ไทยแสวงหาความร่วมมือต่างประเทศจับแก๊งค้ามนุษย์ข้ามชาติ
2023.01.31
กรุงเทพฯ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งพบว่ามีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ขณะที่รัฐบาลไทยพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาปรับประเทศไทยไปอยู่ใน Tier 1 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์
เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 (Trafficking in Persons Report - TIP) โดยระบุว่า สหรัฐฯ เห็นความพยายามของรัฐบาลไทย จึงยกระดับจากกลุ่มที่ 2 เฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) ขึ้นเป็นกลุ่มที่ 2 แต่กลุ่มเอ็นจีโอและองค์นานาชาติแย้งว่า ประเทศไทยล้มเหลวในการดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำในการกำจัดการค้ามนุษย์ มีการข่มเหงเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างชาติ
ในวันนี้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานต่อต้านยาเสพติดและอาชญากรรมต่างประเทศประจำประเทศไทย (Foreign Anti-Narcotics and Crime Community of Thailand - FANC) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนของผู้บังคับใช้กฎหมายจากสถานทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ทั้งจากทวีปยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการปราบปราบการค้ามนุษย์ที่มีพัฒนาการเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และนำตัวคนร้ายหรือหัวหน้าขบวนการที่อยู่นอกประเทศมาดำเนินคดีลงโทษตามกระบวนการกฎหมายไทย
“วันนี้ ในอาชญากรรมเหล่านี้ การจับกุมในประเทศไทยอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ หรือการจับกุมในประเทศท่านอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การจับกุมที่ได้แก้ไขได้อย่างสัมฤทธิ์ผลต้องจับกุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุม
“ถ้าจับกุมในประเทศไทยอย่างเดียว จะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง นำมาซึ่งความร่วมมือผ่านแดน และกลุ่ม FANC ที่ต้องร่วมมือกันในวันนี้” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม
ในการประชุมวันนี้ เป็นการเปิดเผยรายงานความก้าวหน้าการบังคับใช้กฎหมายในคดีค้ามนุษย์ในประเทศไทย โดย ในปี 2565 พบว่ามีผู้กระทำความผิด 469 คน และแม้ว่าส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่ก็มีผู้ต้องหาที่มีสัญชาติอื่น ๆ กว่าสิบสัญชาติ เช่น จีน 20 คน, กัมพูชา, เมียนมา, อินเดีย, ออสเตรีย เป็นต้น
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้ พบว่าคนไทยถูกหลอกลวงและบังคับให้ค้ามนุษย์อยู่ในประเทศกัมพูชาจำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมาทางการไทยสามารถช่วยคนไทยให้กลับมาประเทศไทยแล้วประมาณ 1,700 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นทั้งเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และผู้ต้องหาคดีคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีคนไทยที่โดนบังคับ หลอกลวงในประเทศกัมพูชา รอการช่วยเหลืออีกกว่า 2,000 คน
“วันนี้ เจ้าหน้ารัฐในกัมพูชามีการคอร์รัปชันสูง ยังมีความร่วมมือกับแก๊งพวกนี้อยู่ เพราะยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ยังร่วมมือกับแก๊งพวกนี้อยู่ การจะปราบให้หมดต้องมีความจริงใจ เหมือนเมืองไทยก็ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้ความร่วมมือกับจีนเทาอยู่เหมือนกัน วันนี้ทุกประเทศต้องร่วมมือกันและปราบคนพวกนี้ให้ได้ ขบวนการนี้ถึงจะสิ้นซาก” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์
“อาชญากรรมประเภทนี้ อาศัยหลอกทาง ออนไลน์ เฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดีย แต่ตัวหัวหน้าขบวนการคือคนจีนที่ไปตั้งฐานอยู่ในประเทศกัมพูชา และอาศัยประเทศกัมพูชาเป็นฐาน” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ระบุ
รายงานระบุด้วยว่า ในปี 2565 เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินคดีข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ทั้งทางวินัยและอาญาได้ถึง 35 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 26 นาย ทหาร 1 นาย ส่วนที่เหลือเป็นข้าราชการส่วนอื่น ๆ ขณะที่ดำเนินคดีข้าราชการในข้อหาเดียวกันในปี 2564 ได้ 17 นาย และในระหว่างปี 2556 ถึง 2563 มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกตัดสินจำคุกแล้ว 42 คน
ในส่วนผู้ต้องหาข้ามชาตินั้น พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวกับที่ประชุมว่า ขณะนี้ทางการไทยได้ออกหมายจับอินเตอร์โพลล์ที่เป็นหมายแดงจำนวนมาก บางส่วนทราบพิกัดสถานที่ชัดเจน บางส่วนไม่ทราบพิกัด และกำลังกวาดล้างผู้ต้องหาที่อยู่ต่างแดนเพื่อเอามาลงโทษตามกระบวนการกฎหมายไทย ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทุกท่านในที่ประชุมนี้ในการติดตามตัว
“วันนี้เราต้องร่วมกันหลายส่วน กลุ่ม FANC ก็เป็นส่วนหนึ่ง และเรายังมีความร่วมมือผ่านแดนต่าง ๆ แบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ด้าน นายดันแคน เบอร์ราจ ประธานหน่วยงานต่อต้านยาเสพติดและอาชญากรรมต่างประเทศประจำประเทศไทย กล่าวว่า การค้ามนุษย์เป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และยังกระทบต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในประเทศอื่น ๆ ด้วย
“ถือว่ามันเป็นอาชญากรรมเชิงซ้อน เพราะมันเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเหยื่อในประเทศของเรา เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินที่ใช้ในการก่ออาชญากรรมและการค้ามนุษย์ที่ผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อ” นายดันแคน กล่าว พร้อมสนับสนุนไทยในการขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน
ข้อคิดเห็นจากเอ็นจีโอ
ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวเสนอแนะว่า กระทรวงแรงงานและมหาดไทย จำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือให้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และนำแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้าสู่ระบบเพื่อให้เขาได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์โควิดและการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ทำให้มีแรงงานจำนวนมากเข้ามาหางานในประเทศไทย และตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์หรือถูกหาประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“พูดตามตรง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรู้ได้ว่าแรงงานเหล่านั้นเข้ามาอยู่ที่ไหนและสามารถเข้าไปเรียกรับผลประโยชน์ได้ถึงที่ ซึ่งก็น่าตลกที่ระบบการเรียกรับผลประโยชน์แบบนี้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก แต่กลับไม่สามารถเอาแรงงานเข้าสู่ระบบและมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ไม่แพงเกินไปได้” ปฏิมา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ปฏิมา ยังเสนอแนะว่า ให้ทางการไทยประสานกับต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่ปัจจุบันตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ทางเทคโนโลยี เช่น ไปทำคอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศ ถูกกักขัง เรียกค่าไถ่ หรือใช้ทำงานผิดกฎหมาย
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพ ร่วมรายงาน