พิธาประกาศนำการจัดตั้งรัฐบาล
2023.05.15
กรุงเทพฯ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศในวันจันทร์นี้ว่า พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคเพื่อไทยยืนยันพร้อมให้การสนับสนุนก้าวไกลและไม่คิดจะตั้งรัฐบาลแข่งกันเอง
นายพิธา แถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล ในช่วงบ่ายวันจันทร์นี้ว่า ได้พูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันแล้ว หลังทราบผลการนับคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่เป็นทางการว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งและสองตามกันมา
“พรรคก้าวไกล พร้อมที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป นี่คือการน้อมรับฉันทามติจากพี่น้องประชาชน พลิกขั้วเปลี่ยนข้างจากฝ่ายค้านเดิมในการจัดตั้งรัฐบาล และผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน พร้อมที่จะฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง” นายพิธา กล่าว
“ก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย และเสรีรวมไทย ณ ปัจจุบัน ถ้ารวมกันตอนนี้ก็ 308 เสียง กำลังติดต่อไปยังพรรคเป็นธรรม 1 พรรค ก็จะเป็น 309 น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ชัดเจนว่าเป็นการปิดประตูการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นที่แน่นอนแล้ว” นายพิธา ระบุ
หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งนับคะแนนได้จำนวนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของกว่าเก้าหมื่นหน่วยเลือกตั้ง ผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกล ได้ ส.ส. ทั้งสองแบบมากที่สุด 152 ที่นั่ง ตามด้วยเพื่อไทย 141 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเก่า เช่น ภูมิใจไทย ได้ 70 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 40 ที่นั่ง รวมไทยสร้างชาติ 36 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ 25 ที่นั่ง
ในวันเดียวกันนี้ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวในการแถลงข่าวว่า พร้อมให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล
“พรรคเพื่อไทยยินดีที่จะให้การสนับสนุน และขอยืนยันว่าไม่มีแนวคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ในการจัดตั้งรัฐบาล ประเด็นในการหารือ และกระบวนการต่าง ๆ ขอให้เป็นหน้าที่และอำนาจของพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายดำเนินการ 309 เสียง สามารถเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งได้แน่นอน” นพ. ชลน่าน กล่าว
หลังความพ่ายแพ้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “ขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ให้มากับ ส.ส. เขต แล้วก็พรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ยืนยันจะทำหน้าที่ต่อไปให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะในหน้าที่ใดก็ตาม แล้วก็ตัวผมเองนั้น ก็ขอให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยมีความเจริญก้าวหน้า”
ผลออกมาเหนือความคาดหมาย
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้แถลงในเวลา 10.30 น. ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้มาใช้สิทธิ 39.29 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 52 ล้านคน คิดเป็น 75.22 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดเป็นประวัติการ และผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการหลังจากนับคะแนนแล้ว 99 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า แต่ละพรรคได้ ส.ส. เขต ดังนี้ ก้าวไกล 113 ที่นั่ง เพื่อไทย 112 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 67 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 39 ที่นั่ง รวมไทยสร้างชาติ 23 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 9 ที่นั่ง ประชาชาติ 7 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 5 ที่นั่ง เพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง และชาติพัฒนากล้า 1 ที่นั่ง
ขณะที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ก้าวไกลได้ 39 ที่นั่ง เพื่อไทย 29 ที่นั่ง รวมไทยสร้างชาติ 13 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 3 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 3 ที่นั่ง ประชาชาติ 2 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 1 ที่นั่ง เสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 1 ที่นั่ง ประชาธิปไตยใหม่ 1 ที่นั่ง พรรคใหม่ 1 ที่นั่ง ชาติพัฒนากล้า 1 ที่นั่ง ท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง เป็นธรรม 1 ที่นั่ง พลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง และครูไทยเพื่อประชาชน 1 ที่นั่ง
สำหรับผลการเลือกตั้งที่ ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า ผลการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย และอาจเกิดขึ้นเพราะความชัดเจนในจุดยืนของพรรคก้าวไกล
“เกินกว่าความคาดหมายมาก ต้องใช้คำว่ามหัศจรรย์ ไม่คิดว่าจะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราคาดการณ์กันว่า ก้าวไกลจะชนะเฉพาะเขตเมือง แต่กลับกินไปถึงพื้นที่รอบนอกหลายจังหวัด” ดร. ณัฐกร กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“คิดว่าปัจจัยสำคัญ คือความไม่ชัดเจนของเพื่อไทยเอง ซึ่งก้าวไกลเขาชัดเจนกว่าตั้งแต่ต้น พอกระแสพิธาเริ่มมา เพื่อไทยมาปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร ก็สายไปพอสมควร และโซเชียลมีเดียก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะติ๊กต็อกที่เข้าถึงคนทุกวัยและลดความแตกต่างระหว่างชนบทกับเมือง” ดร. ณัฐกร กล่าวเพิ่มเติม
แพทองธาร ชินวัตร (ซ้าย) และเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ปราศรัยต่อสื่อมวลชนที่สำนักงานใหญ่ของพรรค กรุงเทพฯ วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 (เอเอฟพี)
อาจต้องผสมข้ามฝั่ง
อดีตพรรคฝ่ายค้านต้องการเสียงให้ได้อย่างน้อย 376 เสียง ในการประชุมร่วมสองสภาเพื่อรับรองผู้ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งในวันนี้ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภาคนสำคัญเลี่ยงตอบผู้สื่อข่าวถึงการโหวตรับรองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
“ตอนนี้ พรรคฝ่ายค้านเดิมคะแนนไม่เพียงพอจะปิดสวิทซ์ ส.ว. ดังนั้นอาจมีความเป็นไปได้ที่ต้องดึงพรรคจากขั้วตรงข้ามมาร่วม ซึ่งความเป็นไปได้ที่สุดในตอนนี้คือ ภูมิใจไทย และที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าภูมิใจไทยพยายามที่จะไม่มีประเด็นกับพรรคขั้วฝ่ายค้านเดิม” ดร. ณัฐกร กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ดร. ณัฐกร กล่าวเตือนว่า แม้ว่ายังจะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงในระยะสั้นหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง เแต่ต้องน่าจับตามองการที่นายพิธาถูกฟ้องร้องกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งอาจจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้
ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบกรณีที่ นายพิธา มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน กรณีนี้อยู่ในการพิจารณาของ กกต. โดยนายพิธา ยืนยันว่า กรณีดังกล่าวไม่น่าเป็นห่วง และพร้อมชี้แจง
ทั้งนี้ หลังการเลือกตั้ง กกต. มีเวลา 60 วันในการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยระหว่างนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมจะทำหน้าที่รักษาการ จนกว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง จะสามารถจัดตั้ง ครม. ชุดใหม่ได้ โดยในการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุให้ ส.ว. 250 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส. 500 คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน