ฟ้าหลังฝนของตัวประกันไทยในกาซา

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2024.04.09
เชียงราย
ฟ้าหลังฝนของตัวประกันไทยในกาซา กง แซ่เล่า หยอกล้อกับภรรยา หลังจากที่เธอร้องให้เมื่อย้อนคิดถึงช่วงที่สามีถูกจับเป็นตัวประกัน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ในวันที่เขาปลดผ้าปิดตา และมองเห็นรถยูเอ็นอยู่ตรงหน้า กง แซ่เล่า รู้สึกเหมือนว่าตนเองได้หลุดออกจากหลุมดำแห่งความตายและเกิดใหม่อีกครั้ง

เป็นเวลาเกือบสองเดือนที่นายกง แซ่เล่า ชาวม้ง อายุ 26 ปี จากจังหวัดเชียงราย ถูกกลุ่มฮามาสจับไปเป็นตัวประกันในกาซา ในช่วงสายของวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2566 ก่อนที่เขาจะได้รับอิสรภาพอีกครั้ง

ในตอนเช้าวันนั้น เขาถูกปลุกด้วยเสียงระเบิดเสียงปืน กงหยิบมือถือขึ้นมาไลฟ์สดภาพจรวดบนท้องฟ้า บรรยายว่าการรบกันวันนี้รุนแรงกว่าปกติ เพราะเสียงระเบิด เสียงปืนดังอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน กงบรรยายต่อด้วยว่า ดูเหมือนจะมีกลุ่มคนมุ่งหน้ามายังแคมป์คนงานที่เขาอาศัยอยู่ หลังจากนั้นเขาก็ขาดการติดต่อ จนทำให้ภรรยาของเขาคิดว่าเขาเสียชีวิตแล้ว

“หลังจากเขาไลฟ์สดตอนเช้า ตอนเย็นหนูก็ติดต่อเขาไม่ได้อีก หนูก็คิดว่าแฟนหนูอาจจะไม่รอดชีวิตแล้ว หนูไปโพสต์ตามหาในกลุ่มแรงงานอิสราเอลก็ไม่มีใครเห็น” ฟ้า ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์พร้อมน้ำตาเมื่อหวนคิดถึงช่วงเวลานั้น

ทว่าฟ้ายังเมตตา ที่กลุ่มฮามาสไม่ได้ทำร้ายกงจนถึงแก่ชีวิต และปล่อยตัวกงในช่วงค่ำของวันที่ 29 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่น จนกงได้กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว

ถูกจับเป็นตัวประกัน

กงเล่าให้เบนาร์นิวส์ฟังว่า ในช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม เขาอยู่กับเพื่อนคนงานไทยในแคมป์รวม 6 คน หลังจากไลฟ์สดการสู้รบไม่นาน ก็มีกลุ่มคนที่เชื่อว่าเป็นปฏิบัติการภาคพื้นดินถืออาวุธบุกเข้าไปในแคมป์ คนงานไทยทั้งหมดถูกจับตัว กงถูกจับเป็นคนสุดท้ายเพราะเขาหลบอยู่ห้องพัก ทำให้เขาไม่รู้ว่าเพื่อนคนงานที่เหลือถูกจับไปที่ไหนกันบ้าง

“ผมอยู่ในห้องพัก เขาเข้ามารื้อของแล้วก็จับตัวเราไป คนไทยห้าคนข้างนอกโดนจับก่อน เอาไปขังอยู่อีกที่หนึ่ง ผมโดนจับคนสุดท้าย” กงเล่าย้อนวันที่โดนบุกจับ “ผมตกใจ ไม่คิดไม่ฝันว่าเขาจะบุกเข้ามาได้ขนาดนี้แล้วจับตัวเราไป”

โซเชียลมีเดียเผยแพร่ภาพวิดีโอขณะที่กลุ่มฮามาสล็อกคอ ล็อกแขน ทุบตีกง แล้วลากตัวขึ้นมอเตอร์ไซค์ไป โดยมีคนถืออาวุธปืนคุมตัว

กงถูกนำตัวไปคุมขังไว้ในเขตกาซา ซึ่งกงไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ตรงไหน เพราะเขาโดนปิดตาตลอดเวลา และโดนมัดแขนมัดขาไว้ในช่วงแรก

“ตอนแรก ๆ กลัวมาก เพราะเราไม่รู้ใจเขา เขาก็ไม่รู้ใจเรา เราก็คิดว่าเราจะมีชีวิตรอดกลับบ้านไหมนะ แล้วก็คิดว่าสงสัยเราจะไม่รอดกลับมาแล้ว แต่หลังจากนั้นเขาดีกับเรา เราก็มีความหวังว่าอาจจะมีโอกาสได้กลับบ้านอยู่” กงกล่าวกับเบนาร์นิวส์

000_34NU3DX.jpg

ชายรายหนึ่งยืนอยู่ข้างซากปรักหักพังของอาคารที่ถูกทำลายในเมืองคาน ยูนิส วันที่ 7 เมษายน 2567 หลังจากอิสราเอลถอนกำลังทหารออกจากภาคใต้ของแถบกาซา ท่ามกลางสงครามที่ยาวนาน 6 เดือน เริ่มต้นจากการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 (เอเอฟพี)

กงเล่าว่า กลุ่มคนที่จับตัวเขาไปเป็นคนละกลุ่มกับคนที่ควบคุมตัวเขา คนที่ควบคุมตัวเขาดีกับเขามาก พยายามชวนคุย ทำกับข้าวให้กิน หายาให้กินช่วงที่กงไม่สบาย และปกป้องเขาเวลาที่มีระเบิดลงหนัก ๆ

“ผมโชคดี ผมได้กินข้าวหมกไก่ บางครั้งเป็นสลัดผัก ใส่แตงกวา พริกหยวก บางมื้อเป็นขนมปังจิ้มเนยหรือชีส เป็นอาหารของเขาที่แบ่งมาให้ผมกิน แต่มันไม่เยอะเพราะเป็นช่วงสงคราม อาหารเขาเริ่มขาดแคลน” กงกล่าว “ยิ่งเวลาระเบิดลงหนัก ๆ เขาก็จะพาเราไปหลบในที่กำบังที่ปลอดภัย คอยเซฟเรา ไม่ให้เราต้องเสียชีวิต”

กงบอกว่าคนที่คุมตัวเขาปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นคนกันเอง มีการพูดคุยกัน แสดงน้ำใจกัน ทำให้กงรู้สึกผ่อนคลาย และสบายใจขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่ง คนที่คุมตัวกงบอกเขาว่า “คุณจะได้กลับบ้านพรุ่งนี้”

รอดจากหลุมดำแห่งความตาย

กงเล่าว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในกาซา เขาอยู่ในสภาพไม่รู้เหนือไม่รู้ใต้ บางวันมีการทิ้งระเบิดบริเวณที่กงถูกคุมตัวอยู่อย่างหนัก “เป็นช่วงเวลาที่เครียดที่สุดในชีวิต ปวดหัวมากเหมือนเป็นไมเกรน”

กงบอกว่า เขาไม่รู้เลยว่ามีความพยายามในการเจรจาช่วยเหลือตัวประกัน จนเขาคิดว่าเขาอาจจะไม่มีชีวิตรอด กระทั่งวันหนึ่งคนที่ควบคุมตัวเขาบอกกับเขาว่า เขาจะได้กลับบ้านในวันพรุ่งนี้ แต่ก็ยังไม่ได้กลับ อีกวันก็ยังไม่ได้กลับ เป็นแบบนี้อยู่หลายวัน

“เขาบอกผมว่าไม่ต้องกังวล พรุ่งนี้คุณได้กลับบ้านแน่นอน ไทยแลนด์ดี เราไม่ทำร้ายคนไทย” กง ระบุข้อความที่ได้ยิน

“ผมไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างนอกเป็นอย่างไร ผมไม่เหมารวมว่าทุกคนเป็นคนเลว เพราะคนที่ดูแลผมเขาก็เป็นคนดี เขาเองก็ไม่อยากให้เรามาอยู่จุดนี้หรอกแต่เป็นหน้าที่ของเขา ผมก็ขอให้เขาเจอแต่สิ่งดี ๆ และปลอดภัย”

“วันที่ผมได้ออกจริง ๆ เขาเลี้ยงอาหารผม เขากอดผม บอกผมว่าให้ไปกับคนพวกนี้ ผมจะปลอดภัย คนพวกนี้จะส่งผมกลับบ้านแน่นอน ไม่ต้องกลัว” กงระบุ

จากนั้น กงถูกปิดตา แล้วถูกนำไปส่งให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่จะนำกงไปรอที่จุดนัดหมายเพื่อรับตัว

เมื่อถึงจุดนัดหมาย กงถูกปล่อยตัว และเปิดตา ภาพแรกที่เห็นตรงหน้าคือ เจ้าหน้าที่พยาบาล และรถยูเอ็น (UN) จอดรอรับเขาอยู่

“เหมือนกับว่าเราออกจากหลุมดำที่ว่าเป็นหลุมแห่งความตายมาแล้ว และเราได้เกิดใหม่แล้ว ก็ดีใจมาก แฮปปี้มาก” กง พูดพร้อมรอยยิ้มกว้างบนใบหน้า ตามมาด้วยเสียงหัวเราะ “ผมอธิบายความรู้สึกนั้นไม่ถูก มันดีใจ”

“ตอนที่นั่งรถไปกับ UN ผมคิดแค่ว่าผมจะได้กลับไปกอดเมียแล้ว แต่อีกใจก็คิดว่าผมจะทำยังไงให้เขาสบายใจ ทำยังไงให้เขาไม่ยากจน” กง กล่าวย้อนถึงความกังวลในใจ

