท่อม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna Speciosa มีฤทธิ์ระงับปวด คล้ายมอร์ฟีนแต่ฤทธิ์น้อยกว่า 10 เท่า อาจทำให้เกิดอาการเคลิ้มคล้ายโคเคนได้หากใช้ในปริมาณมาก ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เชื่อว่าหากใช้จะทำให้ร่างกายว่องไว และแข็งแรง แต่เคยมีคำเตือนของแพทย์ระบุว่า หากใช้ต่อเนื่องจนติดอาจทำให้เกิดประสาทหลอน นอนไม่หลับ ผิวหนังดำเกรียม ช่องปากอักเสบ ติดเชื้อ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว และเหนื่อยง่าย ในช่วงที่ยังเป็นยาเสพติด กระท่อมเคยมีราคาซื้อขายสูงถึง 2-3 หมื่นบาทต่อกิโลกรัม
กระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่า ระหว่างปี 2560-2564 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถจับกุมคดียาเสพติด 14,801 คดี มีผู้ต้องหา 15,718 คน สามารถยึดของกลางเป็นเป็นกระท่อม (ใบ/กาก) 10,936.38 กิโลกรัม ยาบ้า 6,924,930 เม็ด กัญชา 130.40 กิโลกรัม ไอซ์ 2,207.97 กิโลกรัม และ เฮโรอีน 57.37 กิโลกรัม
นายอนุชา ระบุว่า การปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ให้โทษในประเภท 5 ทำให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายในการการพิจารณาคดีด้วย โดยได้อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) พบว่า การพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับพืชกระท่อมในชั้นศาลมีค่าใช้จ่าย 76,612 บาทต่อคดี การที่นำกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดจะสามารถลดค่าใช้จ่ายของรัฐและผู้ต้องหารวม 1,691,287,000 บาท โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 - 30 มิถุนายน 2564 มีคดีที่เกี่ยวกับกระท่อมถึง 22,076 คดี
ทั้งนี้ ในปี 2556 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เคยขอเข้าพบ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เพื่อปรึกษาเรื่องการนำพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ซึ่งนายอาศิสได้แนะนำว่าให้ทำการศึกษาให้มั่นใจว่าพืชชนิดนี้ไม่ใช่สิ่งมึนเมาเสียก่อนจึงดำเนินการต่อ
ปัจจุบัน คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ค้นคว้าและพบว่า สารสกัดใบกระท่อมพบสารสำคัญ คือ Mitragynine เป็นสารกลุ่ม Indole alkaloids มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลาย มีฤทธิ์ลดการเจ็บปวด ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์กระตุ้นประสาท ฤทธิ์ต้านการซึมเศร้า มีผลต่อความจำ ลดการหลั่งกรด ดังนั้น พืชกระท่อมจึงมีศักยภาพ ในการพัฒนาให้มีการใช้ทางการแพทย์
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนในการวิจัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จในกรรมวิธีการสกัดสารจากกระท่อมเพื่อการพัฒนาสูตรตำรับยาตำรับต่าง ๆ เช่น ตำรับยารูปแบบยาน้ำ ยาเม็ด ยาแคปซูล, ผลิตภัณฑ์แผ่นแปะแก้ปวดออกฤทธิ์เฉพาะที่, ตำรับยาอมเม็ดแข็ง เม็ดนิ่ม และยารูปแบบผงแห้ง, และ ตำรับยาเหน็บทวาร ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาและบำบัดผู้เสพยาเสพติดและลดอาการปวดได้