นายกฯ ประกาศยุบสภาแล้ว
2023.03.20
กรุงเทพฯ
ในวันจันทร์นี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุบสภาแล้วเป็นการเริ่มการเคาท์ดาวน์สู่การเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ตามคำกราบบังคมทูลฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ ในตอนบ่ายวันนี้ และมีผลบังคับใช้ในทันที
“ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 และบัดนี้ได้ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีที่สี่ อันเป็นปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็วเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง” ตอนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกา ซึ่งสนองพระบรมราชโองการโดย พล.อ. ประยุทธ์ ระบุ
จากนี้ ภายใน 5 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป และวันสมัครรับเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา โดยการเลือกตั้งหลังจากนั้นไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน หลังการยุบสภา ขณะที่ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายใน 30 วัน
ในวันเดียวกันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนคาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 7 หรือ 14 พฤษภาคม นี้ แต่รัฐบาลต้องปรึกษากับทางคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
หลังการประกาศยุบสภา พล.อ. ประยุทธ์ ได้ถ่ายรูปกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล และกล่าวขอบคุณผู้สื่อข่าวว่า “ขอบคุณมากนะ ขอบคุณทุกคน เราคงต้องอยู่ด้วยกันอีกซักพัก... ถ้าเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย ผมไม่เสียใจอยู่แล้ว ผมยังเป็นคนเดิม"
การยุบสภาเกิดขึ้นในขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์มีคะแนนนิยมตกต่ำเมื่อเทียบกับพรรคที่เรียกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย จากการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า - NIDA)
แพทองธาร ชินวัตร ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย (ซ้าย) พูดคุยกับเพื่อนสมาชิกพรรคหลังการประชุมพรรคที่สำนักงานใหญ่ พรรคเพื่อไทย ในกรุงเทพฯ วันที่ 9 มีนาคม 2566 [ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี]
ในโพลที่สำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน ที่อัพเดตล่าสุดเมื่อวานนี้ น.ส. แพทองธาร (ชินวัตร) พรรคเพื่อไทย ได้รับความนิยมอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 38.20 เปอร์เซ็นต์ ทิ้งห่าง พล.อ. ประยุทธ์ ตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งตามมาเป็นอันดับ 3 ที่ได้รับคะแนน 15.65 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพรรคยอดนิยมเป็นพรรคเพื่อไทยที่ได้รับคะแนนเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรค
ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ มีประชาชนกว่า 52 ล้านคน มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร โดย ส.ส. จะแบ่งเป็น 400 คน จากการลงสมัครแบบแบ่งเขต และ 100 คน จากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีบัตรลงคะแนน 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง อีกใบเลือก ส.ส. เขต
หลังจากได้ ส.ส. 500 คนแล้ว จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้ ส.ส. เลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ว. 250 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำรัฐประหารมาในปี 2557 โดยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อปี 2562 ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลพร้อมใจกันเลือก พล.อ. ประยุทธ์ อดีตหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ของตัวเอง
ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ. ประยุทธ์ ให้นับจากปี 2560 ที่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งหมายความว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงเดือนเมษายน 2568
ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เชื่อว่าแม้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ย้ายออกจากพลังประชารัฐไปร่วมกับรวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ แต่ขั้วอำนาจทางการเมืองจะยังไม่เปลี่ยนแปลง
“ผลการเลือกตั้งครั้งหน้า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมน่าจะยังได้ตั้งรัฐบาล เพราะแม้ว่าพลังประชารัฐกับรวมไทยสร้างชาติแยกกัน แต่ทั้งคู่ถือเป็นพรรคสายทหาร ที่ร่วมกันยึดอำนาจมา มี ส.ว. ในมือ คะแนนนิยมที่ลดลงของประยุทธ์ในตอนนี้ ไม่ได้มีนัยสำคัญเพียงพอที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนขั้วอำนาจหลังการเลือกตั้ง เพื่อไทยเองก็ไม่น่าได้เสียงมากพอจะตั้งรัฐบาล” ดร.ฐิติพล กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ด้านนายสมชัย แสนอิน นักธุรกิจ ในจังหวัดสงขลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองเบื่อหน่ายกับความวุ่นวายทางการเมือง และเห็นว่าการรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้จริง
“ไม่เอาแล้วรัฐประหาร ผมอยากได้รัฐบาลที่โปร่งใสมาบริหารประเทศ และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาทุจริต แล้วก็ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น” นายสมชัย อายุ 55 ปี กล่าว
ทั้งนี้ หลังยุบสภา ครม. ชุดปัจจุบัน จะมีสถานะเป็น ครม. รักษาการ ซึ่งมีข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่คือ 1. ห้ามอนุมัติงานหรือโครงการ ที่มีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป 2. ห้ามแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ 3. ห้ามอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และ 4. ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการอันใดที่อาจมีผลต่อการเลือกตั้ง
มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพ ร่วมรายงาน