ทอ. จ่อซื้อเครื่องบินขับไล่กริปเปนจากสวีเดน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.08.28
กรุงเทพฯ
ทอ. จ่อซื้อเครื่องบินขับไล่กริปเปนจากสวีเดน เจ้าหน้าที่ทหารเดินผ่านโมเดลเครื่องบินขับไล่โจมตี Gripen ที่ผลิตในสวีเดน ในงานนิทรรศการ Defense & Security 2015 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558
พรชัย กิตติวงศ์สกุล/เอเอฟพี

กองทัพอากาศไทย (ทอ.) เปิดเผยว่า จะเสนอให้รัฐบาลซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีกริปเปน (JAS 39 Gripen E/F) จากสวีเดน เพื่อทดแทนเครื่องบินเอฟ-16 (F-16 A/B) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งประจำการที่ฝูงบิน 102 กองบิน 1 ที่ประจำการมาแล้วกว่า 36 ปี

“กองทัพอากาศจึงขอให้ความเชื่อมั่นกับพี่น้องประชาชนว่าจะดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี JAS 39 Gripen E/F ให้เกิดความคุ้มค่าต่องบประมาณที่ได้รับจากภาษีของประชาชน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ จะนำมาซึ่งการได้ยุทโธปกรณ์ที่มีสมรรถนะสูงเพื่อใช้ในการปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศ” กองประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ระบุ

ทอ. ระบุว่า การพิจารณาเดือนดังกล่าวใช้เวลากว่า 10 เดือนเพื่อความละเอียดรอบคอบ ซึ่งโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนระยะที่ 1 จะเป็นการใช้งบประมาณประจำปี 2568-2572 โดยเป็นการจัดหา เครื่องบินขับไล่แบบที่ 19/ก (F-16 A/B) ณ ฝูงบิน 102 กองบิน 1 ที่ประจำการ มาตั้งแต่ปี 2531 โดยฝูงบินฝูงใหม่นี้จะประจำการไปอีกอย่างน้อย 30 ปี 

“เครื่องบินขับไล่โจมตีแบบ JAS 39  Gripen E/F มีขีดความสามารถที่ตอบสนองความต้องการทางยุทธการตามหลักนิยมและยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศ ทั้งยังมีอิสระในการใช้งาน และสามารถพัฒนาต่อยอดนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติการร่วมหลายมิติ (Multi-Domain Operations) ระหว่างกองทัพอากาศร่วมกับ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และหน่วยงานความมั่นคงต่าง ๆ” ทอ. เปิดเผย 

พล.อ.อ. พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ทอ. มีสองตัวเลือกในการพิจารณาจัดซื้อคือ เครื่องบินขับไล่โจมตีรุ่น F-16 block70/72 (รุ่นใหม่ ปี 2023) ของบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) จากสหรัฐฯ และ เครื่องบินขับไล่โจมตีรุ่น JAS 39 Gripen E/F) ของ บริษัท ซาบ (SAAB) จากสวีเดน 

“การตัดสินใจคัดเลือกแบบเครื่องบินครั้งนี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพอากาศ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อความมั่นคงของประเทศชาติในภารกิจป้องกันอธิปไตย รวมทั้งมีความคุ้มค่าด้านงบประมาณและผลตอบแทนที่ได้คืนกลับมาจากนโยบายรัฐบาล” พล.อ.อ. พันธ์ภักดี กล่าวกับสื่อมวลชน

รายงานของคณะกรรมการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีฯ ระบุว่า หากไทยตัดสินใจซื้อ F-16 block70/72 บริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน เสนอว่าจะแถมระบบเชื่อมต่อเครือข่ายทางยุทธวิธี(Technical Data Link) แบบ Link16 จำนวน 18 เครื่องให้กับ ทอ. ขณะที่ บริษัท ซาบ เสนอจะให้ลิขสิทธิ์ระบบเชื่อมต่อเครือข่ายทางยุทธวิธี แบบ LinkT รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝึกอบรมบุคลากร และจรวดนำวิถีทางอากาศ (Air-to-air missile) 

“ผลจากการคัดเลือกครั้งนี้จะมีความต่อเนื่องในเรื่ององค์ความรู้ การถ่ายเทคโนโลยี ในระบบควบคุมบังคับบัญชา สนับสนุนภารกิจของกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภารกิจช่วยเหลือประชาชน และ บรรเทาสาธารณภัย” ผบ.ทอ. ระบุ

หลังจากนี้ ทอ. จะนำรายงานการตัดสินใจนี้เสนอให้กับรัฐบาลเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ภายใต้การนำของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พิจารณา และสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบว่า จะอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อตามที่ ทอ. เสนอหรือไม่ 

สำหรับ ราคาซื้อ JAS 39 Gripen E/F ต่อลำ มีมูลค่าเฉลี่ย 85 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและรายละเอียดที่กองทัพแต่ละประเทศตกลงกับบริษัทผู้ผลิต โดยจะมีค่าใช้จ่ายการบิน 4,500 ดอลลาร์ หรือ 160,000 บาท ต่อชั่วโมง

แผนการจัดเครื่องบินขับไล่โจมตีเพื่อทดแทนเครื่องบินเอฟ-16 (F-16 A/B) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งประจำการที่ฝูงบิน 102 กองบิน 1 เริ่มขึ้น เมื่อปลายปี 2564 โดย พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. ในขณะนั้น ระบุว่า ทอ. สนใจเครื่องบินขับไล่ล่องหน โดยกำลังพิจารณาเครื่องบินรุ่น F-35 Lightning II จากสหรัฐฯ รุ่น Shengdu JC-20 จากจีน และรุ่น SU-57 จากรัสเซีย

ต่อมา ปี 2565 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 1.38 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการจัดหาเครื่องบินทดแทน 4 ลำแรก อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2566 พล.อ.ต. ประภาส สอนใจดี โฆษก ทอ. ในขณะนั้น ระบุว่า สหรัฐฯ ปฏิเสธการขอซื้อ F-35 โดยอ้างว่า ไทยไม่พร้อมตามเงื่อนไขในการดูแลเครื่องบินรุ่นนี้ กระทั่ง ทอ. ตัดสินใจจะจัดซื้อเครื่องบินกริปเปน จากสวีเดนแทน

ต่อประเด็นดังกล่าว ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ในทางการเมือง การเลือกซื้อเครื่องบินจากสวีเดนแทนที่จะเป็นจากสหรัฐฯ อาจถูกมองว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงในด้านการพึ่งพาทางทหาร และเป็นการสร้างสมดุลทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ

“ในยุคที่ภูมิรัฐศาสตร์กำลังเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ อาจยังคงสำคัญอยู่ แต่การทำสัญญากับสวีเดนก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นอิสระในการตัดสินใจของไทยในเรื่องการป้องกันประเทศ” ดร. เอียชา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นอกจากนี้ ดร. เอียชา เชื่อว่าการตัดสินใจของ ครม. ชุดใหม่จะต้องพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ สถานะทางการคลัง และผลกระทบทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ 

ทอ. ระบุว่า ปัจจุบัน ไทยมีเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดในประจำการประมาณ 80 ลำ ได้แก่ เอฟ-5 และเอฟ-16 ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ และกริปเปน จากสวีเดน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง