กองบัญชาการสอบสวนกลางกวาดล้างปืนเถื่อนกว่า 300 กระบอก

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.10.01
กรุงเทพฯ
กองบัญชาการสอบสวนกลางกวาดล้างปืนเถื่อนกว่า 300 กระบอก เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบอาวุธปืนที่ยึดจากผู้ต้องสงสัยค้าอาวุธโดยผิดกฎหมาย จากการตรวจค้นเป้าหมายแห่งหนึ่ง วันที่ 1 ตุลาคม 2564
กองบัญชาการสอบสวนกลาง

กองบัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวในวันศุกร์นี้ว่า เจ้าหน้าที่สามารถกวาดล้างบุคคลในวงการค้าอาวุธผิดกฎหมายได้กว่า 50 ราย ยึดปืนผิดกฎหมายกว่าสามร้อยกระบอก เพื่อขจัดอาชญากรรมที่กำลังกลายเป็นภัยใกล้ตัวของประชาชน เช่นเหตุการณ์ที่จ่าอาร์มยิงประชาชน เสียชีวิต 30 ราย ในโคราช เมื่อต้นปีที่แล้ว

พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. กล่าวในการแถลงข่าวในวันนี้ว่า จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่ามีกลุ่มผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนเป็นจำนวนมากในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตรวจค้นเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น ตามยุทธการ “สอบสวนกลางกวาดล้างปืนเถื่อน” (CIB Ghost Guns Operation)

ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 นี้ ตำรวจสอบสวนกลาง, เจ้าหน้าที่ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้างและผู้ร้ายสำคัญ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ได้ตรวจค้นเป้าหมาย 126 แห่งทั่วประเทศ สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้จำนวนทั้งสิ้น 51 ราย ยึดอาวุธปืนจำนวนกว่า 300 กระบอก แบ่งเป็นอาวุธปืนทั่วไปจำนวน 214 กระบอก (มีทะเบียน 139 กระบอก, ไม่มีทะเบียน 65 กระบอก), อาวุธปืนสงครามจำนวน 4 กระบอก และอาวุธปืนไทยประดิษฐ์ 35 กระบอก พร้อมด้วยเครื่องกระสุนปืนจำนวน 3,562 นัด และของกลางอื่น ๆ กว่า 700 รายการ ซึ่งได้นำส่งพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบต่อไป

“ส่วนใหญ่เป็นการทำเพื่อการค้า บางคนรับจำนำปืน หลุดจำนำแล้วเอาไปขายต่อ บางคนอยู่ในวงการซื้อมาขายไป เป็นของผิดกฎหมาย แต่ได้เงินเยอะ” พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช กล่าวต่อผู้สื่อข่าว

กองบัญชาการสอบสวนกลาง ระบุว่า ที่ผ่านมาได้เกิดอาชญากรรมที่มีการใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุ กำลังกลายเป็นภัยใกล้ตัวของประชาชน เช่น เหตุการณ์กราดยิงโคราช เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่ง จ.ส.อ. จักรพันธ์ ถมมา “จ่าอาร์ม” เกิดอาการคลุ้มคลั่งแล้วยิงผู้บังคับบัญชาของตน และต่อมาได้ยึดห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นที่มั่นสุดท้ายหลังจากสังหารผู้อื่นไปรวม 30 คน บาดเจ็บกว่า 60 คน ก่อนที่ตนเองจะถูกวิสามัญฆาตกรรมลงในที่สุด, เหตุการณ์ชิงทองลพบุรี หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์การใช้อาวุธปืนจบชีวิตคนรักจากปัญหาในเชิงชู้สาว

พล.ต.ท. จิรภพ กล่าวว่า อาวุธปืนที่นำมาใช้ในการก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นอาวุธปืนที่มีการซื้อขายหรือครอบครองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งนอกจากจะเป็นภัยต่อประชาชนเเล้ว ยังเป็นต้นเหตุของการก่อให้เกิดกลุ่มผู้มีอิทธิพลและอาชญากรรมที่มีความรุนเเรงในสังคมได้อีกด้วย

เว็บไซต์ Gunpolicy.org ระบุว่า ประเทศไทยมีการเสียชีวิตเนื่องจากอาวุธปืน ในปี 2562 รวมจำนวน 1,292 คน คิดเป็นอัตรา 1.88 คน ใน 100,000 คน สูงที่สุดในอาเซียน

นอกจากนั้น ตำรวจสอบสวนกลาง ได้เตือนผู้ที่ทำการซื้อขายอาวุธปืนหรือส่วนประกอบอาวุธปืนต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ว่าการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการกระทำที่ไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ซึ่งการนำเอาอาวุธปืนมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้กระทำก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ด้วยเช่นกัน

ด้านนางแอเสาะ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 48 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองสูญเสียสามีเพราะถูกคนร้ายยิงตาย เมื่อปี 2550 แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามคนร้ายได้ เพียงแต่บอกว่าคนร้ายใช้อาวุธสงคราม แต่ไม่สามารถตามหาตัวคนร้ายได้แม้จะพยายามเต็มที่แล้วก็ตาม

“อย่างของสามี ฉันเอง และลูก ๆ เจ็บปวดมาก ทุกครั้งที่มีคนถูกยิง ก็จะนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัว ถ้าเป็นไปได้อยากให้เจ้าหน้าที่เอาจริงกับอาวุธเถื่อน เพราะมันอันตรายมากสำหรับชาวบ้าน” นางแอเสาะ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าว

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง