เมื่อเสื้อมือสองอเมริกันบุกปาตานี อ่านวัฒนธรรมปัดราวแห่งชายแดนใต้
ยะลา และ ปัตตานี

“เสื้อมือสองจากอเมริกา งานยูเอส มันใส่สบาย คุณภาพดี แล้วก็หาง่ายในตลาดแถวบ้านเรา ความนิยมมันมาจากวัฒนธรรมดนตรี หนัง แล้วก็ประวัติศาสตร์อเมริกัน เสื้อมือสองสำหรับคนซื้อก็ราคาไม่แพง สำหรับคนขายก็ขายต่อได้ราคา” ปิยะ กล่าว
ปิยะ ดือราแม อายุ 43 ปี เลี้ยงชีพจากการขายเสื้อผ้ามือสอง ใช้เวลาส่วนหนึ่งของชีวิตในการตามล่าของหายากที่ตลาดต่าง ๆ เขาเล่าว่า ตลาดเสื้อผ้ามือสองผูกพันกับชีวิตของเขาตั้งแต่เล็ก เพราะครอบครัวของเขาพามาจับจ่ายในตลาดเสื้อผ้ามือสองตั้งแต่จำความได้
“ตลาดมะพร้าว ยะลาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นที่ซื้อของสำหรับเรามาตั้งแต่จำความได้ สำหรับเด็กในเมืองพวกเขาอาจจะซื้อเสื้อผ้ากันในห้าง แต่สำหรับพวกเรา พ่อ แม่ พามาเลือกซื้อเสื้อมือสองที่ตลาดตั้งแต่เด็ก มันเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรมของบ้านเรา” ปิยะ ย้อนความหลัง
เว็บไซต์ ThredUp ตลาดสินค้ามือสองออนไลน์สัญชาติอเมริกัน ประเมินว่า ตลาดแฟชั่นมือสองของโลกระหว่างปี 2567-2570 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 12% โดยในปี 2568 ตลาดเสื้อผ้ามือสองคิดเป็น 10% ของตลาดเสื้อผ้าทั้งหมด มีมูลค่าราว 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2570 โดยเอเชียจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดครอบคลุม 41% ของมูลค่าทั้งโลก
“คนขายเสื้อผ้ามือสองเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะหลังยุคโควิด-19 ร้านขายออนไลน์ก็เยอะมากจริง ๆ คนขายส่วนใหญ่ก็เป็นคนบ้านเรา คนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ เราเองก็เริ่มจากความชื่นชอบส่วนตัว เริ่มขายเสื้อฮาวายหาเงินรักษาน้องชายที่ป่วยโรคหัวใจ จนตอนนี้ก็กลายเป็นพ่อค้า” อาดินันท์ มะติเยาะ กล่าว
สำหรับประเทศไทย Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2566 ตลาดแฟชั่นมือสองมีมูลค่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 20% จากปีก่อนหน้า และประมาณการว่า จะขยายตัวขึ้นอีกในช่วงปี 2567-2570 ประมาณ 15% อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครศึกษาตลาดมือสองของชายแดนภาคใต้อย่างจำเพาะเจาะจง
อาดินันท์ อายุ 30 ปี เคยต้องจากบ้านไปเป็นแรงงานในร้านต้มยำกุ้ง ที่มาเลเซีย เขาตระเวนไปรับจ้างในหลายรัฐของมาเลเซีย เรียนรู้การ “สับราว” หรือ คัดเสื้อผ้าตามตลาดมือสอง ทั้งในชายแดนภาคใต้ และประเทศเพื่อนบ้าน
“ตอนทำงานร้านอาหาร พวกแรงงานชอบใส่เสื้อยืด เพราะมันใส่สบาย สมัยนั้น เราชอบเก็บเสื้อแทนเงิน พวกลายธงชาติอเมริกา หรือ Harley-Davidson ถ้าลายมันได้ ผ้ามันดี ตอนกลับไทยเอามาขายก็ได้ราคาแพงมาก ๆ” อาดินันท์ เล่าความหลัง

อาดินันท์ สะสมความรู้ในการคัดเลือกเสื้อผ้ามือสองจากการตระเวนไปตามตลาดต่าง ๆ เขาตามล่า “ของหลุด” (เสื้อดี แต่กลับขายไม่แพง เพราะ พ่อค้า-แม่ค้าไม่รู้ราคาตลาด) จากตลาดแห่งหนึ่ง ไปขายทำกำไรในตลาดอีกแห่ง เมื่อโลกหมุนเปลี่ยนเวียนไป เขาขยับจากการขาย “มือต่อมือ” มาสู่การขายออนไลน์
ในแต่ละพื้นที่มีตลาดให้ล่าของประจำถิ่น ยะลามีตลาดมะพร้าว, นราธิวาสมีตลาดนัด ปตท. ขณะที่ปัตตานี ซึ่งคนท้องถิ่นขนานนามว่า “เมืองแฟชั่นแห่งชายแดนใต้” มีทั้งตลาดรูสะมิแล ตลาดยะหริ่ง หรือตลาดขยะหน้ามัสยิดกลาง ตลาดเหล่านี้มีเสื้อผ้าตั้งแต่ราคาแค่ 5 บาท ไปจนถึงหลายหมื่นบาท
ถูกทิ้งจากอเมริกา กลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่ชายแดนใต้
“เสื้อผ้าจากอเมริกาถูกส่งเป็นคาร์โกลงเรือมาที่มาเลเซีย มีคนไปเปิดตู้เอากระสอบมาขายในไทย หรือขายตามตลาด บางคนเปิดกระสอบคัดมาขาย บางคนเปิดกระสอบเอาไปใส่ บางคนซื้อกระสอบส่งไปบริจาค ถ้าเลือกของเป็น ขยันคัดก็จะได้ของดี เสื้อมือสองมันราคาถูก ไม่ตกยุค ใส่ได้ตลอด ใส่กรีดยาง ทำสวน ทำงานออฟฟิศ บางคนก็ใส่เที่ยว” ซอลีฮะห์ อาเย๊าะแซ เล่าเส้นทางของเสื้อมือสอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชีวิตคนพิการในชายแดนใต้อันพิกล
เรื่องราวของข้าวยำ จากเมนูสนามรบ สู่ร้านอาหารดาวมิชลิน
หญิงมุสลิมผันตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานประมงปัตตานี
ซอลีฮะห์ คือ ผู้มีประสบการณ์โชกโชนในธุรกิจเสื้อผ้า 20 ปีที่แล้วเธอเริ่มอาชีพแม่ค้าเสื้อผ้าที่ตลาดตะวันนา และจตุจักร กรุงเทพฯ ในเวลานั้นเธอขายเสื้อผ้ามือหนึ่ง หลังจากตัดสินใจย้ายกลับบ้าน มาเปิดร้านที่ตลาดมะพร้าว จึงได้เปลี่ยนมาขายเสื้อมือสอง
“คนชายแดนใต้ นิยมเสื้อผ้ามือสอง เพราะเป็นสินค้าที่มียี่ห้อ แต่ราคาถูก เราเลยเปลี่ยนมาขายของมือสอง เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ความต้องการของคนเดินตลาดที่นี่ก็ชอบเสื้อผ้ามือสองมากกว่า เราเลยต้องเปลี่ยน” ซอลีฮะห์ กล่าว
ซอลีฮะห์ ระบุว่า กระสอบของมือสองจากประเทศมาเลเซียมีราคาเริ่มต้นกระสอบละ 1,000 บาท มีสินค้าหลายประเภททั้งเสื้อยืด กางเกง ชุดชั้นใน เสื้อผ้าเด็ก กระเป๋า รองเท้า มีกระทั่งผ้าห่ม เธอเอาของมาแยกขายในราคาเริ่มต้นแค่ตัวละ 5 บาท
“ตลาดมะพร้าว คือ สวรรค์ของนักช็อป เพราะมีของหลายแบบ วันที่ลูกค้าเยอะที่สุดคือวันเสาร์ จะมีลูกค้าทั้งคนท้องถิ่น คนมาเลเซีย ฝรั่ง อินเดีย ปากีสถาน ในอดีตคือ เราเปิดกระสอบ คัดเสื้อผ้า แขวนขายในตลาด ทุกวันนี้มีการไลฟ์ขาย คัดไปขายใน Facebook หรือ Instagram เราได้รายได้เดือนละประมาณแสนกว่าบาทก็พออยู่ได้” ซอลีฮะห์ ให้ข้อมูล
ตลาดเสื้อผ้ามือสองคึกคักขึ้นเรื่อย ๆ จนหลายครั้งสร้างความฮือฮาด้วยราคาที่ถีบสูงขึ้นเกินกว่าเสื้อใหม่ เมื่อ ส.ค. 2567 เสื้อยืดคอกลม Marvel Comics ลาย Spider-man, Daredevil และ Silver Surfer ที่ผลิตในเม็กซิโกปี 2540 ถูกประมูลไปที่ราคา 220,000 บาท

สำหรับ ปิยะ แนวทางการทำงานของเขาคือ การสะสมเสื้อมือสองจากตลาดต่าง ๆ บางครั้งตามหาเสื้อยืดตามที่ลูกค้าจากทั้งในประเทศและต่างประเทศถามหา โดยเฉพาะลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นที่คลั่งไคล้เสื้อผ้า “Made in USA”
“ลูกค้าต่างชาติชอบงานยูเอส โดยเฉพาะพวกผ้าบาง หรือเสื้อวงดนตรี ปีที่แล้ว เราซื้อเสื้อจากตลาดมะพร้าว ยะลามาตัวหนึ่ง เป็นเสื้อจากยุค 70s ซื้อมา 80 บาท ขายไป 22,000 บาท มันขายได้ราคาจริง ๆ เพราะเสื้อผ้าถ้าอยู่ถูกที่ ขายถูกคนมันก็แพง” ปิยะ เล่าด้วยรอยยิ้ม
อาดินันท์ ให้ข้อมูลว่า เสื้อผ้ามือสองที่ได้รับความนิยม และมีราคาแพง สามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภท ทั้งเสื้อทหาร, เสื้อนักโทษ, เสื้อแรงงาน, เสื้อหรือกางเกงยีนส์, เสื้อฟุตบอล, เสื้อยืดแบบต่าง ๆ, เสื้อฮาวาย และเสื้อสกรีนลาย
อยากรวยต้องศึกษา สั่งสมประสบการณ์
“งานที่เรียกว่า Fan Made หรือ Parking Lot Bootleg ทำให้การบอกว่า เสื้อตัวไหนแท้ ตัวไหนเทียมทำได้ยาก เพราะถ้าเรียกว่าปลอมก็จะรู้สึกว่า มันเป็นของไม่ดี แต่งานแบบนี้ มันเป็นเสื้อที่แฟนเพลงออกแบบเองขึ้นมาขายแบบเถื่อน ๆ หน้างานคอนเสิร์ต ไม่ซ้ำใครง่าย ๆ ซึ่งบางตัวราคาเป็นแสน ถ้านับว่ามันเป็นของปลอม มันก็เป็นของปลอมที่แพงกว่าของแท้ ดังนั้นเราต้องเลือกให้เป็น” ปิยะ บรรยาย
ปิยะ เชื่อว่าความรู้คือสิ่งสำคัญสำหรับการซื้อ-ขายเสื้อมือสอง เพราะวงการนี้ขับเคลื่อนด้วยความรู้ ความรู้ที่ต้องสั่งสมด้วยการศึกษา ค้นคว้า และประสบการณ์ คนที่รู้มากกว่า รู้จริงกว่า รู้ลึกกว่า จะได้เปรียบในการเลือกของ และตั้งราคาขาย

เสื้ออีกประเภทที่ขายได้ราคาแพง คือ เสื้อยืดวงดนตรี ปิยะอธิบายว่า โดยปกติเสื้อลายวงดนตรีแขนยาวจะราคาแพงกว่าแขนสั้น คนนิยมเสื้อของวงดัง ๆ เช่น The Rolling Stones, Nirvana หรือ Snoop Dogg ยิ่งถ้าเป็นเสื้อปีเก่า ผลิตน้อย ลายสวย ขนาดพอดี ยิ่งขายได้ราคา ซึ่งเสื้อวงดนตรีมีตั้งแต่ราคาหลัก 100-150,000 บาท
“ปัจจุบัน คนขายเสื้อผ้าออนไลน์มีอยู่ในทุกหมู่บ้าน แต่เสื้อผ้าดี ๆ สวย ๆ ลึก ๆ (อายุมาก หาเจอยาก) มีจำนวนเท่าเดิม ของถูกเปลี่ยนมือไปตามความชอบ สมัยก่อนเราซื้อของมาลองขาย ขายไม่ออก มันกลายเป็นประสบการณ์ เป็นภูมิคุ้มกันการขาดทุนให้กับเรา ทุกวันนี้ต้องศึกษาข้อมูลดูว่า ของแบบไหนจะขายได้ แบบไหนคนอยากสะสม แบบไหนมีราคา” อาดินันท์ อธิบายตลาดอย่างสรุป
ความนิยมของเสื้อผ้ามือสองในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ทำให้จำนวนร้านขายปลีก และโกดังเสื้อที่ขายแบบยกกระสอบ ในตัวเมืองยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เกิดขึ้นรวมกันกว่า 50 ร้าน ยังไม่นับรวมร้านที่ตระเวนไปเร่ขายตามตลาดนัดต่าง ๆ และร้านค้าออนไลน์
ความนิยมเสื้อมือสองที่เพิ่มขึ้น นอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังนำความท้าทาย และความยากมาหาคนขาย เพราะเมื่ออินเทอร์เน็ตเชื่อมคนจากทั้งโลกให้ใกล้กัน ของก็เริ่มหายากขึ้น คู่แข่งก็เพิ่มมากขึ้น
“เริ่มมีคนญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาตามเก็บเสื้อด้วยตัวเอง เมื่อรู้ว่าเสื้อมือสองเริ่มมีราคา ประเทศตัวกลางอย่างปากีสถาน หรือมาเลเซียที่รับเสื้อมาจากอเมริกา และยุโรป ก็เริ่มคัดเกรดมากขึ้น คนขายที่รอเสื้อดี ๆ ซึ่งหลงมาให้ซื้อราคาถูก ๆ แล้วเอาไปขายทำกำไรก็ยากขึ้น สำหรับเรา ตอนนี้เสื้อมือสองไม่ใช่แค่ความชอบแล้ว เพราะมันหล่อเลี้ยงชีวิตครอบครัว เป็นอนาคตการศึกษาของลูก ๆ เราเลยต้องรีบปรับตัว” อาดินันท์ ทิ้งท้าย