อรุณ บุญชม ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่

มุสลิมชายแดนใต้ยอมรับผลการเลือก แม้ว่าอยากได้คนในพื้นที่
มารียัม อัฮหมัด
2023.11.22
ปัตตานี
อรุณ บุญชม ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่ นายอรุณ บุญชม (คนกลาง) อดีตประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี นั่งฟังการผลการลงคะแนนที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ ในกรุงเทพฯ และได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566
นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์

นายอรุณ บุญชม อดีตประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 แทนที่นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ที่ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา 

ด้านชาวมุสลิมชายแดนใต้ ซึ่งมีประชากรคิดเป็นสัดส่วนกึ่งหนึ่งของชาวไทยมุสลิมทั้งประเทศ ยอมรับผลการเลือก แม้อยากได้คนจากพื้นที่ 

การประชุมและสรรหาจุฬาราชมนตรี เริ่มขึ้นในเวลา 09.00 น. ณ อาคารหอประชุม ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร โดยมีกรรมการอิสลาม (กกอ.) ประจำจังหวัดจาก 40 จังหวัด 723 คน เป็นผู้ลงคะแนน 

นายอรุณ เปิดเผยหลังได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 471 คะแนน ได้รับความเห็นชอบให้เป็นจุฬาราชมนตรี ว่า พร้อมทำงานรับใช้สังคมอิสลาม และประเทศชาติ 

“ขอขอบคุณอัลลอฮ์ที่ให้พวกเราทั้งหลายเกิดในแผ๋นดินไทย เป็นแผ่นดินให้สิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจ โดยมีในหลวงให้การอุปการะ เราทั้งหลายอยู่ในแผ่นดินด้วยความร่มเย็นไม่เคยมีความขัดแย้งบาดหมางในเรื่องศาสนา” นายอรุณ กล่าว 

“ความจริงมีผู้ที่เหมาะสมกว่าอีกมากมายแต่เป็นความประสงค์ของอัลลอฮ์ แม้จะมีคะแนนที่แตกต่างกันแต่เราต้องจับมือร่วมกันต่อไป เชื่อว่าพี่น้องที่มาในวันนี้มีความจำเป็นต้องมาร่วมดำเนินงานทางศาสนาอิสลามของประเทศไทย รับใช้สังคม รับใช้ประเทศชาติให้มีความเจริญต่อไป” นายอรุณ กล่าวเพิ่มเติม 

การสรรหาจุฬาราชมนตรีครั้งนี้ มีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยข้าราชการ และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน 

มีผู้ถูกเสนอชื่อรับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรี 3 คน ประกอบด้วย หมายเลข 1 นายประสาน ศรีเจริญ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ได้ 129 คะแนน หมายเลข 2 นายอรุณ ได้ 471 คะแนน และหมายเลข 3 ดร. วิสุทธิ์ บินลาเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีภาคใต้ ได้ 115 คะแนน มีผู้ลงคะแนนเสียง 723 คน บัตรดี 715 ใบ บัตรเสีย 7 ใบ และไม่ขอลงคะแนน 1 ใบ 

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนต่างติดตามการสรรหาจุฬาราชมนตรีผ่านการถ่ายทอดสดอย่างคึกคัก และหลังจากทราบว่า นายอรุณได้รับความเห็นชอบก็ต่างยอมรับการสรรหา 

“ลุ้นทั้งวัน ชมจากไลฟ์ตลอด ก็ต้องยอมรับเมื่อเขาคัดเลือกมาก็น่าจะดี อัลลอฮ์ให้สิ่งที่ดีเสมอ ถ้าตามความรู้สึกก็อยากได้คนบ้านเรา (ดร. วิสุทธิ์) เมื่อทุกคนเลือกแล้วก็ยอมรับ” นางสาวีน๊ะ มะนาหิง ชาวจังหวัดยะลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

นายอรุณ บุญชม เป็นชาวกรุงเทพ มีชื่อภาษาอาหรับว่า มูฮัมหมัดยาลาฮุดดีน บินฮูเสน จบปริญญาตรี สาขาอัลฮะดีษและอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยอิสลาม ประเทศซาอุดีอาระเบีย และปริญญาตรี สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

เคยสอนอิสลามศึกษา และภาษาอาหรับ ระดับซานะวีย์ ที่โรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะห์ (บ้านดอน) เป็นอิหม่ามประจำมัสยิดดารุ้ลมุห์ซีนีน (สุเหร่าบ้านดอน) กรุงเทพมหานคร เป็นประธาน กกอ. กรุงเทพฯ รองประธาน กกอ. แห่งประเทศไทย ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ประธานคณะกรรมการเมืองไทยชารีอะห์ และอุปนายกสมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 

ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ตามกฎหมายต้องมีคุณสมบัติ เป็นชาวมุสลิม มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เคยถูกพิพากษาจำคุก เว้นแต่เป็นโทษที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 

ไม่มีจิตฟั่นเฟือน ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีความรู้ และเคร่งครัดในศาสนาอิสลาม มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา และเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

สำหรับขั้นตอนการเลือก ระบุว่า เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำหนดวันเวลา และสถานที่ในการเลือกจุฬาราชมนตรี กรรมการอิสลาม (กกอ.) ประจำจังหวัดทั่วประเทศ 40 จังหวัด 816 คน จะเข้าร่วมการสรรหา โดยกระบวนการจะเริ่มได้ต้องมี กกอ. มาประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ กกอ. ทั้งหมด และมีการลงคะแนนโดยทางลับ 

โดยเมื่อ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ที่ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ต่อมาในวันที่ 2 พฤศจิกายน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย กำหนดให้วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เป็นวันเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง