ไทยเชื่อโครงการ B3W ของกลุ่ม G7 และเส้นทางสายไหมของจีนจะหนุนเสริมกัน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.06.22
กรุงเทพฯ
ไทยเชื่อโครงการ B3W ของกลุ่ม G7 และเส้นทางสายไหมของจีนจะหนุนเสริมกัน นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พูดระหว่างการแถลงข่าวเมื่อสิ้นสุดการประชุมสุดยอด G7 ที่สนามบินคอร์นวอลล์ นิวคีย์ ประเทศอังกฤษ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2564
รอยเตอร์

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า โครงการ "สร้างโลกใหม่ที่ดีกว่า” (Build Back Better World - B3W) ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) และโครงการ “เส้นทางสายไหม” (One Belt One Road - OBOR) ของประเทศจีน จะส่งเสริมกันและกัน โดยไทยจะได้รับประโยชน์ด้วย

นายธานี ระบุว่า ประเทศไทยยินดีกับการเกิดขึ้นของ B3W และเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยหนุนเสริมบทบาทของไทยในความร่วมมือระดับสากล

“เรามองได้ว่าโครงการ B3W และโครงการเส้นทางสายไหมของจีน เป็นโครงการที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทั้งสองโครงการจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับการติดต่อเชื่อมโยงถึงกัน และสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจสาธารณูปโภคของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” นายธานี กล่าว

“โดยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะเป็นจุดเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิค กับมหาสมุทรอินเดีย และอยู่ระหว่างจีนกับเอเชียอาคเนย์ ทั้งประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นทวีป และในมหาสมุทร ความร่วมมือของเราที่มีมาอย่างยาวนานกับญี่ปุ่น จีน เยอรมัน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา จะช่วยให้เราสร้างระบบสาธารณูปโภคที่สอดคล้องและสอดรับกัน” นายธานี กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โครงการ B3W เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมของกลุ่มผู้นำ G7 ซึ่งประกอบด้วย แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2564 โดยครั้งนี้ สหราชอาณาจักร เป็นเจ้าภาพการประชุม

อย่างไรก็ตาม น.ส. เอียชา การ์ตี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลับมองว่าสหรัฐต้องการสกัดจีนไม่ให้แซงหน้าตน ส่วนผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก B3W ยังไม่ชัดเจนนัก

“สหรัฐฯ ต้องการชะลอการเติบโตของจีน เพื่อไม่ให้แซงหน้าตน แม้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะไม่ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกดดันจีน เหมือนโดนัลด์ ทรัมป์ แต่มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอีกครั้ง” น.ส. เอียชากล่าว

“สิ่งที่ไทยจะได้รับยังไม่ชัดเจน เชื่อว่าไทยยังจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์จีน ที่เป็นคู่ค้าสำคัญในด้านสินค้าอุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ เครื่องจักร และเป็นลูกค้าของไทยในด้านผลิตภัณฑ์อาหาร ยางพารา สินค้าเกษตร และธุรกิจการท่องเที่ยวไทยอีกด้วย” น.ส. เอียชา กล่าวเพิ่มเติม

วิถีที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น

กลุ่มผู้นำ G7 ก่อตั้ง B3W ขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนผ่านโครงการเส้นทางสายไหม ซึ่งได้แผ่อิทธิพลถึงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิค และแอฟริกาแล้ว ซึ่งสหรัฐฯ ประเมินว่าโครงการ B3W นี้ จะมีมูลค่า 40 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,245 ล้านล้านบาท

บางคนอาจมองว่า โครงการ "สร้างโลกใหม่ที่ดีกว่า” และ โครงการ “เส้นทางสายไหม” เป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกัน แต่ประธานาธิบดีไบเดน และ G7 มองว่าการดำเนินงานทั้งสองโครงการแตกต่างกันมาก ซึ่งประธานาธิบดีไบเดน เห็นว่าการพัฒนาด้านการเงินของ B3W จะไม่เป็นการแผ่ฐานอำนาจให้กับตนเอง ตามที่ตัวเขาเองและกลุ่ม G7 เชื่อว่าโครงการเส้นทางสายไหมของจีนเป็นเช่นนั้น

“ประเด็นที่เกิดขึ้นคือ จีนมีโครงการ “เส้นทางสายไหม” และเราคิดว่ามีวิธีที่จะสร้างความเท่าเทียมในการจัดสรรความต้องการให้แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ดีกว่ามาก” ไบเดนกล่าวในงานแถลงข่าว เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 ตามรายงานการบันทึกเสียงของทำเนียบขาว

“และเราเชื่อว่าสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะดีสำหรับประเทศต่าง ๆ เท่านั้น แต่จะดีสำหรับทั้งโลกและแสดงถึงค่านิยมทางประชาธิปไตยของเรา ไม่ใช่แบบเผด็จการที่ไร้คุณค่า” ไบเดนระบุ

สหรัฐฯ ระบุว่า กลุ่ม G7 จะประสานงานในการระดมเงินทุนของภาคเอกชน เพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมุ่งเน้นการผลักดันใน 4 ด้าน คือ แก้ไขวิกฤตสภาวะอากาศ เสริมสร้างด้านสุขภาพและความมั่นคงด้านสุขภาพ ส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล และผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและความเท่าเทียม

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง