ประเทศไทย : ยิ่งตั้งรัฐบาลช้า ยิ่งน่าเป็นห่วง
2023.06.16
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของประเทศไทยกำลังสร้างความวิตกกังวลให้กับทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยคนไทยบางส่วนกังวลเกี่ยวกับการกลับไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
จนถึงปัจจุบัน แม้จะผ่านการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 มาแล้วหนึ่งเดือน แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่สามารถรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ การจัดตั้งรัฐบาลในฝันของพรรคก้าวไกล ซึ่งได้เสียงสนับสนุน 14 ล้านเสียงจากประชาชน จึงเป็นฝันที่ยังไม่เป็นจริง
หลังรู้ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นรวม 8 พรรค ที่คว้า ส.ส. 313 คน ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วม และแสดงความพร้อมที่จะรับช่วงต่อการบริหารประเทศจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาร่วม 9 ปี โดยว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่เตรียมที่จะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี
ท่ามกลางภาวะดังกล่าว นักการเมืองและกลุ่มธุรกิจเริ่มกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่เป็นตามไทม์ไลน์คือเดือนสิงหาคม จะเกิดความเสียหายตามมา และหากเลื่อนไปจนถึงสิ้นปี 2566 จะส่งผลต่อจีดีพีหดตัวอย่างน้อย 1-1.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่า จีดีพีปีนี้จะโตได้ 3-3.5% อาจจะเหลือแค่ 2-2.5%
เช่นเดียวกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ชี้ว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลทำได้ล่าช้าจะกลายเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2566-2567
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ระบุว่า จากการได้พูดคุยกับนักธุรกิจทำให้ภาคธุรกิจเองก็กังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล
“ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้การลงทุนหยุดชะงัก เขา (นักลงทุน) ก็อยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว จุดยืนของพรรคเพื่อไทยอยากให้ 8 พรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว โดยคุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ตรงนี้ก็จะช่วยแก้ไขผ่อนคลายปัญหาไปได้เยอะ ถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็วทุุกอย่างก็จะกลับมาดีขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว
อย่างไรก็ตาม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กเพจเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 เรียกร้องให้ กกต. เร่งรับรอง ส.ส. โดยเร็ว
“ผมหวังว่า กกต. จะเร่งรับรอง ส.ส. เพื่อที่เราจะได้ทำภารกิจเร่งด่วนในการฟื้นฟู เอสเอ็มอี (SME) ไทยให้กลับสู่จุดเดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด และสร้างเศรษฐกิจฐานรากไทยให้เข้มแข็งและเป็นธรรมให้ได้โดยเร็วที่สุด”
ให้ประชาธิปไตยทำงาน
แม้ว่า ตามกฎหมาย กกต. มีเวลาเต็มที่ 60 วัน หลังการเลือกตั้งที่จะรับรอง ส.ส. อย่างเป็นทางการ แต่หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลว่า ความยืดเยื้อ ล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาล อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ชี้แจงถึงความล่าช้าในการรับรองผลเลือกตั้งว่า “กกต. ทำงานตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด สิ่งที่เราทำก็คือ ต้องเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ทยอยประกาศไม่ได้ ต้องประกาศให้ได้อย่างน้อย 95 เปอร์เซ็นต์ ของแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้อง 380 จาก 400 คน”
และแม้ว่า กกต. จะรับรองการเลือกตั้ง แต่การที่กลุ่มพรรคฝ่ายค้านเดิมจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ยังคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากยังขาดเสียงข้างมากในรัฐสภาคือ 750 ที่นั่ง
ผู้ชุมนุมแสดงสัญลักษณ์สามนิ้วนอกรัฐสภาในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 (เอเอฟพี)
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากกังวลว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมและทหารกำลังหาทางรักษาอำนาจในทุกทางที่ทำได้
นายอานนท์ นำภา ทนายความ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ชี้ว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล อาจทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องบนท้องถนน
“คนจะลงถนน ถ้าชนชั้นนำไทยทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย อันนี้ไม่ได้ขู่ ไม่ได้นัด และไม่ได้นำด้วย มันจะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ หลายคนห่วงกังวล ผมก็ห่วง แต่โดยธรรมชาติของการแสดงออกทางการเมืองนั้นเลี่ยงยาก เพราะทางเลือกของการต่อสู้มันมีไม่มาก ถ้าไม่อยากเดินไปที่จุดที่ไม่รู้จะจบยังไง ปล่อยให้คะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนทำงานครับ ยอมรับความพ่ายแพ้ แก้ไขจุดบกพร่อง แล้วมาให้ประชาชนลงมติอีกใน 4 ปี ข้างหน้า วันนี้ ให้ประชาธิปไตยทำงานเถอะครับ” นายอานนท์ กล่าว
ด้าน นายสุพล สิงห์คำ แรงงานรายหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตั้งความหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ไว้มาก และอยากให้ทำได้ครบทุกนโยบาย
“ไม่อยากให้คนที่ไม่เก่งมาดูแลประเทศแล้ว อยากให้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำทำสำเร็จ อยากให้เศรษฐกิจดีขึ้น ไม่มีโบนัสมาหลายปีแล้ว จะรออีกสักหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล”
ความกลัวรัฐประหารเริ่มปรากฏ
องค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมและทหารจะยอมรับอำนาจของฝ่ายค้านเดิมหรือไม่นั้น เป็นที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือดในสังคมไทยนับตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง
กองทัพไทยทำรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง นับตั้งแต่สิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 และประเทศก็สั่นคลอนด้วยการปะทะกันระหว่างทหารกับฝ่ายประชาธิปไตยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การรัฐประหารครั้งล่าสุด นำโดยประยุทธ์ในปี 2557 และอยู่ในอำนาจจนถึงการเลือกตั้งในปี 2562 โดยที่นักวิเคราะห์ระบุว่า การแทรกแซงทางการเมืองของทหารจะยังคงไม่หายไปไหน
ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ระหว่างกล่าวปราศรัยครั้งสุดท้ายในกรุงเทพฯ วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ก่อนการเลือกตั้ง (เอเอฟพี)
ดร. ธัชชนก สัตยวินิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์เเละนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้ว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นอาจนำพาประเทศไทยไปสู่จุดหักเลี้ยวที่สำคัญในอนาคตอันใกล้
“ขบวนการยับยั้งไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลได้มันชัดขึ้นเรื่อย ๆ กรณีหุ้นไอทีวีจะเป็นเงื่อนไขสำคัญเลย ที่เราจะเห็นความไม่พอใจของประชาชน ถ้าคำตัดสินออกมาแล้วไม่ยุติธรรม การประท้วงมีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน ถามว่ามีโอกาสเกิดรัฐประหารอีกครั้งไหม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีทาง แต่หากจะเกิดขึ้นจริง ทหารก็คงจะทำอย่างระมัดระวัง และคงเป็นทางเลือกสุดท้าย หลังจากที่ใช้วิธีการทั้งหมดเพื่อที่จะสกัดกั้นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว” ดร. ธัชชนก กล่าว
ทั้งนี้ นอกจาก กกต. จะยังไม่รับรองผลเลือกตั้งแล้ว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล กรณีการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ซึ่งเคยประกอบธุรกิจสื่อมวลชน 4.2 หมื่นหุ้น ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือไม่
ต่อมา กกต. เปิดเผยว่า มีมติไม่รับคำร้องตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. ของนายพิธา แต่จะไต่สวนนายพิธาในข้อหา สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่รู้ว่า ไม่มีคุณสมบัติหรือไม่ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนำมาสู่การตั้งคำถามของผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลว่า เหตุใดจึงนำกรณีการถือหุ้น ไอทีวี ซึ่งหยุดออกอากาศมาแล้วกว่า 15 ปี มาดำเนินการกับว่าที่นายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
เช่นเดียวกัน รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการหลายสิบชีวิต ก็ได้เดินทางไปยังหน้าที่ทำการ กกต. เชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้ กกต. รับรองผลการเลือกตั้งด้วย
“แม้ว่าจะผ่านการเลือกตั้งมาเป็นระยะเวลาครบหนึ่งเดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการประกาศรับรองผลแต่อย่างใด ฉะนั้นการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง จะเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่ทำให้สังคมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความสงบ ยิ่งการประกาศผลล่าช้าออกไปมากเพียงใด ก็ยิ่งจะถูกมองว่าเป็นการถ่วงเวลาเพื่อเปิดโอกาสให้บางกลุ่มบางฝ่ายสามารถบิดเบือนผลจากการเลือกตั้ง อันจะเป็นการสร้างความไม่ชัดเจนต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่ายในสังคมไทย” รศ. สมชาย กล่าว
ด้าน วันวิสา อิ่มขันต์ นักศึกษา อายุ 21 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ระบุกับเบนาร์นิวส์ว่า คาดหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้มาก แต่ก็ผิดหวังกับเหตุการณ์ประหลาดมากมาย เช่น การจัดการเลือกตั้งที่ไม่มีประสิทธิภาพ และปัญหาเรื่องหุ้นของพิธา
“พวกเขาทำเหมือนอนาคตของพวกเราเป็นของเล่น จะทำอะไรก็ได้ คิดว่าเราโง่มาก ไม่มีปากมีเสียง” วันวิสา ระบุ