เศรษฐา เร่งแผนบริหารจัดการน้ำ 3 ปี หวังล้อมคอกท่วม-แล้ง
2024.08.05
กรุงเทพฯ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำที่กรมชลประทานในวันจันทร์นี้ หลังเกิดน้ำท่วม 1.47 แสนไร่ ใน 15 จังหวัด ทั่วประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) โดยแสดงความมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 พร้อมสั่งการให้จัดทำแผนเร่งด่วนแก้ปัญหาน้ำภายใน 3 ปี
“ปัญหาน้ำเป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ได้มอบหมายให้หน่วยงานเรื่องน้ำ เร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำอย่างยั่งยืน” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา ระบุว่า แผนดังกล่าวจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการที่มีอยู่เดิม ก่อนพิจารณาก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบและการกระจายน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งรัดการยกร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนสิงหาคมนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ นายเศรษฐา ได้มอบหมายให้ สทนช. ติดตามและกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด
ด้าน ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แผน 3 ปีด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญนี้จะใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท โดยจะมีทั้งโครงการใหม่ การปรับปรุงโครงการเดิม และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำ
“ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การถ่ายโอนอำนาจของส่วนท้องถิ่น ซึ่งยังขาดงบประมาณและบุคลากรที่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการขอใช้พื้นที่รัฐ ที่จะต้องมีกรณียกเว้นพิเศษเพื่อให้แผน 3 ปี ไปสู่เป้าหมาย” นายธรรมนัส ระบุ
นายธรรมนัส ยังกล่าวด้วยว่า แผน 3 ปี ดังกล่าวไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องน้ำท่วม แต่ยังครอบคลุมถึงการบริหารจัดการน้ำแบบทุกไตรมาส ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยคาดว่าจะช่วยลดขั้นตอนระบบราชการลง และทำให้การใช้งบประมาณตรงกับจุดที่ต้องการแก้ไขปัญหามากขึ้น
นอกจากนี้ GISTDA เปิดภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่น้ำท่วม 147,512 ไร่ นาข้าวเสียหาย 54,706 ไร่ ในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ ตากมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา และนครนายก
ขณะที่กรมชลประทานได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมสั่งการให้พร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เพื่อรองรับปริมาณฝนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรและเครื่องมือ เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า คาดว่าจะมีพื้นที่บางแห่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากที่ไทยเข้าสู่ภาวะลานีญา และมีพายุพัดผ่านเป็นบางช่วง
“จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะปกติได้เปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมไปจนถึงกันยายน 2567 และมีแนวโน้มต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายไปทั่วประเทศ” นายชูชาติ ระบุ
ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดตราด และจันทบุรี ซึ่ง ปภ. เปิดเผยว่า มีพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนได้รับความเสียหายเกือบ 7 หมื่นไร่ และประชาชนได้รับผลกระทบร่วม 3.5 หมื่นหลังคาเรือน
กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ในวันที่ 6-7 สิงหาคมนี้ ฝนจะตกกระจายในหลายพื้นที่ และจะมีปริมาณลดน้อยลงในวันที่ 8-10 สิงหาคม และกลับมาเพิ่มขึ้นในวันที่ 11-12 สิงหาคม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เฝ้าระวังปริมาณน้ำ และลมแรง
สำหรับกรณีน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรได้สรุปผลกระทบไว้ว่า มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 65 จังหวัด ผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ราษฎรเดือดร้อน 4.03 ล้านครัวเรือน 13.42 ล้านคน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ และถนนเสียหาย 1.39 หมื่นสาย