ทำไมไทยถึงต้องหวั่นอิทธิพลจีน
2024.09.16
กรุงเทพฯ
ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนและไทยได้สานความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นเป็นพิเศษ เห็นได้จากโครงการรถไฟความเร็วสูงยักษ์ใหญ่ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อคาบสมุทรอินโดจีนและช่องแคบมะละกา โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและกระตุ้นให้เกิดศักยภาพในการพัฒนาระหว่างภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม โครงการความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ของสองรัฐบาลในการสร้างรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว กลับย้ำเตือนถึงอดีตในคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เส้นทางรถไฟถูกใช้เพื่อผลทางการทหาร จนบางคนกังวลว่า จีนจะใช้เส้นทางรถไฟสายนี้เอื้อประโยชน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ หากเกิดความขัดแย้งกับสหรัฐและชาติพันธมิตรอาเซียนในอนาคตหรือไม่
ปัญหาคืออะไร
ตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลไทยก็เริ่มพัฒนากลยุทธ์และแนวทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ
แม้ครั้งหนึ่ง ไทยถือเป็น “ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้” แต่ทางการไทยก็ได้นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์จำพวกรถถังหรือเรือดำน้ำที่ผลิตจากประเทศจีนเสียเป็นส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันก็บริหารความสมดุลทางอำนาจผ่านทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปด้วย
การก่อรัฐประหารที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เซาะกร่อนสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาที่เชื่อมร้อยกันมายาวนานเกือบสองศตวรรษ และยิ่งผลักให้จุดยืนของประเทศไทยโน้มเอียงไปทางรัฐบาลจีนทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
หลังจากยุคของรัฐบาลทหารที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์์ พรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลพลเรือน ณ ปัจจุบัน ก็เคลื่อนไหวโดยเลือกที่จะอยู่ข้างประเทศจีนเช่นกัน ถือเป็นการย้ำเตือนจุดยืนที่สำคัญและชัดเจนว่าประเทศไทยได้ยุติความสัมพันธ์ประวัติศาสตร์ที่ดำเนินมาเนิ่นนานกับสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม การสานสัมพันธ์กับประเทศจีนก็นำมาซึ่งข้อท้าทายด้านเศรษฐกิจที่หลากหลาย เช่น สินค้าจีน ตั้งแต่ภาคส่วนการผลิตไปจนถึงยานพาหนะอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มบุกตลาดไทยจนส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มขาดดุลการค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ
ในปี 2566 การค้าแบบทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและจีนมีมูลค่า 118.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าอยู่ที่ 28.1 พันล้านดอลลาสหรัฐ เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม จนกระทั่งช่วงกลางปี 2567 มูลค่าการขาดดุลการค้าพุ่งสูงขึ้นเกือบร้อยละ 15 ในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาจากการนำเข้าสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.12
ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย ทว่า สินค้านำเข้าจากจีนได้ครอบครองตลาดภายในประเทศเนื่องจากแอปพลิเคชันออนไลน์ของจีนเอื้อให้คนไทยสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า สินค้านำเข้าจากจีนที่ล้นทะลักเข้าตลาดไทย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของประเทศอย่างร้ายแรง เห็นได้จากโรงงานผลิตสินค้าเกือบ 700 แห่ง ต้องปิดตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 86 ถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการไทยต้องประสบปัญหาการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนที่มีราคาถูกมาก
ข้อกังวลหลักคืออะไร
ในขณะที่ประเทศไทยเห็นความชัดเจนด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คาดหวังว่าจะได้รับจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง แต่ความหวาดกลัวจากอดีตที่ไทยโดนครอบงำจากภาวะสงครามยังคงอยู่ โดยเฉพาะความทรงจำจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
แม้จะมีการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตร พลเรือนชาวเอเชียกว่า 90,000 ราย และนักโทษสงครามจากชาติตะวันตกกว่า 16,000 ราย ต้องเสียชีวิตจากความหิวโหย โรคภัย และการถูกบังคับให้ทำงานหนัก เนื่องจากพวกเขาถูกขู่เข็ญให้เป็นแรงงานก่อสร้าง “ทางรถไฟสายมรณะ” ให้กับทางการญี่ปุ่นในปี 2485 ซึ่งทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมต่อจังหวัดราชบุรีกับประเทศเมียนมา
ประเทศไทยใช้นโยบายอ้อลู่ลม (Bend with the wind) เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกครอบงำเป็นอาณานิคมจากต่างชาติ แต่กลับถูกบังคับให้สวามิภักดิ์ต่อกองทัพญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลงที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแห่งการถูกกดขี่ทารุณกรรมสั้น ๆ แต่อบอวลไปด้วยเจ็บปวด
ในปี 2484 เพียงหนึ่งวันหลังจากการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นโจมตีประเทศไทยในรูปแบบยกพลขึ้นบก กองทัพไทยต้านอยู่ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็ต้องยอมโอนอ่อนตามความต้องการของทางการญี่ปุ่น กระนั้นการที่เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามล่าช้า ประเทศไทยจึงไม่ต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบต่าง ๆ หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม
ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงและการเมือง และอดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์์เตือนว่า ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอยอีกครั้ง
“ในช่วงสงคราม โครงการสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) รวมไปถึงโครงการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่สำคัญในแถบเอเชียจะตกเป็นเป้าสำหรับประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร”
ปณิธานเสริมอีกว่า หากความขัดแย้งปะทุขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน ประเทศไทยอาจจะตกอยู่ในสภาวะที่ถูกบังคับให้เลือกข้างและต้องปกป้องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในประเทศ ดังนั้นรัฐบาลอาจจะเลือกเข้าร่วมกับทางการจีนเพื่อปกป้องโครงการสายแถบและเส้นทาง และท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงและโครงการลงทุนอื่น ๆ ของจีนก็อาจจะถูกบิดจุดประสงค์ดั้งเดิมของมันไปเป็นวัตถุประสงค์ทางการทหาร ส่งผลให้ประเทศไทยถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างถอนตัวไม่ขึ้นในด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ไทยควรจะมีท่าทีอย่างไร
บรรดานักวิชาการเน้นย้ำว่า ประเทศไทยควรจะ “ตระหนักรู้” ว่ารัฐบาลจีนมีแผนว่าด้วยการเคลื่อนกำลังทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร เพื่อออกแบบแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่จะทำให้ประเทศไม่เข้าไปพัวพันกับความขัดแย้ง
รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า ประเทศจีนวางแผนเสริมกำลังพลโดยรวบรวมกำลังทหารจากกัมพูชาและกองกำลังชาติพันธุ์ว้า เครือข่ายธุรกิจสีเทาเกี่ยวกับยาเสพติดของพวกเขาในบริเวณเมียนมาตอนเหนือ
ประเทศไทยและกัมพูชายังคงอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร บริเวณอ่าวไทย ซึ่งเชื่อกันว่ามีก๊าซธรรมชาติฝังอยู่ใต้บาดาลปริมาณมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศอ้างสิทธิในการขีดเส้นล้ำเขตแดนที่ต่างฝ่ายต่างให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนที่เข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ฝ่ายทางการกัมพูชาอ้างว่าพวกเขามีสิทธิในพื้นที่บริเวณเกาะกูด ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งได้
ดุลยภาคจึงชี้ว่า ประเทศไทยควรต้องบริหารการตัดสินใจอย่างระมัดระวังในการเลือกฝั่งอำนาจ
“เราต้องหารือกับจีนมากกว่านี้หากเราไม่มีนโยบายเพื่อรับรองอินเดียหรือสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าเราเลือกอยู่ฝ่ายสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจประเทศอื่น ๆ เราก็ต้องคำนวณความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น”
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย กล่าวในสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เธอจะบริหารกระแสของการค้าให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นระหว่างที่บริหารนโยบายต่างประเทศควบคู่กันไปด้วยอย่างสันติ
“รัฐบาลจะสนับสนุนและปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจ SMEs จากการค้าที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะการค้าในแอปพลิเคชันออนไลน์” เธอกล่าวและสัญญาว่าจะสนับสนุนให้เกิด “นโยบายที่ต่อเนื่องและชัดเจน พร้อมทำงานกับประเทศต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนสันติสุขและความมั่งคั่งให้กับประชาชน”
แพทองธารยังสัญญาอีกว่า รัฐบาลจะดำเนินการกับองค์กรอาชญากรรมออนไลน์ซึ่งดำเนินการโดยผู้ลงทุนชาวจีน ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเมียนมา กัมพูชา และลาว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน