ไทยเตรียมให้สัญชาติแก่ประชาชน เกือบ 500,000 คน

รัฐบาลไทยไฟเขียวให้สัญชาติ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติและกระตุ้นเศรษฐกิจ
เคียนา ดันแคน และภิมุข รักขนาม สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.11.15
ไทยเตรียมให้สัญชาติแก่ประชาชน เกือบ 500,000 คน ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาจับจ่ายซื้อของที่ตลาดเช้า ในศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัย ค่ายแม่หละ จังหวัดตาก วันที่ 1 มิถุนายน 2555
ภิมุข รักขนาม/เรดิโอฟรีเอเชีย

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ อนุมัติให้สัญชาติไทยกับผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเกือบ 500,000 ราย แต่ต้องอาศัยอยู่ที่นี่มาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวชาติพันธุ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติและเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่กล่าว

ขณะที่การอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองสำหรับหลายประเทศ แต่ในประเทศไทย ซึ่งมี “ชุมชนชาวเขา” หลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่บริเวณชายขอบมานานร่วมหลายศตวรรษ แผนการมอบสัญชาติดังกล่าวนั้น กลับแทบจะไม่ก่อข้อคัดค้านแต่อย่างใด

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์แก้ไขเร่งรัดการให้สัญชาตินี้และสถานะของบุคคลในช่วงปลายเดือนตุลาคม โดยหน่วยงานระดับจังหวัดสามารถเป็นผู้ดำเนินการให้สัญชาติได้เพื่อลดขั้นตอนของรัฐที่ซับซ้อนและประหยัดเวลา

“การให้สัญชาติกับผู้อพยพจะช่วยหนุนเสริมความมั่นคงของชาติ มอบสิทธิให้ประชาชนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลและกระตุ้นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ” เขากล่าว

ประชาชนทั้งหลายที่ได้รับสัญชาติไทย จะได้รับสิทธิในการทำงานในประเทศไทยอย่างอิสระ สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ เปิดบัญชีธนาคาร เข้าถึงค่าเล่าเรียนตามสิทธิของนักเรียนไทย และสมัครเพื่อขอทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้

เจ้าหน้าที่รัฐผู้เกษียณราชการแล้วและคุ้นเคยกับประเด็นดังกล่าวออกความเห็นว่า ข้อกังวลเรื่องความมั่นคงต่าง ๆ เป็นรากฐานของการตัดสินใจที่จะอนุมัติให้สัญชาติแก่ผู้อพยพ และความหวาดกลัวที่ว่าบุคคลไร้สัญชาติอาจจะมีแนวโน้มที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมที่ “ผิดกฎหมาย”

“พวกเขาต้องได้รับสัญชาติไทย รัฐจะได้รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร นอกจากนั้น พวกเขาจะได้มีอาชีพการงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและตอบแทนสังคมได้” เจ้าหน้าที่รัฐอาวุโสเผย แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวตนเนื่องจากออกความเห็นในประเด็นที่อ่อนไหว

“การมอบสัญชาติให้พวกเขา จะช่วยให้เขาเหล่านั้นภักดีกับประเทศไทยมากขึ้น”

241115-th-grant-citizenship2.png
เด็ก ๆ รอคอยการมาเยือนของ นางอองซาน ซูจี ที่ค่ายแม่หละ จังหวัดตาก วันที่ 2 มิถุนายน 2555 (ภิมุข รักขนาม/เรดิโอฟรีเอเชีย)

แม้ว่าทางการไทยจะยังไม่ประกาศออกมาชัดเจนว่าบุคคลประเภทใดที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายในการได้รับสัญชาติไทย สมาชิกกรรมาธิการรัฐสภาในประเด็นชาติพันธุ์ ที่ทำงานเกี่ยวกับแผนปรับสถานะให้กับผู้อพยพ บอกกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า ผู้ที่จะได้รับสัญชาติส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ชนกลุ่มน้อยหรือชาวชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ผู้ที่อพยพมาอาศัยในไทยเป็นระยะเวลานานแล้ว จากประเทศเมียนมา และลาว และผู้ที่มาเป็นแรงงานข้ามชาติระยะยาว จากประเทศกัมพูชา และเวียดนาม

สุรพงษ์ กองจันทึก เลขานุการประจำคณะกรรมการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการกลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า อดีตสมาชิกจากพรรคชาตินิยมจีน หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ที่ลี้ภัยมาจากประเทศจีน หลังจากที่เหมา เจ๋อตง ประกาศตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” เมื่อเดือนตุลาคม 2492 ก็จะได้รับการปรับสถานะเช่นเดียวกัน

“กล่าวโดยสรุป ผู้ที่มีสิทธิในการเป็นประชาชนไทยคือกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยที่ผ่านการสำรวจจากทางการไทยเรียบร้อยแล้ว และเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน

ระบบการมอบสัญชาติแบบใหม่จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยประกาศเรื่องนี้เป็นกฎกระทรวงในอีกราวสองเดือนข้างหน้า ซึ่งถือเป็นของขวัญวันปีใหม่ก็ว่าได้” เขากล่าว

เส้นทางสู่โอกาส

ทว่า สุรพงษ์ชี้แจงว่า “ผู้อพยพที่เพิ่งมา” ไม่ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้รับสัญชาติไทย

เขาปฏิเสธที่จะอธิบายถึงรายละเอียดต่าง ๆ ว่าบุคคลที่กำลังกล่าวถึงเป็นใคร แต่ให้เหตุผลว่าผู้ที่จะได้รับสิทธิตามหลักเกณฑ์จะต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าพวกเขาเดินทางมาถึงประเทศไทยก่อนปี 2542 และอาศัยอยู่ที่นี่อย่างน้อย 15 ปี

นั่นหมายความว่า ประชาชนชาวเมียนมาหลายพันคน ที่อพยพมาจากประเทศต้นทางของตน จากเหตุการณ์ที่รัฐบาลทหารยึดอำนาจและก่อสงครามนองเลือดกับฝ่ายต่อต้านตั้งแต่ปี 2564 หมดสิทธิที่จะได้รับสัญชาติใหม่

นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกว่า 100,000 ราย ที่อพยพมาจากประเทศเมียนมา และอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดน หลังจากที่หนีสงครามใหญ่ในช่วงปี 2523 จะได้รับการปรับสถานะหรือไม่ แต่ประชาชนจากประเทศเมียนมาจำนวนมากรู้สึกมีความหวัง หลังจากที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความไม่ปลอดภัย การได้รับใบอนุญาตเพียงชั่วคราว และการตรวจเช็คอย่างไม่มีวันสิ้นสุดจากเจ้าหน้าที่รัฐ

“ผมต้องส่งข้อมูลให้พวกเขาว่า ผมกำลังจะไปที่ไหน ทำอะไรอยู่ หรือกำลังจะไปพบใคร” ชายชาวเมียนมา ที่ใช้ชื่อว่า หม่อง หม่อง กล่าว เขาหลบหนีการปราบปรามจากประเทศบ้านเกิด และเสี่ยงภัยอาศัยในประเทศไทย เป็นระยะเวลากว่า 27 ปี โดยใบอนุญาตชั่วคราวล่าสุด เขาสามารถอยู่ได้ 10 ปี

สำหรับเขา การได้สัญชาติไทยเปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่โลกใหม่ ไม่ใช่สำหรับเขาเอง แต่สำหรับลูก ๆ ของเขา

“ผมกับภรรยาไม่ได้อยู่ในวัยที่จะร่ำเรียนอีกแล้ว แต่สำหรับลูกชายและลูกสาวของเรานั้นต่างออกไป ถ้าพวกเขาอยากเข้ารับการศึกษาดี ๆ ที่เชียงใหม่ หรือกรุงเทพฯ พวกเขาจะมีโอกาสเรียนหนังสือ ถ้าได้รับสัญชาติไทย” เขากล่าว

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เด็กไร้สัญชาติ 130,000 ราย ผู้เกิดในประเทศไทยจะได้รับสัญชาติไทย

สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล

การได้รับสัญชาตินั้นมอบสิทธิในการเข้าถึงประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุขของไทยให้พวกเขาด้วย ซึ่งจะถ่ายเทภาระอันหนักหน่วงจากโรงพยาบาลประจำเขตพื้นที่ชายแดน ซึ่งต้องปฏิบัติตามหลักการทางมนุษยธรรมในการดูแลรักษาผู้ใดก็ตามที่ต้องการการรักษาพยาบาลออกไปได้

“ประกันสุขภาพเป็นบริการที่สำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ” บราห์ม เพรส ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย กล่าว

“แรงงานอพยพไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หลังจากที่มีอายุ 55 ปี ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงประกันสุขภาพเช่นกัน แต่นั่นคือ ช่วงอายุที่คุณเริ่มต้องการมันแล้ว”

241115-th-grant-citizenship3.png
ครอบครัวแรงงานชาวเมียนมาส่วนใหญ่ ใช้เวลาช่วงที่มีการล็อกดาวน์ที่บริเวณล้งกุ้ง ในจังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 26 มกราคม 2564 (โซ เซยา ตุน/รอยเตอร์)

แม้จะไม่มีกระแสต่อต้านจากสาธารณชนในประเด็นที่ทางการไทยจะมอบสัญชาติให้กับบุคคลจำนวนครึ่งล้านเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของประเทศ แต่พบเห็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบางกลุ่มผู้โพสต์ความเห็นทางออนไลน์ที่ตั้งคำถามว่าผู้สมัครเหล่านี้ “เป็นคนไทยจริง ๆ” หรือ

นักธุรกิจไทยที่ทำงานในกรุงเทพมหานคร ผู้ใช้ชื่อสมชัย บอกกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า เขาเห็นด้วยที่กลุ่มชาติพันธุ์ผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานควรจะได้รับสัญชาติไทย “พวกเขาก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทย แม้ว่าจะอาศัยอยู่บนดอยก็ตาม”

ทว่า สมชัยเองเห็นว่า รัฐควรต้องตั้งกฎเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้สมัคร

“ผมไม่เห็นด้วยที่จะอนุมัติให้คนเมียนมาหรือคนชาติอื่น ๆ ได้สัญชาติไทย หรือมีสิทธิที่จะตั้งถิ่นฐานที่นี่ เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง แล้วคนไทยจะได้ประโยชน์อะไร ทำไมรัฐบาลถึงคิดที่จะออกกฎเกณฑ์แบบนี้ออกมา”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง