4 ปี วันเฉลิมถูกอุ้มหาย ญาติยังเรียกร้องความเป็นธรรม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.06.04
กรุงเทพฯ
4 ปี วันเฉลิมถูกอุ้มหาย ญาติยังเรียกร้องความเป็นธรรม สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงนายกเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย ทวงถามปัญหา 9 กรณีอุ้มหายหลังรัฐประหารปี 57 วันที่ 4 มิถุนายน 2567
สุภัทตรา โพล้งกล่ำ-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้เป็นวันที่ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ นักกิจกรรมการเมืองชาวไทย ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ลักพาตัว และหายสาบสูญที่ประเทศกัมพูชาเป็นเวลาครบรอบ 4 ปี ครอบครัวของเขาจึงเดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อรัฐบาลเพื่อให้สืบสวนกรณีที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลไม่เพิกเฉยต่อกรณีการหายตัวไปของผู้ลี้ภัยทางการเมืองรายอื่น ๆ 

“เราร้องทุกข์มาเป็นเวลา 4 ปี แล้วก็ยังไม่คืบหน้าอะไร เจ้าหน้าที่รัฐก็ทำให้เห็นว่า เขาไม่สนใจและใส่ใจประเด็นนี้อย่างจริงจัง ข้อเท็จจริง หลักฐาน เราให้รัฐไปหมดแล้ว ก็คงไม่มีอะไรหลงเหลือแล้ว เหลือแต่รัฐบาลเศรษฐาจะทำอะไร” น.ส. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม กล่าวระหว่างการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม

น.ส. สิตานัน ในฐานะตัวแทนครอบครัว และนักกิจกรรม ได้เดินทางไปยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลตรวจสอบข้อเท็จจริง และเยียวยากรณีที่นายวันเฉลิม และผู้ลี้ภัยการเมืองคนอื่น ๆ ถูกทำให้สูญหาย ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ใกล้ทำเนียบรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย 

ด้าน นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส. สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และรองประธานวิปรัฐบาล ในฐานะผู้แทนรับหนังสือร้องเรียน ระบุว่า จะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมพรรค

“เรื่องกระบวนการประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนมายาวนาน แล้วเรื่องสิทธิมนุษยชน เราก็ต่อสู้กันมายาวนาน ผมคิดว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เรื่องที่เรียกร้องมาเราได้ติดตามอยู่ เราจะหาโอกาสไปแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ วันนี้ พรรคเพื่อไทยประชุมพรรคอยู่พอดีก็จะได้นำเข้าไปหารือในที่ประชุมพรรค” นายครูมานิตย์ กล่าว

ขณะที่ถูกบังคับสูญหาย นายวันเฉลิม ชาวอุบลราชธานี อายุ 37 ปี เคยทำงานด้านการรณรงค์ให้กับพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในปี 2557 และคดีความผิดตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งหลบหนีการจับกุมของรัฐบาลไทยไปอยู่ในประเทศกัมพูชา 

ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มบุคคลติดอาวุธ จากหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญ เมื่อเวลาประมาณ 16.45 น. ของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 การลักพาตัวนายวันเฉลิม ถูกบันทึกไว้ด้วยภาพจากกล้องวงจรปิด และเหตุเกิดขณะที่ นายวันเฉลิมกำลังพูดโทรศัพท์กับ พี่สาวของตนเอง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์-วิจารณ์อย่างหนักบนอินเทอร์เน็ต โดยมี #saveวันเฉลิม บนทวิตเตอร์(ปัจจุบันคือ เอ็กซ์) ที่มีผู้เขียนข้อความด้วย แฮชแท็กดังกล่าว ถึงกว่า 5 แสนครั้ง ในขณะนั้น

