อีสาน-ตะวันออก วิกฤต 1.47 แสนไร่จมน้ำ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.08.02
กรุงเทพฯ
อีสาน-ตะวันออก วิกฤต 1.47 แสนไร่จมน้ำ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ เข้าแจกสิ่งของช่วยเหลือน้ำท่วม ในพื้นที่ ต.วังแซ้ม อ.มะขาม จ.จันทบุรี ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยติดต่อกันหลายวัน วันที่ 1 สิงหาคม 2567
สวท.จันทบุรี

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมพบว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบพื้นที่ถูกน้ำท่วมแล้ว 1.47 แสนไร่ ปราจีนบุรี-นครราชสีมา-นครนายก หนักสุด ด้าน สส. อุบลราชธานี เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเตรียมแผนรับมือก่อนเกิดปัญหาใหญ่ ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังปัญหาแล้ว

“ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากภาพดาวเทียม Sentinel-1 พบพื้นที่น้ำท่วมบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก รวมทั้งสิ้นประมาณ 147,512 ไร่ ในนั้นเป็นพื้นที่นาข้าว 54,706 ไร่” GISTDA ระบุ ผ่านรายงาน

GISTDA เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมพบว่า มีประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 4.36 หมื่นคน ถนนได้รับความเสียหาย 53 กิโลเมตร 

“ปีนี้ถือว่าวิกฤตกว่าทุกปี ปกติบ้านผมจะมีฝนตกหนักน้ำเข้าบ้านปีละครั้ง แต่ปีนี้ ยังไม่ทันไรน้ำเข้าบ้านไปแล้วสามครั้ง ได้วิดน้ำ ได้เช็ดถูกกันจนเหนื่อย ถ้ารัฐแก้ปัญหาได้ก็รีบแก้หน่อย” นายวัชรินทร์ (สงวนนามสกุล) ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด อายุ 42 ปี กล่าว 

GISTDA ระบุว่า จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมมากที่สุดประกอบด้วย ปราจีนบุรี 6 หมื่นไร่ นครราชสีมา 4.07 หมื่นไร่ นครนายก 1.74 หมื่นไร่ ที่เหลือมี ชัยภูมิ, ร้อยเอ็ด, จันทบุรี, กาฬสินธุ์, ตราด, ขอนแก่น และสระแก้ว

“เนื่องจากปีนี้มีปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสาน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนและในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ” นายเศรษฐา กล่าวในการประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมแผนรับมือน้ำท่วม

ขณะเดียวกัน ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังได้แจ้งเตือนประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ รวมถึงอันตรายจากกระแสไฟฟ้าด้วย โดยเตือนให้ประชาชนงดท่องเที่ยวในพื้นที่ถ้ำและน้ำตก

“ช่วงนี้มีฝนตกติดต่อกันต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ให้ประชาชนหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ อาทิ เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องนานกว่า 6 ชั่วโมง ระดับน้ำในแม่น้ำและลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำมีสีขุ่นมากกว่าปกติ มีกิ่งไม้หรือท่อนไม้ไหลมากับกระแสน้ำ มีเสียงดังผิดปกติจากภูเขาหรือลำห้วย อาทิ เสียงหักของต้นไม้ เสียงแตกของหิน สัตว์ป่าแตกตื่น” นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ. ระบุ

กรมชลประทานได้เตือนให้ระวังน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ภาคเหนือด้วย เนื่องจากมีปริมาณฝนสะสมภายใน 24 ชั่วโมงมากกว่าภูมิภาคอื่น คือ อุตรดิตถ์ 210.5 มม. และน่าน 167 มม. อย่างไรก็ตาม นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่าอ่างเก็บน้ำในประเทศไทยยังเหลือพื้นที่ในการรองรับน้ำได้ 

“อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 42,191 ล้าน ลบ.ม. หรือ 55% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 34,146 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 10,139 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41% ของความจุอ่างฯ” 

ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายวุฒิพงษ์ นามบุตร สส. อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน 

“ขอให้บริหารจัดการแบบบูรณาการร่วมกันทั้งจังหวัด กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเขื่อนต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในระดับจังหวัด ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพราะการบริหารน้ำที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีน้ำพอต่อการอุปโภคบริโภคและไม่ท่วม” 

สำหรับการพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้จนถึง 4 สิงหาคม 2567 ประเทศไทยจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ยังคงติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เพื่อรองรับปริมาณฝนที่กำลังจะมาเพิ่มในระยะต่อไป 

ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นสัปดาห์ ได้เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดตราด และจันทบุรี ซึ่ง ปภ. เปิดเผยว่า มีพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนได้รับความเสียหายเกือบ 7 หมื่นไร่ และประชาชนได้รับผลกระทบร่วม 3.5 หมื่นหลังคาเรือน ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีระบุว่า จะได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง