อาเซียนได้แต่งตั้งทูตพิเศษประจำเมียนมา หลังจากมีข้อตกลง 102 วัน
2021.08.04
จาการ์ตา
ท่ามกลางการหารือกันอย่างดุเดือดเกี่ยวกับแถลงการณ์สำหรับประเด็นนี้ ในที่สุดเมื่อวันพุธ อาเซียนก็ได้แต่งตั้ง รมว.ต่างประเทศของบรูไน เป็นทูตพิเศษประจำเมียนมา ใช้เวลากว่า 100 วัน หลังจากที่อาเซียนตกลงที่จะส่งทูตไปเมียนมา เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตหลังเกิดรัฐประหารที่นั่น
นักวิเคราะห์และนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนต่างกังขาเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลำดับที่สองของบรูไน โดยอ้างว่าเขาไร้ประสิทธิภาพและขาดความโปร่งใสในการจัดการกับเมียนมา ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้
แถลงการณ์ร่วมที่ออกมาสองวันหลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกล่าวว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มอบหมายให้ นายเอรีวัน ยูซอฟ ดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่อาเซียนได้ตกลงกันไว้ในการประชุมที่กรุงจาการ์ตา เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อหารือถึงการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.
นายเอรีวัน “จะเริ่มภารกิจของเขาในเมียนมา รวมถึงการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นด้วยการเข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ และการให้กำหนดเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อต่อหน้าที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ โดยเอ่ยถึงการประชุมที่กำหนดให้มีขึ้นในเดือนกันยายนนี้
นายเอรีวัน ยูซอฟ เป็นหนึ่งในสองเจ้าหน้าที่อาเซียนของบรูไนที่ไปเยือนกรุงเนปิดอว์ เมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อพบกับผู้นำรัฐประหารในเมียนมา และเสนอรายชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งทูตพิเศษให้แก่เขา หลายคนมองว่าเจ้าหน้าที่สองคนนี้เป็นต้นเหตุของแถลงการณ์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งออกมาหลังจากการพบกันครั้งนั้น ต่อมาอาเซียนได้ลบแถลงการณ์นั้นออกจากเว็บไซต์อาเซียน
แถลงการณ์ที่ว่านั้นเอ่ยถึง พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย โดยใช้ตำแหน่ง ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ ที่เขาตั้งให้กับตนเอง
แถลงการณ์ของอาเซียน ไม่ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนชาวเมียนมา ผู้ที่รัฐบาลของเธอถูกกองทัพทหารเมียนมาโค่นล้ม อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์นั้นได้ระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน “ได้ยินคำเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง รวมถึงชาวต่างชาติด้วย”
แถลงการณ์ฉบับนั้นยัง “แสดงความกังวล” ต่อ“การเสียชีวิตและความรุนแรง” ในเมียนมาด้วย
นับตั้งแต่ที่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ประชาชนจำนวนกว่า 900 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงของเมียนมา
การแต่งตั้งทูตพิเศษของอาเซียนนี้ ทำขึ้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกากล่าวว่า อาเซียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งให้มีการเริ่มการเจรจาและลดความรุนแรงในเมียนมา เพราะขณะนี้ พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ได้แต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ ว และประกาศว่าจะไม่มีการเลือกตั้งจนถึงปี 2566
ในการประชุมเมื่อเดือนเมษายน บรรดาผู้นำอาเซียน รวมทั้ง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ตกลงที่จะให้มีการแต่งตั้งทูตพิเศษประจำเมียนมา การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่าย และการให้ทูตพิเศษอาเซียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการเจรจาดังกล่าว ขณะที่ผู้นำอาเซียนเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมา
แต่ความเห็นที่แตกต่างกันของเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้การดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้ล่าช้าออกไป
ประเด็นที่ “เป็นที่โต้เถียงกัน” เหล่านี้ ยังคงปรากฏอยู่ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันจันทร์ จนทำให้อาเซียนออกแถลงการณ์ล่าช้า นายซิดฮาร์โต ซูร์โยดีปูโร อธิบดีกรมความร่วมมือกับอาเซียน สังกัดกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าว
“ย่อหน้าสุดท้ายที่ทำให้การตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสม [ของแถลงการณ์] เป็นไปอย่างล่าช้า เป็นเรื่องเกี่ยวกับเมียนมา” เขาบอกในการแถลงข่าว
ในที่สุด แถลงการณ์ฉบับนั้นก็คลอดออกมาเมื่อวันพุธ หลังจากการประชุมที่ไม่ได้มีกำหนดไว้ล่วงหน้า
'โล่งอกไปที'
นายซิดฮาร์โต ซูร์โยดีปูโร ของอินโดนีเซีย กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้ว สมาชิกอาเซียนทั้งหมดยืนยันที่จะสนับสนุนนายเอรีวัน ยูซอฟ ในฐานะทูตพิเศษ เขายังกล่าวอีกว่า มี “ความมุ่งมั่นอย่างหนักแน่น” ที่ทูตพิเศษดังกล่าว “จะเข้าถึงทุกฝ่ายในเมียนมาได้อย่างเต็มที่”
การตัดสินใจทั้งหมดในอาเซียนทำโดยฉันทานุมัติ ซึ่งหมายความว่ารัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ได้ยินยอมที่จะให้เข้าถึงทุกฝ่ายได้
แต่รัฐบาลทหารเคยละเมิดฉันทานุมัตินั้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ดังที่เห็นหลังจากการประชุมอาเซียนในเดือนเมษายน เมื่อพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า เขาจะดำเนินการตามข้อตกลง 5 ข้อ เมื่อความรุนแรงยุติลง
ทัน โซ เนง นักวิเคราะห์การเมืองชาวพม่า ตั้งข้อสังเกตว่า สภาทหารเมียนมาได้จำคุกเกือบทุกคนที่อาเซียนจำเป็นต้องเจรจาด้วย
“สภาทหารได้จำคุกทุกคนที่เกี่ยวข้อง และยื่นฟ้องบุคคลเหล่านั้นหลายข้อหา ทัน โซ เนง บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชียประจำเมียนมา หน่วยงานในสังกัดเดียวกันกับเบนาร์นิวส์
“ใครจะเจรจากับ [อาเซียน] ล่ะ อาเซียนอาจยื่นข้อเสนอให้ แต่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้เพิกเฉยต่อข้อเสนอเหล่านั้นทั้งหมด โดยอ้างว่าจะต้องให้ประเทศมีเสถียรภาพก่อน”
แต่นายซิดฮาร์โตกล่าวว่า บรรดารัฐมนตรีประเทศสมาชิกอาเซียนต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า ต้องดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อนั้น “อย่างเร่งด่วน” และ “โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ”
เขายังกล่าวด้วยว่า แถลงการณ์ร่วมนั้นไม่ถือเป็นการยอมรับรัฐบาลทหารในเมียนมา
“นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เอกสารทางการของ [อาเซียน] ทุกฉบับเริ่มต้นด้วยคำว่า “การประชุม…..” ไม่ใช่คำว่า “เราในฐานะรัฐมนตรี” นายซิดฮาร์โตกล่าว
เขาชี้ให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของนายวันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมาที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ในการประชุมวันจันทร์ บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวพม่าได้ประณามการอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เอริค พอลเซน ผู้แทนของมาเลเซียประจำคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวในทวิตเตอร์ว่า “โล่งอกไปทีที่ในที่สุดแล้ว ทูตพิเศษประจำเมียนมาก็ได้รับการแต่งตั้งเสียที”
‘บรูไนขาดความโปร่งใส’
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชื่อว่า ทูตอาเซียนประจำเมียนมาจะสามารถทำให้เกิดความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมในการนำพาเมียนมาให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ
ซัคคารี อาบูซา คอลัมนิสต์ของเบนาร์นิวส์ นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ทูตพิเศษได้รับการแต่งตั้งแล้ว “แต่มีความคาดหวังต่ำมาก”
“จากนั้น ก็ลดความคาดหวังลงไปอีก จากนั้น ก็เริ่มหยุดคาดหวัง” ซัคคารีกล่าวในทวิตเตอร์
นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย และสมาชิกบริหารของรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) กล่าวถึงการพบปะกันเมื่อเดือนพฤษภาคม ระหว่างนายเอรีวันและผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมา และแถลงการณ์ที่ออกมาหลังจากการพบปะกันนั้น
“พวกเราอย่าลืมว่า ในฐานะผู้แทนของประธานอาเซียน จนถึงขณะนี้ รัฐมนตรีท่านนั้นก็ยังไม่สามารถดำเนินการตอบสนองตามข้อตกลงของอาเซียนอย่างได้ผล รวมถึงคณะผู้แทนที่เดินทางไปยังเมียนมาเมื่อเดือนมิถุนายนด้วย ซึ่งในระหว่างนั้นเขาไม่เพียงพบกับรัฐบาลทหารเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังได้ส่งเสริมเรื่องที่รัฐบาลทหารบอกเรื่องการเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นด้วย” นายกษิตกล่าวในถ้อยแถลงฉบับหนึ่ง
“เป็นเรื่องน่าตกใจเช่นกันที่รัฐมนตรีของประเทศที่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้โน้มน้าวกองทัพที่โหดเหี้ยม ให้เคารพหลักการเหล่านี้” บรูไนเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ลินา อเล็กซานดรา นักวิเคราะห์อีกรายหนึ่ง ซึ่งเป็นนักวิจัยอาวุโสด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประจำยุทธศาสตร์ศึกษาและรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Centre for Strategic and International Studies: CSIS) ในกรุงจาการ์ตา เตือนว่า อย่าคาดหวังสูง ด้วยเหตุผลที่คล้ายกัน
“บรูไนขาดความโปร่งใสต่อเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศคนอื่น ๆ เกี่ยวกับการไปเยือนกรุงเนปิดอว์ [เมื่อเดือนพฤษภาคม] และจนถึงกระบวนการแต่งตั้งทูตพิเศษประจำเมียนมา” เธอบอกกับเบนาร์นิวส์
“ดูเหมือนบรูไนจะประนีประนอมมากเกินไปกับกองทัพเมียนมา ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาที่นั่น”
ดินนา ปราบโต ราฮาร์จา ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Synergy Policies สถาบันวิเคราะห์นโยบายแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า นายเอรีวัน ยูซอฟ ได้รับเลือกให้เป็นทูตพิเศษประจำเมียนมา เพื่อสยบความไม่พอใจของสมาชิกอาเซียนที่ไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน
“เขาได้รับเลือกไม่ใช่เพราะความสามารถของเขาในการจัดการกับประเด็นที่ซับซ้อนในเมียนมา แต่เพราะให้มาจัดการกับสมาชิกอื่น ๆ ของอาเซียนที่ไม่ใส่ใจเท่าใดนักในความพยายามเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือที่ปฏิเสธมาโดยตลอดที่จะพยายามหาทางแก้ไขในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” เธอบอกกับเบนาร์นิวส์
ดินนาไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศใดโดยเฉพาะ แต่ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เป็นประเทศที่มีระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว และบรูไนเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบสุลต่าน
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำของไทย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากที่เขานำการก่อรัฐประหาร ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี พ.ศ. 2557 เขายังคงตำแหน่งนี้ไว้หลังการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562 ซึ่งพรรคฝ่ายค้านมองว่าถูกกำหนดไว้แล้วให้ฝ่ายทหารเป็นผู้ชนะ
ลินา อเล็กซานดรา จาก CSIS สงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อบรูไนสิ้นสุดวาระการเป็นประธานอาเซียนลงในอีกห้าเดือนนี้ และกัมพูชาจะขึ้นเป็นประธานแทน เธอถามขึ้นมาว่า “จะมีการเปลี่ยนตัวทูตพิเศษหรือไม่ [ในตอนนั้น]”