ผู้ว่าหญิงมุสลิมปัตตานีกับงานที่ท้าทายในพื้นที่ขัดแย้ง

มารียัม อัฮหมัด
2022.12.07
ปัตตานี
ผู้ว่าหญิงมุสลิมปัตตานีกับงานที่ท้าทายในพื้นที่ขัดแย้ง นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เข้าไหว้คณะสงฆ์ที่รู้จักและนับถือ ที่วัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวง อำเภอเมืองปัตตานี วันที่ 5 ธันวาคม 2565
เบนาร์นิวส์

นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการหญิงมุสลิมคนแรกของสามจังหวัดชายแดนใต้ และของประเทศไทย พร้อม ๆ กับการถูกตำหนิจากการที่มีภาพคล้ายกับว่าเธอเข้าร่วมพิธีสงฆ์เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต แต่ถือว่านั่นเป็นการทดสอบต่อผู้ที่จะมาเป็น “แม่เมือง” ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และความขัดแย้งเรื่องการปกครอง 

"ภาพที่ทุกคนเห็นคล้ายว่ากำลังคุกเข่ายกมือไหว้พระเหมือนทำพิธีนั้น จริง ๆ แล้ว เป็นภาพขณะที่กำลังเข้าไปหาคณะสงฆ์ที่รู้จักและนับถือเท่านั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการร่วมพิธีกรรมทางศาสนาแต่อย่างใด" ผู้ว่าพาตีเมาะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ หลังจากเข้ามาทำงานเป็นวันแรก เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้

ผู้ว่าพาตีเมาะ ในวัย 54 ปี แต่งงานแล้วและมีบุตรสองคน ยังให้ความสำคัญของ “สังคมพหุวัฒนธรรม” ในสามจังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้อย่างจริงจัง โดยภารกิจแรกหลังจากรับตำแหน่ง เธอได้เดินสายพบผู้นำศาสนา อิสลาม พุทธ คริสตจักร และพี่น้องชาวจีน เพื่อสร้างสันติสุข และแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาจังหวัดต่อไป

เธอได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า ในฐานะที่เป็นผู้หญิงที่มีความอ่อนโยนกว่าเพศชาย จะดำเนินนโยบายต่อการก่อความไม่สงบของขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างไร แต่ได้กล่าวในภาพกว้าง ๆ ว่า สิ่งสำคัญเร่งด่วนที่สุดคือ เรื่องยาเสพติด รวมทั้งความยากจน

“ทำไมเรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะทำ เพราะสิ่งนี้มีการถกเถียงมานานตลอดสิบกว่าปี พูดมานานพอ ๆ กับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อลงพื้นที่พบว่า ยาเสพติดเต็มพื้นที่ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ในการปฏิบัติเรื่องยาเสพติดกลับอยู่ในลำดับท้าย ๆ” ผู้ว่าพาตีเมาะกล่าว

รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 1,900 ล้าน เพื่อดำเนินแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2560-2564 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้มีรายงานในปี 2563 ว่าสถานการณ์ดีขึ้นบ้าง โดยในปี 2560 พบว่ามีหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีปัญหายาเสพติด 1,271 แห่ง และไม่มีปัญหายาเสพติด 1,719 แห่ง แต่ในปี 2562 พบว่ามีหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติด 902 แห่ง หรือลดลง 369 แห่ง และไม่มีปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้นเป็น 2,195 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น 476 แห่ง

ขณะที่การตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินปี 2561 จาก 15,267 คน พบว่ามีสารเสพติด 2,532 คน แต่ในปี 2562 จาก 17,164 คน พบว่ามีสารเสพติด 1,513 คน หรือลดลง 1,019 คน และมีผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งในมิติของการเสพและการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็มีแนวโน้มที่ลดลงไปจากเดิม โดยเห็นได้จากจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดรักษาปี 2561 มี 6,339 ราย แต่ในปี 2562 มี 5,919 ราย หรือลดลง 420 ราย ขณะที่ผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ปี 2561 มี 15,863 ราย แต่ในปี 2562 มี 13,588 ราย หรือลดลง 2,275 ราย

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าพาตีเมาะ ระะบุว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ต้องขังกว่าหนึ่งหมื่นคนในเรือนจำในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นนักโทษชายในคดียาเสพติด ซึ่งต้องมีการแก้ไขปัญหาด้วยการบำบัดแทนการจำคุก

“วันนี้ กระบวนการพูดคุยฐานราก จะทำยังไงให้มีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ สภาตำบล สภาประชาธิปไตย แนวโน้มเราต้องดึงพวกเขาออกมาความรุนแรงตรงนั้น ไม่ใช่ดึงไปกักขังเขา ดึงเพื่อให้เข้าไปบำบัดดูแลเขา การขยับสิ่งเหล่านี้ต้องขยับในชุมชนของเรา เพราะยาเสพติดอยุ่ในชุมชนของเรา และทั้งหมดต้องเกิดจากความร่วมมือจากพวกเราทุกคนด้วย เรื่องยาเสพติดไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่วันสองวันจะแก้จบ” ผู้ว่าพาตีเมาะระบุ  

ในเรื่องสถานการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดนี้ ทางผู้ว่าฯ กล่าวว่า ตนได้พูดคุยกับทางหน่วยกำลังพลในพื้นที่ และกับแม่ทัพภาคที่ 4 แล้ว ซึ่งในก่อนหน้านี้ กองทัพภาคสี่ระบุว่า ขบวนการค้ายาเสพติดมีความเชื่อมโยงกับขบวนการก่อความไม่สงบ

“เราได้ร่วมกันจับมือกันทำงานทุกมิติ โดยเฉพาะยาเสพติดจะไม่ใช่การจับแค่ต้นทาง แต่จะรวมไปถึงปัญหาปลายทาง เพื่อชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทุกมิติ” เธอกล่าว 

221207-th-deep-south-first-female-governor-pattani.jpg

นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เดินทางไปเยี่ยมพี่น้องเชื้อสายจีน ที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือศาลเจ้าเล่งจูเกียง ในตัวเมืองปัตตานี วันที่ 6 ธันวาคม 2565 (เบนาร์นิวส์)

เมื่อถามถึงความภาคภูมิใจในหน้าที่การงานที่ก้าวหน้ามาถึงจุดนี้ เธอได้กล่าวขอบคุณพี่น้องทุกคนทั้งประเทศที่ได้แสดงความยินดีกับเธอเป็นอันดับแรก

“ความเป็นผู้หญิงแค่ส่วนหนึ่งขององค์ประกอบ ส่วนหนึ่งของสถานะ ดิฉันได้คุยและสร้างความเข้าใจในมิติการดูแลและป้องกัน และในการเป็นผู้ว่าปัตตานี ดิฉันจะนำพามิติของความมั่นคงที่นำพาไปสู่ชุมชน โดยบทบาทของผู้หญิง” ผู้ว่าคนใหม่กล่าว  

“ภายใต้บริบทของผู้หญิง หมายถึงโอกาสของผู้หญิงทั้งหมด ผู้หญิงทั่วประเทศไทยสามารถที่จะเข้ามาถึงจุดนี้ได้ การศึกษานำพาเราให้มาถึงจุดนี้ เชื่อมั่นว่าเราต้องมุ่งเน้นการศึกษา คือโอกาสและอาวุธที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน ที่จะสร้างความแข็งแข็งของผู้หญิงและมาเป็นผู้นำในการทำงาน”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง