กกต. ส่งศาล รธน. วินิจฉัย “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.07.12
กรุงเทพฯ
กกต. ส่งศาล รธน. วินิจฉัย “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โบกมือให้กับผู้สนับสนุนในระหว่างการเดินสายขอบคุณประชาชนที่เซ็นทรัลเวิร์ลด์ วันที่ 9 กรกฎาคม 2566
เอเอฟพี

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลสิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีที่นายพิธา มีชื่อเป็นผู้ถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 4.2 หมื่นหุ้น และ กกต. ขอให้ศาลสั่งนายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

คณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อจากการประชุมคราวที่แล้ว เห็นว่า สมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป” ตอนหนึ่งของจดหมายข่าว กกต. ระบุ

ด้าน นายพิธา ได้กล่าวกับสื่อมวลชนที่รัฐสภา ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า การที่ กกต. พิจารณากรณีดังกล่าว โดยไม่มีการเรียกตนเองไปชี้แจง ถือว่าไม่เป็นธรรม

รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม แล้วก็ระเบียบของ กกต. เองก็ควรที่จะให้ชี้แจง แล้วระยะเวลา (พิจารณาคำร้องเรื่องนี้) สั้น ผมมานั่งคำนวณดูก็ 32 วัน ครึ่งนึงของคุณธนาธร (คดีถือหุ้นวีลัค มีเดีย)... ดูเร่งรัดไปนิด หนึ่งวันก่อนโหวตนายกฯ ก็เป็นอะไรที่ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น แต่ผมก็ยังเดินหน้าตามปกติ” นายพิธา กล่าว

และต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (13 กรกฎาคม 2566) พิธา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ระบุ ไม่กังวล คิดว่าวุฒิสภาก็คงจะแยกแยะได้ว่าแต่ละเรื่องมันมีหน้าที่อะไรบ้าง เรื่องที่ได้ร้องไปก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นสื่อมวลชนที่ปิดไปนานแล้ว แล้วผมก็ถือในฐานะผู้จัดการมรดก มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร คุณสมบัติแคนดิเดตนายกก็ยังมีอยู่”

ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงที่รัฐสภา โดยได้เตือนให้ กกต. เคารพเสียงประชาชน

“เราในฐานะผู้แทนราษฎร ขอฝากเสียงเตือนจากประชาชนไปยัง กกต. และองค์กรอิสระทั้งหมดว่า อย่าลุแก่อำนาจจนเกินขอบเขต วันใดการเมืองกลับมาเป็นปกติ ประชาชนจะกลับมาลงโทษพวกท่าน ไม่ว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับการเสนอชื่อนายกฯ ในวันพรุ่งนี้ และนายพิธา ยังมีความชอบธรรมในฐานะผู้ชนะการเลือกตั้ง” 

ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ “กระบวนการสกัดกั้นไม่ให้พิธาเป็นนายกฯ"

“จึงจำเป็นต้องหาวิธีอื่น ซึ่งวิธีการที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยใช้มาตลอดก็คือการนำกระบวนการยุติธรรมเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดในวันพรุ่งนี้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติชี้ขาดให้พิธาพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งอาจนำมาสู่ ส.ว. ที่ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน ตัดสินใจไม่โหวตให้พิธาด้วยเหตุผลว่าผิดคุณสมบัติ ส.ส. จึงไม่มีความสง่างาม หรืออะไรทำนองนี้ แน่นอนว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมาก” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวเพิ่มเติม

กรณีนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบนายพิธา กรณีการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ซึ่งเคยประกอบธุรกิจสื่อมวลชน 4.2 หมื่นหุ้น ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2566  กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องกรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา เนื่องจากคำร้องถูกยื่นเกินระยะเวลาตรวจสอบคุณสมบัติ แต่ กกต. ตั้งคณะกรรมการไต่ส่วนในประเด็นที่ว่า นายพิธา สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่รู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติหรือไม่ ตามมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 กระทั่ง กกต. มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

หลังมีมติของ กกต. นายอานนท์ นำภา ทนายความ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้เขียนข้อความเชิญชวนให้คนออกมาชุมนุมในเวลา 18.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ขณะที่ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายจังหวัด ก็ได้มีการเรียกชุมนุมเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อมติของ กกต. เช่นกัน

การต่อสู้ที่ปลายทางไม่รู้จะแพ้หรือชนะ แต่การถูกหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ การตอบโต้ต่ออำนาจที่คอยทำลายประชาธิปไตยมีความจำเป็นต้องก่อเกิด ไม่ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร ให้ทุกคนรู้ว่าการต่อสู้ได้เริ่มต้นแล้ว” นายอานนท์ ระบุ

ด้าน พล.ต.ท. ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้ ประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 เวลา 24.00 น. และอาจมีการปิดการจราจร เพื่อรองรับการชุมนุมด้วย

ในวันนี้ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยังไม่พิจารณาว่าจะรับคำร้องของ กกต. เรื่องการถือหุ้นสื่อมวลชนของนายพิธาหรือไม่ แต่ได้พิจารณาได้รับคำร้องทางธุรการ กรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธอิสระ ยื่นให้พิจารณาว่า นายพิธา และพรรคก้าวไกล กระทำเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ จากการหาเสียงด้วยประเด็นการยกเลิก ม.112 โดยศาลกำหนดให้ นายพิธา และพรรคชี้แจงภายใน 15 วัน

ปัจจุบัน พรรคก้าวไกล และเพื่อไทยจับมือกับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรค ได้มือ ส.ส. 312 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 500 คน ยืนยันว่าจะเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการทหาร และฝ่ายอนุรักษ์นิยม ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ทำให้หากพิธาต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียงจาก 750 เสียงในที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยก้าวไกล ยืนยันมาตลอดสัปดาห์ว่า ได้เสียง ส.ว. ครบตามที่ต้องการแล้ว สำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นี้

ขณะเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลาร่วม 9 ปี ได้ประกาศในวันอังคารที่ผ่านมาว่า ได้วางมือทางการเมือง และลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเสนอชื่อตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว 

สำหรับ ไอทีวี เริ่มออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ต่อมาได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2541 และดำเนินการออกอากาศเรื่อยมา ต่อมามีคดีความเรื่องการสัมปทาน ซึ่งนำไปสู่การยุติการออกอากาศ ตั้งแต่ 24.00 น. วันที่ 7 มีนาคม 2550 หลังการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ปัจจุบัน บริษัท ไอทีวี ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อแล้ว แต่ยังมีสถานะเป็นบริษัท เนื่องจากคดีที่บริษัทเป็นโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังคงดำเนินอยู่

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ หลังพบว่า ธนาธรถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเคยเป็นบริษัทที่ผลิตนิตยสาร “Who” แม้ว่านิตยสาร Who จะเลิกผลิตไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่ธนาธรจะได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ก็ตาม

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง