เศรษฐาสั่งคุมเข้มปืนหลังเหตุยิงที่พารากอน
2023.10.04
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่ารัฐบาลพร้อมที่จะเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการควบคุมอาวุธปืน หลังเกิดเหตุเยาวชนอายุ 14 ปี ใช้อาวุธปืนยิงคนจนเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ด้านสำนักงานตำรวจเตรียมแจ้ง 5 ข้อหากับเยาวชนผู้ก่อเหตุ
นายเศรษฐา เปิดเผยกับสื่อมวลชนที่สยามพารากอน ในช่วงเช้าวันพุธนี้ว่า รัฐบาลขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย
“การหาซื้อปืนง่าย อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ได้พูดคุยกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีการซื้อกันออนไลน์ เราก็ได้ทำให้มันรัดกุมขึ้น ในการที่เยาวชนจะสามารถเข้าถึงอาวุธที่อันตรายตรงนี้ได้ อันนี้ก็น้อมรับไปเป็นนโยบายหนึ่งที่ให้รัดกุมขึ้นให้เข้าถึงปืนได้ยากขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว
“ได้มีการต่อสายถึงท่านทูตจีน เพื่อขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็ให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลไทยได้ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีที่สุด ท่านทูตจีนก็มีความสบายใจ เดี๋ยวอีก 1-2 วันผมก็จะได้เข้าไปเยี่ยมคารวะ และเป็นการขอโทษท่านทูตจีนอย่างเป็นทางการอีกที ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวเข้าใจว่า นี่เป็นเหตุการณ์ที่สุดความสามารถจริง ๆ” นายเศรษฐา กล่าวเพิ่มเติม
การเปิดเผยของนายเศรษฐา สืบเนื่องจาก ช่วงเย็นวันอังคารที่ผ่านมา เกิดเหตุเยาวชนอายุ 14 ปี ใช้อาวุธปืนแบลงค์กันดัดแปลง ยิงประชาชนในสยามพารากอน เป็นเหตุให้มีชาวจีน 1 คน และชาวเมียนมา 1 คน เสียชีวิต ขณะที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน ก่อนที่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถเข้าควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง
ด้านคดีความ พล.ต.ต. นครินทร์ สุคนธวิท ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ก่อเหตุยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เนื่องจากยังไม่อยู่ในสภาพจิตใจที่ปกติ
“เจ้าหน้าที่ได้แจ้ง 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่า มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พกอาวุธไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และยิงปืนในที่สาธารณะ จากคำพูดผู้ก่อเหตุ ยังให้การวกวน ไม่เหมือนคนปกติ เชื่อว่าจะมีอาการทางจิต เราเลยส่งตัวให้ทีมจิตแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจ ก็เลยยืนยันว่ายังไม่พร้อมที่จะต่อสู้คดี การสอบปากคำก็เลยยังต้องชะลอไว้ก่อน” พล.ต.ต. นครินทร์ กล่าว
“เบื้องต้น อาวุธปืนเขาสั่งซื้อเป็นอาวุธปืนดัดแปลง ไม่ใช่อาวุธปืนปกติ เป็นปืนแบลงค์กัน ยิงมีแต่เสียง มีการดัดแปลงให้ใช้ได้ ถ้าพยานหลักฐานถึงที่เกี่ยวข้องว่า ผู้ปกครองได้กระทำความผิด ก็จะได้กล่าวหาดำเนินคดีต่อไป เป็นเรื่องของกฎหมาย อายุกว่า 12 ไม่เกิน 15 แต่ว่า กระบวนการของตำรวจเราก็จะมีความเห็นสองอย่างคือ ฟ้องกับไม่ฟ้อง แต่ขณะนี้พยานหลักฐานเราเพียงพอ ส่วนการให้ประกันหรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล” พล.ต.ต. นครินทร์ กล่าวเพิ่มเติม
ต่อกรณีที่เกิดขึ้น สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กเพจว่า จะได้ให้เจ้าหน้าที่กงสุลไปร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ และเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน นายต้าน ทุย รองเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูตเมียนมารู้สึกไม่สบายใจ และขณะนี้กำลังประสานครอบครัวในการดำเนินการกับร่างของผู้เสียชีวิต
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจกระเป๋าคนเข้าห้าง ที่หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ วันที่ 4 ตุลาคม 2566 (เอพี)
ปัญหาการครอบครองปืนในประเทศไทย
รายงานของ Small Arms Survey (SAS) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบา เปิดเผยในปี 2561 ว่าประเทศไทยมีปืนประมาณ 10.3 ล้านกระบอก หรือ 15 กระบอกต่อประชากร 1 แสนคน มากที่สุดเป็นอันดับ 48 ของโลก แต่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งยังระบุอีกว่า ในจำนวน 10.3 ล้านกระบอก มีเพียง 6.2 ล้านกระบอก เท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย
นอกจากนี้ผู้ที่สามารถครอบครองปืนถูกกฎหมายในประเทศไทย ต้องเป็นคนที่อายุเกิน 20 ปี ไม่พิการหรือทุพพลภาพ ไม่ใช่บุคคลไร้ความสามารถ วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน และไม่เคยต้องโทษจำคุกคดีอาญา โดยการขออนุญาตซื้อปืนต้องมีเอกสารรับรองการประกอบอาชีพ เอกสารยืนยันทรัพย์สิน ได้รับการรับรองจากผู้ใหญ่บ้าน หรือข้าราชการระดับ 6 ขึ้นไป
ผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 72 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับ 2,000-20,000 บาท โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระบุว่า ช่วงปี 2559-2562 มีคดีที่เกิดจากอาวุธปืนมีทะเบียน 25,034 คดี และเกิดจากอาวุธปืนไม่มีทะเบียนมากถึง 91,376 คดี
อย่างไรก็ตาม กรณีของเยาวชนอายุ 14 ปี ที่ก่อเหตุนั้น มีการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าใช้ “แบลงค์กัน” ซึ่งตามกฎหมายไทยยังถูกตีความว่า เป็นเพียงสิ่งเทียมอาวุธ การครอบครองจึงไม่ต้องขออนุญาต ตามมาตรา 4(4) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และไม่ถือเป็นอาวุธปืนตามมาตรา 4(1) โดยอ้างอิงจาก สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ระบุว่า ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์เคยยกฟ้องโจทก์ คดีหมายเลขแดงที่ อ 401/2563 เกี่ยวกับการกระทำผิดฐานมีปืนแบลงค์กันไว้โนครอบครอง
ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยให้ความเห็นตามเรื่องเสร็จที่ 846/2551 เกี่ยวกับลักษณะของบีบีกันว่า “มิได้เป็นอาวุธปืน” ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากสภาพโครงสร้างของ BB GUN ที่ผลิตจากพลาสติกและเหล็กธรรมดาบางส่วน ไม่มีความแข็งแรงทนทานเพียงพอที่จะส่งเครื่องกระสุนปืนได้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดคุยกับผู้สื่อข่าวที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ วันที่ 4 ตุลาคม 2566 (เอเอฟพี)
ครอบครัวและโรงเรียนช่วยป้องกันปัญหาได้
โฆษกศาลยุติธรรม นายสรวิศ ลิมปรังษี ระบุว่า พนักงานสอบสวนต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนส่งศาลเยาวชนฯ ภายใน 24 ชั่วโมง และหากเป็นเด็กหรือเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พ่อแม่ก็ต้องรับผิดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เว้นแต่พ่อแม่จะพิสูจน์ข้อยกเว้นตามกฎหมายได้ว่า ตนเองไม่ได้มีส่วนผิด
ด้าน น.ส. นวพร สุนันท์ลิกานน์ นักวิชาการอิสระด้านการศึกษาและสิทธิเด็ก ชี้ว่า ครอบครัวและโรงเรียนมีส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นได้
“ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งรอบตัวของเด็กทั้งสิ้น ทั้งครอบครัว การศึกษา สังคมแวดล้อมของเด็ก รวมถึงวัฒนธรรมย่อยที่เด็กสนใจ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหาจิตเวชได้ทั้งสิ้น การเข้าไปรับรู้ถึงสภาวะจิตใจของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะปัจจุบันนี่สาเหตุของการเกิดปัญหาจิตเวชมันหลากหลายมาก” น.ส. นวพร กล่าว
“ปัญหาสุขภาพเชิงจิตเวชเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความรู้ตั้งแต่เด็ก ต้องทำให้ข้อมูลเป็นสาธารณะ และที่สำคัญต้องทำให้เด็กที่ประสบปัญหานี้รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าอาย ในกรณีดังกล่าว ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญมาก ๆ ที่จะสร้างความเข้าใจ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่เข้าใจว่าเขาเป็นใคร แต่เข้าใจว่าเขากำลังคิดอะไร ต้องการทำอะไร เผื่อที่จะเติมเต็มในสิ่งที่เขาต้องการให้ได้ ก่อนที่เขาจะออกไปหาสิ่งที่ต้องการด้วยตัวเอง” น.ส. นวพร กล่าวเพิ่มเติม