“ความเย็นชา เมินเฉยของรัฐบาลไทยต่อเรื่องวันเฉลิมนี้สะท้อนอะไรบ้างในมุมคนที่ทำงานสิทธิมนุษยชน มันทำให้เห็นชัดว่า ญาติ หรือผู้ติดตามที่จะเรียกร้องขอความเป็นธรรม ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ทั้งทางกฎหมายและการรณรงค์ให้รัฐบาลรับผิดชอบทางการเมือง รัฐบาลเพิกเฉยและทำเหมือนกับว่า ไม่ใช่นักกิจกรรมที่เคยสนับสนุนพรรคมาก่อน มันน่าผิดหวัง” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์

หลังเกิดเหตุ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลานั้น เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การหายตัวของนายวันเฉลิมไม่เกี่ยวข้องกับทางการไทย ขณะเดียวกัน นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้ตอบกระทู้สดซึ่งถูก ส.ส. ถามเกี่ยวกับกรณีนั้นว่า รัฐบาลไทยไม่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายวันเฉลิม

ครอบครัว และนักสิทธิมนุษยชนพยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรม และเร่งรัฐบาลให้รัฐบาลของไทยและกัมพูชาสืบความข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีความคืบหน้า 

“ก่อนการบังคับวันเฉลิมให้สูญหาย มีการติดตามวันเฉลิมตามหมายจับอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่รัฐไทยอยู่ วันเฉลิมอยู่ในกัมพูชาอย่างเปิดเผยไม่ได้ปกปิด ถ้ารัฐบาลสามารถติดตามได้ วันเฉลิมก็จะไม่ต้องสูญหาย รัฐไม่ควรเพิกเฉยกับการหายไปของผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ ควรเร่งสืบสวนหาความจริง” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว

หลังการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมรวมข้อมูลระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ที่ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากถูกไล่ล่า 

มีผู้ลี้ภัยไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านต้องหายตัวไปแล้วอย่างน้อย 9 คน ในช่วงรัฐบาล คสช. คือ 1. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) 4. นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 5. นายสยาม ธีรวุฒิ 6. นายกฤษณะ ทัพไทย 7. นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ)  8. นายไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) โดยสองรายหลังสุด หายตัวไปพร้อมกับนายสุรชัย และถูกพบเป็นศพลอยมาติดตลิ่งแม่น้ำโขง เขตจังหวัดนครพนม ในสภาพถูกผ่าท้องและยัดด้วยแท่งปูน  และ 9. นายวันเฉลิม

ต่อกรณีที่เกิดกับผู้ลี้ภัย ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไทยควรเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ หลังจากที่ภาพลักษณ์ถูกทำลายไปในสมัยรัฐบาล คสช. 

“คสช. ทิ้งมรดกเลวร้ายไว้มากมาย โดยเฉพาะการสืบทอดอำนาจทางการเมือง ค่านิยมอำนาจนิยม และวาทกรรมเกลียดชัง ซึ่งจะสร้างปัญหาให้สังคมไทยไปอีกนาน แม้ไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตย แต่เครื่องมือและอุดมการณ์กำจัดศัตรูทางการเมืองของเผด็จการยังคงอยู่ แต่เชื่อว่าคนไทยเห็นคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนชัดขึ้นแล้ว ผู้คนก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องมากขึ้น รัฐบาลควรนำพาประเทศกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าว

สหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 77 คน การหายตัวของ บิลลี่-นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี ในปี 2557, นายสุรชัย แซ่ด่าน แกนนำคนเสื้อแดง ในปี 2561 หรือนายวันเฉลิมในปี 2563 คือ ส่วนหนึ่งของความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี

“ทุกคนในครอบครัวก็มี Trauma (มีบาดแผลเจ็บปวด) ใช้ชีวิตอยู่ มันไม่มีซักวันหรอกที่มีความสุข เราดูคลิปเก่า ๆ เราเห็นของน้องเรา (วันเฉลิม) เราคุยกับคนในครอบครัว มันก็ยังมีความรู้สึกทรมานอยู่เหมือนเดิม” น.ส. สิตานัน กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง