ไทยประสานส่งเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์อินโดนีเซีย 84 คน กลับประเทศ
2025.02.27
กรุงเทพฯ
ไทยประสานส่งตัวเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวอินโดนีเซีย 84 คน จากเมียวดี ประเทศเมียนมา เพื่อดำเนินการส่งต่อให้สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ดำเนินการส่งกลับประเทศแล้ว ด้านนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยได้ประสานส่งกลับเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ไปแล้วร่วม 800 คน และคาดว่ายังเหลืออีกร่วม 10,000 คน ที่ตกค้างอยู่
หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องนี้เปิดเผยว่า ได้รับตัวชาวอินโดนีเซียทั้งหมดจากเมียนมา เข้าสู่กระบวนการคัดกรองเบื้องต้น ก่อนส่งต่อให้กับ ตัวแทนของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย
“หน่วยเฉพาะกิจราชมนูกองกำลังนเรศวรจัดระเบียบ ดูแลความปลอดภัย นำตัวเข้าสู่กระบวนการคัดกรองโรค โดยทีมแพทย์จากสาธารณสุข จ.ตาก หลังจากนั้นนำพาไปเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตาก เสร็จแล้วนำตัวเข้าสู่กระบวน NRM (National Referral Mechanism - กลไกการส่งต่อระดับชาติ) แบบย่อ” แถลงของหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ระบุ
ข้อมูลระบุว่า เมื่อเวลา 10.30 รถบัสเช่าเหมาของสถานทูตอินโดนีเชีย 2 คัน ได้ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ไปยังพื้นที่ควบคุมตัวบุคคลสัญชาติอินโดนีเชีย ในเมียวดี ก่อนที่จะนำคนอินโดนีเซีย 84 คน กลับมายังประเทศไทยเข้ากระบวนคัดกรองของไทย
“ขั้นตอนสุดท้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับศุลกากร เอ็กซเรย์กระเป๋าตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมายและสิ่งของต้องห้าม หลังจากจบกระบวนการแล้ว บุคคลชาวต่างชาติจะเข้าที่พักคอยจนถึงเวลา 19:00 น. แล้วจะออกจากสะพาน 2 ไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง” แถลงตอนหนึ่ง ระบุ
ก่อนหน้านี้ ไทยประสานกับรัฐบาลจีนเพื่อส่งชาวจีนจากพื้นที่คอลเซ็นเตอร์ในเมียวดีกลับจีน โดยใช้เวลาระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ. 2568 รวม 621 คน โดยรัฐบาลไทยได้ประกาศให้สถานเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ที่ประสานเข้ามาเพื่อขอรับตัวคนสัญชาติของตัวเองกลับประเทศเช่นกัน
การส่งเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์จากเมียนมากลับประเทศครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ นายหวัง ซิง (ซิงซิง) นักแสดงชาวจีน ถูกล่อลวงให้มารับงานแสดงในประเทศไทย และลักพาตัวต่อไปใช้งานในพื้นที่สีเทาในเมียนมา ใกล้ชายแดน อ.แม่สอด กลายเป็นข่าวโด่งดังทั้งในประเทศจีนและไทย เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนจากเมียนมาถูกส่งกลับประเทศแล้ววันนี้
ภูมิธรรม ลงพื้นที่แม่สอด รับเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ 61 คน กลับจากเมียนมา
กฟภ. ตัดไฟฟ้าสแกมเซ็นเตอร์เมียนมาแล้ว 5 จุด
ในครั้งนั้น รัฐบาลไทยได้ประสานกับฝ่ายเมียนมา กระทั่งสามารถช่วยเหลือ นายหวัง ซิง กลับจากเมียนมาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ในปลายเดือน ม.ค. นายหลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ จีน เดินทางมาเยือนไทย ประสานงานให้เกิดการปราบปรามและส่งกลับ
เร่งปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์เต็มที่
ด้าน น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการตอบกระทู้สดของสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลจะยังเดินหน้าปราบปรามขบวนการคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงร่วมมือกับนานาชาติในการส่งเหยื่อกลับประเทศ
“การทำลายฐานที่มั่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างการตัดไฟ หยุดส่งน้ำมัน ในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา เราให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก สำหรับผู้ต้องสงสัยที่มีการจับกุมมาได้นั้น เราได้มีการคัดกรอง และส่งตัวเข้ากระบวนการทางกฎหมาย โดยกำหนดกลไกการคัดกรองอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลติดตามระมัดระวังต่อไปในอนาคต” น.ส. แพทองธาร กล่าว
นายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลว่า การตัดไฟฟ้า และพลังงานจากฝั่งไทยส่งผลให้ในพื้นที่เมียวดีมีความขาดแคลนพลังงาน จนต้องมีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง 119,800 ลิตร ในราคาสูง ขณะเดียวกันเองไทยก็ดำเนินการป้องกันการลักลอบขายน้ำมันข้ามไปเช่นกันโดยสามารถจับกุมได้ถึง 17 ครั้ง ปริมาณร่วม 8,000 ลิตร

“เราได้รับรายงานว่ากลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ บางบริษัทได้ปิดตัวและลดขนาดลง เนื่องจากไม่สะดวกทำแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว มีการส่งตัวชาวต่างชาติที่ถูกชักชวนไปให้ทำงานผิดกฎหมาย กลับมายังประเทศไทย ไทยก็ช่วยกันส่งกลับประเทศต้นทาง ปัจจุบัน ส่งเหยื่อกลับไปประมาณ 800 คน จากตัวเลขคาดการณ์จะมีการส่งเหยื่อกลับ 7,000-10,000 คน เราจึงต้องเตรียมความพร้อม และส่งกลับให้เร็ว” นายกรัฐมนตรี ระบุ
ธุรกิจผิดกฎหมาย และการล่อลวงคนไปทำงานในเมียนมารุนแรงขึ้นหลังจากเกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ ก.พ. 2564 โดยเฉพาะในพื้นที่เมียวดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยาไถ ชเวโก๊กโก ของบริษัท ยาไถ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิง กรุ๊ป ของจีน และบริษัท ชิด ลิน เมียง ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริการะบุว่า เป็นศูนย์กลางอาชญากรรมและกิจกรรมผิดกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ คนไทยเคยได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจผิดกฎหมายในเมียนมาเช่นกัน ในปี 2566 มีคนไทย 266 คน ที่เชื่อว่าถูกล่อลวงไปทำงานและกระทำทารุณในเครือข่ายผิดกฎหมาย ร้องขอความช่วยเหลือมายังรัฐบาลไทยและจีน กระทั่งได้รับความช่วยเหลือออกจากเมืองเล้าก์ก่ายของเมียนมาในที่สุด
ต้นเดือน ก.พ. 2568 เหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์ และสแกมเมอร์ในเมียนมา 61 คน ถูกส่งมายังประเทศไทยผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อ.แม่สอด โดยการช่วยเหลือของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) โดยในนั้นส่วนใหญ่เป็นคนจีน รองลงมาคืออินเดีย และอินโดนีเซีย
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการจัดการขบวนการคอลเซ็นเตอร์ต่อไป แม้ดำเนินการส่งเหยื่อกลับประเทศแล้วก็ตาม
“รัฐบาล มีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องประชาชนคนไทยให้พ้นจากเครือข่ายมิจฉาชีพ เราได้ลงมือทำจริง และวันนี้ ผลลัพธ์เริ่มปรากฏชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหานี้เราเดินมาถูกทางรัฐบาลจะเดินหน้าต่อไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนปลอดภัยจากการถูกหลอกลวง” นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติม
นายภูมิธรรม ยังได้เปิดเผยผลการประชุมร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยระบุว่า มีข้อตกลงร่วมกันโดยสรุปดังนี้ 1. ร่วมกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้หมดไป โดยไทยขอนำตัวคนไทยกลับมาลงโทษตามกฎหมายไทย 2. ร่วมช่วยเหลือเหยื่อคืนสู่ครอบครัว 3. ร่วมประสานงานระหว่างประเทศเพื่อความรวดเร็วในการปราบปราม
ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สตช. ระบุว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565-มิ.ย. 2567 มีคนไทยตกเป็นเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์กว่า 575,500 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 65,715 ล้านบาท เฉลี่ยความเสียหายวันละกว่า 80 ล้านบาท