สภาพัฒน์เผยอัตราคนว่างงาน ร้อยละ 2.25 สูงสุดในรอบ 16 ปี
2021.11.22
กรุงเทพฯ

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยในวันจันทร์นี้ว่า นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยมีคนตกงานแล้ว 8.7 แสนราย ร้อยละ 2.25 ถือว่าสูงสุด หลังจากเหตุวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 16 ปีก่อน โดยคาดการณ์ว่าหลังจากที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายนนี้ ภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัว แต่หนี้นอกระบบจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 การจ้างงานในประเทศลดลงโดยภาคที่มีการจ้างงานลดลงมากที่สุด คือ สาขาก่อสร้าง 7.3 เปอร์เซ็นต์ และสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร 9.3 เปอร์เซ็นต์
“ภาพรวมการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน… การว่างงาน เพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.25” นายดนุชา กล่าว
ทั้งนี้ อัตราว่างงานของไทย เคยสูงสุดในปี 2548 ในช่วงการเกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา โดยอยู่ที่ร้อยละ 2.52
สภาพัฒน์ ระบุว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้ว่างงาน 3.73 แสนราย ขณะที่ปี 2563 มี 6.51 แสนราย โดยคาดการณ์ว่า สถานการณ์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 หลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ไทยจะสามารถเพิ่มการจ้างงานในภาคท่องเที่ยวได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และอาจเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานเดิมเปลี่ยนสายงาน ขณะเดียวกัน ภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากมีภัยธรรมชาติ ซึ่งมี 33 จังหวัด 225 อำเภอ ถูกน้ำท่วม ส่วนราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็จะกระทบต่อค่าครองชีพ
นายดนุชา กล่าวเพิ่มเติม ว่าจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในรอบครึ่งปี 2564 พบว่า มีมูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าจากปี 2562
“หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น... การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น” นายดนุชา กล่าว
สภาพัฒน์ ระบุว่า ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ไทยมีคดีอาญาเพิ่มขึ้น 10.3 เปอร์เซ็นต์ จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 โดย คดีลักทรัพย์มากที่สุด 12,623 คดี คิดเป็น 45.4 เปอร์เซ็นต์ของคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ทั้งหมด
หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยเพิ่มเป็น 55.59 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2564
ด้าน สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) เปิดเผยผลวิจัยภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยสรุปว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นถึง 51.83 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563 และเพิ่มเป็น 55.59 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2564 ซึ่งกระทรวงการคลังตั้งเพดานไว้ที่ 60 เปอร์เซ็นต์
ปี 2563 มีธุรกิจเลิกกิจการ 20,920 ราย ประเภทธุรกิจที่เลิกกิจการมากที่สุดคือ ธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และภัตตาคาร/ร้านอาหาร ขณะเดียวกัน มีโรงงานประกอบกิจการใหม่ 2,633 โรงงาน ทำให้มีการจ้างงาน 86,797 ราย
“หากคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนตามเป้าคือ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร… จะทำให้การระบาดของโควิดลดลงเกือบเป็น 0 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 และจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 ล้านคน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 11.26 เปอร์เซ็นต์ ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 39.29 เปอร์เซ็นต์ ผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมลดลงกว่า 70,000 คน” ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัยดังกล่าว ระบุ
ด้าน นายอัครพล (สงวนนามสกุล) อดีตพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า โควิด-19 ทำให้โรงแรมที่ตนเองทำงานอยู่ปิดกิจการในปี 2563 ส่งผลให้พนักงานทั้งหมดต้องว่างงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างมาก
“ได้เงินก้อนจากโรงแรมตามกฎหมายแรงงาน แต่การตกงานตอนอายุ 37 ปี ก็ทำให้หางานยาก การช่วยเหลือของรัฐโดยเฉพาะไม่เคยมี ประกันสังคมไม่เคยติดต่อมา โครงการเยียวยาต่าง ๆ เราพยายามลงทะเบียนแล้วแต่ไม่สำเร็จ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้รัฐบาลชุดนี้ออกไปแล้วให้คนเก่ง ๆ ได้เข้ามาบริหาร โดยไม่เอื้อประโยชน์นายทุนแค่บางกลุ่ม อยากให้มีโครงการช่วยเหลือแบบยั่งยืน” นายอัครพล กล่าว
ในวันจันทร์นี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 6,428 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 49 ราย ทำให้ปัจจุบัน ยอดติดเชื้อสะสมรวมเป็น 2.07 ล้านราย เสียชีวิตสะสม 2.04 หมื่นราย สามารถฉีดวัคซีนแล้ว 88.9 ล้านโดส โดยเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว 39.20 ล้านราย