กงถูกนำตัวไปพักฟื้นและทานอาหารเล็กน้อยที่ประเทศอียิปต์ ก่อนจะถูกส่งตัวไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลชาเมียร์ ในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล จากนั้นกงก็วิดีโอคอลไปหาภรรยาทันที

“หนูตื่นเต้นมาก จำไม่ได้ว่าพูดอะไรบ้าง มันเยอะแยะไปหมด เขาร้องไห้ หนูก็ร้องให้ ถามเขาว่าสบายดีไหม เขาก็ตอบว่าสบายดี หนูบอกเขาว่าคิดถึงนะ” ฟ้าร้องให้ ขณะบอกเล่าเรื่องราว

“ผมบอกเขาว่า ไม่ต้องร้องให้นะ ผมปลอดภัยแล้ว ทำตัวให้แข็งแรงแล้วอยู่กับอนาคตต่อไปดีกว่า” กงพูดพร้อมหันไปยิ้มให้ภรรยา

ต้นเดือนธันวาคม กงเป็นตัวประกันชาวไทยชุดสุดท้ายที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศระบุยอดรวมตัวประกันชาวไทยได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้วทั้งหมด 23 คน และยังมีตัวประกันชาวไทยที่ยังถูกจับกุมตัวโดยไม่ทราบชะตากรรมอีก 8 คน

ข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่ามีแรงงานไทยทำงานในอิสราเอลอยู่เกือบ 30,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานในภาคการเกษตร และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ แต่ภายหลังการสู้รบมีแรงงานไทยได้รับความช่วยเหลือให้กลับประเทศจำนวน 15,000 คน

หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีแรงงานอีกจำนวนหนึ่งเดินทางกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีก โดยไม่ผ่านกระทรวงแรงงาน ในขณะที่มีแรงงานอีกประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ แจ้งความจำนงขอกลับไปทำงานที่อิสราเอลเมื่อสถานการณ์สงบ ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดเวลาที่ชัดเจนได้

ชีวิตมีค่ากว่าทรัพย์สินอื่นใด

ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กงใช้เวลาตอนเช้าในการให้อาหารไก่ ช่วยภรรยาทำงานบ้าน และออกไปทำงานในไร่ข้าวโพด

เดือนที่ผ่านมา กงเดินทางไปที่กรมการจัดหางาน เพื่อลงทะเบียนหางานด้านการเกษตรในต่างประเทศ แต่คงไม่กลับไปทำงานที่อิสราเอลอีกแล้ว

“ที่ผ่านมาดวงเรายังไม่ถึงฆาต เส้นด้ายชีวิตเรายังไม่ขาดเราเลยได้กลับมา แต่ถ้ากลับไปอีกอาจไม่ได้กลับมาแล้ว เพราะชีวิตมันไม่แน่นอนเลย” กงบอก

240402_03 (1).jpg

กง แซ่เล่า ใช้เวลาตอนเช้าช่วยภรรยาให้อาหารไก่ ก่อนไปทำงานในไร่ข้าวโพด วันที่ 29 มกราคม 2567 (วิลาวรรณ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์)

ในเดือนพฤศจิกายน 2565 กงเดินทางออกจากประเทศไทยไปทำงานในไร่มันสำปะหลัง มีรายได้ประมาณ 40,000 บาท จากนั้นเขาย้ายไปทำงานในสวนอะโวคาโด ได้เงินเดือน 50,000 บาท กงส่งเงินทั้งหมดให้ภรรยาเพื่อใช้หนี้จำนวน 130,000 บาท ที่เขากู้มาเพื่อใช้ในการเดินทาง และยังมีหนี้ที่กู้มาซื้อรถกระบะอีกจำนวนหนึ่ง

“ผมวางแผนว่า ปีแรกจะทำงานใช้หนี้ให้หมด แล้วปีที่สองจะเก็บเงินสร้างบ้าน ปีที่สามจะกลับมาพัก แล้วค่อยไปทำต่ออีก 2 ปี แต่มันไม่เป็นไปตามที่ฝัน” กงกล่าว “เงินที่ยืมญาติไปทำงานจ่ายคืนไปหมดแล้ว เหลือหนี้รถที่ติดไฟแนนซ์อีก 200,000 กว่าบาท”

กงและฟ้า มีความฝันว่าอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะตอนนี้อาศัยบ้านแม่ยายอยู่ และนั่นเป็นสาเหตุในการตัดสินใจไปทำงานที่อิสราเอลในตอนแรก

“ชีวิตผมมันยากจน ผมไปทำงานที่โน่นเพราะอยากให้เขาสบาย ได้มีเงินใช้ซื้อของที่เขาต้องการ ผมสงสารเขา ไม่อยากให้เขาต้องยากจน” กงกล่าว

“เราอาจจะเคยฝันว่าอยากมีบ้านดี ๆ รถดี ๆ เหมือนคนอื่นเขา แต่ตอนนี้ขอเป็นบ้านก็พอแล้ว ชีวิตมันมีค่า รักษาชีวิตคนที่เรารักไว้สำคัญที่สุด” ฟ้ากล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง