ยูเนสโกเพิ่มชื่อป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก สร้างความกังวลกับชาวกะเหรี่ยง
2021.07.27
กรุงเทพฯ
ปรับปรุงข้อมูล 10:58 p.m. ET on 2021-07-27
องกรค์ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ป่าแก่งกระจานของไทย เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติได้มีแถลงการณ์ก่อนหน้า ระบุพื้นที่แก่งกระจานมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนชาวกะเหรี่ยงพื้นเมือง และเรียกร้องให้คณะกรรมการมรดกโลกระงับการขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจาน
เมื่อวันจันทร์นี้ การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 44 ขององกรค์ยูเนสโก ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพการประชุมออนไลน์ และได้รับการประกาศให้ป่าแก่งกระจาน ตั้งอยู่ใน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย ซึ่งพื้นที่แก่งกระจาน เคยมีกรณีพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวกะเหรี่ยงในเรื่องพื้นที่ทำกิน
การลงมติมีขึ้นสามวัน หลังจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์เผยแพร่ความกังวล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
“ไม่มีการปรึกษาหารืออย่างจริงใจกับชุมชนในพื้นที่ ในการให้พวกเขาเข้าร่วมในกระบวนการเสนอชื่อขององค์การยูเนสโก หากการเสนอชื่อได้รับการอนุมัติ การละเมิดสิทธิของชนชาวกะเหรี่ยงที่จะคงมีอยู่ต่อไป ในการห้ามไม่ให้พวกเขาอาศัยอยู่ในที่ดินดั้งเดิมที่เคยอาศัยและดำรงชีวิต โดยทำเกษตรระบบไร่หมุนเวียน” สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์เผยแพร่เมื่อวันศุกร์
“รัฐบาลไทยต้องหยุดการคุกคามนักปกป้องสิ่งแวดล้อม และสร้างการเจรจาที่แท้จริงกับชาวกะเหรี่ยง ตระหนักถึงบทบาทสำคัญในฐานะผู้พิทักษ์ปกป้องธรรมชาติของพวกเขา และทำงานร่วมกับชาวกะเหรี่ยง แทนที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความโกรธ ราวกับว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นภัยคุกคาม”
“กรณีนี้จะเป็นการสร้างมาตรฐานครั้งสำคัญและจะมีอิทธิพลต่อนโยบายในการเคารพสิทธิของคนท้องถิ่นในพื้นที่สงวนทั่วทั้งทวีปเอเชีย ชาวกะเหรี่ยงในท้องถิ่นอุทยานแห่งชาติยังคงถูกขับไล่โดยใช้กำลังและบ้านเรือนถูกเผา” นายโฮเซ ฟรานซิสโก คาลี ทเซ ทูตพิเศษด้านสิทธิชนพื้นเมืองกล่าวในแถลงการณ์
ด้าน โฆษกขององค์การยูเนสโก ได้ตอบเบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า คณะกรรมการมรดกโลกได้ตัดสินใจรวมป่าแก่งกระจานเข้าในทะเบียนรายชื่อมรดกโลก
“ข้อกังวลทั้งหลายได้ถูกนำขึ้นหารือและเผยแพร่ข้อมูลกับสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก และยูเนสโกยังใช้เป็นสาระสำคัญในการแนะนำให้มีการเลื่อนเวลาลงมติออกไป” โฆษกฯ กล่าว
“คณะกรรมการมรดกโลกเป็นหน่วยงานอิสระ และมีแนวทางดำเนินการที่แตกต่างออกไป"
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงมติขององค์การยูเนสโกว่า เป็นข่าวดีที่น่าภูมิใจ ผ่านประยุทธ์ จันทร์โอชา เฟซบุ๊กเพจ
“ต่อจากนี้รัฐบาลดำเนินการยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่ด้วยการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล ... ให้ทุกภาคส่วนร่วมจัดการพื้นที่มรดกโลกร่วมกัน และเกิดความตระหนักในคุณค่าของการเป็นเจ้าของมรดกโลกนี้ร่วมกัน”
ส่วน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ระบุผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยพยายามขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานถึง 3 ครั้ง ในปี 2558, 2559 และ 2562 แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้นปีนี้ถือเป็นความสำเร็จ
“ผมจะเร่งนำเสนอแผนพัฒนากลุ่มป่าแก่งกระจาน ต่อที่ประชุม ครม. โดยมุ่งเน้นเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ควบคู่ไปกับการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิต และสิทธิมนุษยชน ของประชาชนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่า เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดและยุติธรรมต่อทั้งธรรมชาติและมนุษย์ทุกคน” นายวราวุธ ระบุ หลังการที่ป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ป่าแก่งกระจานที่องกรค์ยูเนสโกเพิ่งประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้ว่า มีความรู้สึกกังวลว่าความเป็นอยู่ของพวกเขาอาจไม่แน่นอน
นายพนมพร วนสิริคุณ เป็นหนึ่งในชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จำนวน 85 ราย ที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้กำลังจับกุมตัวจากพื้นที่ใจแผ่นดิน ในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ได้กล่าวแสดงความกังวลในเรื่องนี้
“รู้สึกไม่ค่อยดี เพราะถ้าขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ชาวบ้านจะอยู่ยังไงก็ไม่รู้ เขาจะพูดถึงชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่หรือเปล่า เพราะเขาเสนอไป ไม่ได้ถามชาวบ้าน ไม่ได้บอกว่า มีชาวบ้านอยู่ที่นี่” เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์
“ตอนนี้ พวกเราก็ไม่มีที่ทำกิน บางคนไม่มีบ้านอยู่ด้วยซ้ำต้องอาศัยบ้านญาติอยู่ ที่โป่งลึก บางกลอยล่าง ถ้าขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้วรัฐบาลจะดูแลชาวบ้านให้ดีขึ้นก็เป็นเรื่องดี ให้เรามีที่ทำกิน จัดสรรที่ให้เรา เพราะตอนนี้โควิด เราไม่มีที่ทำกิน งานรับจ้างก็ทำไม่ได้ งานหายาก” นายพนมพร กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ อ้างว่า ชาวกะเหรี่ยงได้ทำการบุกรุกพื้นที่ป่า 157 ไร่ ในพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” โดยเจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวชาวบ้าน 85 ราย และนำตัวลงมาจากใจแผ่นดิน หลังจากนั้น ชาวบ้าน 22 รายถูกดำเนินคดี อีก 27 รายถูกปรับ และ 36 ราย ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากเป็นเด็ก ปัจจุบัน การดำเนินคดีชาวบ้านอยู่ในการพิจารณาของศาล เบื้องต้นชาวบ้านถูกตั้งข้อหาบุกรุกเขตอุทยานฯ แต่การนัดของศาลถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19
กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรีมีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยพื้นที่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, อุทยานแห่งชาติกุยบุรี, อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมพื้นที่ 2,938,909.84 ไร่ เป็นพื้นที่ต้นน้ำเพชรบุรี และมีสัตว์เลื้อยคลานหายาก คือ จระเข้น้ำจืด
ปัญหาบ้านบางกลอย - กะเหรี่ยงเสียชืวิต
ตามคำบอกเล่าของชาวกะเหรี่ยง พื้นที่ “บ้านใจแผ่นดิน” และ “บางกลอยบน” เป็นพื้นที่ที่กะเหรี่ยงอาศัยมาอยู่มาเกิน 100 ปี โดยประกอบอาชีพเกษตรกรรมลักษณะไร่หมุนเวียน หาของป่า และล่าสัตว์ ต่อมาในปี 2524 พื้นที่ดังกล่าวถูกขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานแห่งชาติ และปี 2538 รัฐบาลได้เจรจาขอให้ชาวกะเหรี่ยงอพยพลงมาอยู่ในพื้นที่ด้านล่าง โดยรัฐบาลจัดสรรพื้นที่ให้ แต่ชาวบ้านบางส่วนไม่ยอม เพราะเห็นว่า พื้นที่ที่รัฐบาลจัดสรรให้ไม่สามารถทำมาหากินได้
ต่อมาปี 2553-2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนั้น เริ่ม “ยุทธการตะนาวศรี” จับกุมชาวกะเหรี่ยงที่ขึ้นไปทำกิน และอาศัยในพื้นที่บางกลอยบน และใจแผ่นดิน เผาทำลายบ้าน และยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงดำเนินการฟ้องร้อง นายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ
17 เมษายน 2557 ระหว่างการต่อสู้คดี นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงในฐานะพยานของคดีหายตัวไป ต่อมานางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายพอละจี ได้ยื่นฟ้องเอาผิดนายชัยวัฒน์ ที่เป็นคนจับตัวนายพอละจี ก่อนจะหายตัวไป แต่ศาลจังหวัดเพชรบุรีมีคำพิพากษา ในเดือนกรกฎาคม 2557 ให้ยกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
สำหรับคดีเผาทำลายบ้านกะเหรี่ยง เดือนมิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้กรมอุทยานฯ จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกระเหรี่ยง 6 คน เป็นเงินราว 2.9 แสนบาท ต่อมากันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยืนยันว่า พบชิ้นส่วนกะโหลกของนายพอละจี และระบุว่าเสียชีวิตจากการฆาตกรรม นำมาสู่การฟ้องนายชัยวัฒน์ ในฐานะผู้ต้องสงสัยอีกครั้ง แต่มกราคม 2563 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์และพวก เพราะดีเอ็นเอกะโหลกไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นกะโหลกของนายพอละจีจริง
* แก้ไข อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นกลุ่มป่าแก่งกระจาน