ครม. อนุมัติช่วยน้ำท่วม 3.04 พันล้านบาท
2024.09.17
กรุงเทพฯ
น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้อนุมัติเงิน 3,045 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยสะสมแล้วอย่างน้อย 47 คน
“ขออนุมัติงบกลางเป็นจำนวน 3,045 ล้านบาท โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยเร่งขั้นตอน ดำเนินการตรวจสอบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และลดขั้นตอนเอกสารเพื่อให้เข้าถึงประชาชนโดยเร็ว สั่งการให้ส่วนราชการเร่งพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มเติม จากกรณีปกติที่ดำเนินกันอยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนัดแรกที่ทำเนียบรัฐบาล
น.ส. แพทองธาร เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) แล้ว โดยจะมีการประชุมนัดแรกในวันพุธที่ 18 กันยายนนี้
“ถามว่าจะได้คุยกับประเทศต้นน้ำ กระทรวงการต่างประเทศได้พูดคุยแล้ว มีการคุยกับประเทศต่าง ๆ เช่น เมียนมา มีการคุยกันและหาทางออกร่วมกัน ในลุ่มน้ำโขง เราก็ต้องมีการคุยกันทั้งหมด เรามีการนัดแนะอยู่แล้วว่าจะได้คุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาที่เราประสบมาอย่างยาวนาน เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องอย่างยาวนาน ไม่ละเลยเรื่องนี้แน่นอน” นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม
ในวันเดียวกัน กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้ประชุมครั้งที่ 1 โดยสรุปว่า ปัจจุบัน ทั่วประเทศมี 13 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยประกอบด้วย เชียงราย สุโขทัย พิษณุโลก หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา พังงา ชุมพร ภูเก็ต และสตูล รวม 45 อำเภอ 192 ตำบล 934 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,831 ครัวเรือน
“บ้านหลังนึงถ้าท่านได้รับความเสียหายกว่า 70% ก็จะได้รับเงินเยียวยาถึง 2.3 แสนบาท เป็นอย่างน้อย จะมีเรื่องบาดเจ็บ การเยียวยาผู้เสียชีวิตอีกเป็นต้น จะมีการวิเคราะห์ปัญหาเป็นรายชั่วโมง และทำงานเชิงรุกด้วย” นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แถลงต่อสื่อมวลชน
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า หลังจากนี้ จะมีการแจ้งเตือนอุทกภัยกับประชาชนผ่านระบบข้อความสั้น (SMS) โดยสำหรับจังหวัดที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยหน่วยงานราชการกำลังเร่งฟื้นฟูพื้นที่
“จะดำเนินการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 12- 24 ชั่วโมง และการแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉิน 6 -12 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนภัย และสามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างทันท่วงทีและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น โดยจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงภัย และส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชน” นายไชยวัฒน์ กล่าว
อธิบดี ปภ. ระบุว่า ปัจจุบัน พื้นที่ภาคเหนือระดับน้ำได้ลดระดับลงแล้ว เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปช่วยฟื้นฟู และทำความสะอาดบ้านเรือน และถนนหนทาง เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
“ในภาคอีสานไปปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เป็นการล่วงหน้าแล้ว โดยได้กระจายกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลสาธารณภัยรองรับน้ำโขงที่ล้นตลิ่งและระบายน้ำออกจากพื้นที่ วางกระสอบทรายกั้นน้ำ รวมถึงอพยพประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่เสี่ยงภัยที่คาดว่าจะเกิดสถานการณ์ขึ้น” นายไชยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
ในภาพรวมปี 2567 ปภ. ได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม-16 กันยายน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 28 จังหวัด 133 อำเภอ 608 ตำบล 3,219 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 133,082 ครัวเรือน
ด้าน นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า จนถึงการสรุปล่าสุด มีผู้เสียชีวิตสะสมจากอุทกภัยแล้วอย่างน้อย 47 ราย บาดเจ็บ 390 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 55 แห่ง โดยพบว่าสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนด้วย
“ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ออกปฏิบัติการควบคู่กับการดูแลด้านสุขภาพกายทำการประเมินและให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ทั้งผู้ประสบภัย ญาติผู้สูญเสีย และบาดเจ็บ รวม 21,680 คน พบมีภาวะเครียดสูง 521 คน เสี่ยงซึมเศร้า 73 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 13 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการดูแลและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องแล้ว” นพ. โอภาส กล่าว
ต่อประเด็นความต้องการขอประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นายภาคภูมิ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี พนักงานบริษัทในพื้นที่เชียงราย เปิดเผยว่า การแจ้งเตือนจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันที่พักพิงก็จำเป็นมากในสถานการณ์วิกฤต
“ตอนเกิดเหตุ ที่แม่สายไม่มีสัญญาณเตือนภัย ไม่มีประกาศอพยพ ไม่ได้ยินเสียงตามสาย ที่อพยพออกมาทันเพราะเพื่อนคำนวณปริมาณน้ำแล้วแจ้งเตือนในไลน์ สัญญาณเตือนภัยมาดังตอนเช้า 8-9 โมง ซึ่งน้ำทะลักเข้ามาแล้ว แบบครึ่งล้อรถยนต์แล้ว คิดว่า ควรมีแจ้งเตือน สถานการณ์ทุกชั่วโมง ไม่ใช่ต้องให้ชุมชนทำเอง และที่สำคัญ ถ้าผมไม่มีบ้านแม่ให้พักพิงก็ไม่รู้อพยพจากบ้านที่น้ำท่วมจะไปอยู่ที่ไหน” นายภาคภูมิ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
เช่นเดียวกับนักวิชาการที่เห็นว่าการปรับปรุงระบบเตือนภัยและการสื่อสาร เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งจัดการทันที
"รัฐต้องมุ่งปรับปรุงระบบเตือนภัยและการสื่อสาร การวางแผนจัดการพื้นที่เสี่ยง นั่นหมายความว่าหลังจากนี้ หน่วยงานในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ่อย ๆ ต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยี การจัดสรรงบประมาณสำหรับเหตุการณ์เฉพาะหน้าแบบนี้ให้มากขึ้น" ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ผมคิดว่าหลังจากนี้ความท้าทายสำคัญคือ การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน เพื่อให้การจัดการน้ำท่วมมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและตัวกลางที่ทำงานเป็น ซึ่งจะเป็นองค์กรท้องถิ่น หรือจากส่วนกลางตั้งขึ้นก็ได้” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม