ตร. จับสื่อ 2 ราย ทำข่าวประชาชนพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ไม่เอา ม. 112

ตำรวจยื่นหมายจับ แจ้งข้อหาให้การสนับสนุนการทำลายโบราณสถาน
รุจน์ ชื่นบาน และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.02.12
กรุงเทพฯ
ตร. จับสื่อ 2 ราย ทำข่าวประชาชนพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ไม่เอา ม. 112 นายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ขณะถูกนำตัวไปฝากขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง หลังไม่ได้รับการประกันตัว เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ ตำรวจได้เข้าจับกุมตัว นายณัฐพล เมฆโสภณ และนายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ สื่อมวลชน ซึ่งทำข่าวประชาชนพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ไม่เอา ม. 112” บนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อ 28 มีนาคม 2566 ด้วยข้อหาให้การสนับสนุนการทำลายโบราณสถาน เบื้องต้นทั้งคู่ปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยังไม่ได้รับการประกันตัว

“เวลา 15.00 น. ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งว่ามีนักข่าวประชาไท ถูกจับกุมที่บ้านพัก ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 โดยตำรวจจาก สน.พระราชวัง เข้าแสดงหมายจับพร้อมควบคุมตัว” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ

ผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คน ถูกตั้งข้อหาตามฐานความผิดสนับสนุนผู้อื่นทำให้เสียหายทำลายทำให้เสื่อมหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถานและขูด-เขียนพ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความภาพหรือรูปรายใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ

สำหรับ นายณัฐพล เมฆโสภณ เป็นผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท ขณะที่นายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ เป็นช่างภาพข่าวสำนักข่าว Spacebar และเคยมีผลงานกับเบนาร์นิวส์

ก่อนถูกจับกุมตัวในวันจันทร์นี้ ผู้สื่อข่าวทั้งคู่ยืนยันว่า ไม่เคยถูกออกหมายเรียกมาก่อน

นายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ กล่าวแก่สื่อมวลชนขณะถูกพาตัวไปฝากขังว่า รู้สึกเหมือนถูกกลั่นแกล้ง

“รู้สึกเหมือนถูกฟ้องปิดปาก เพราะผมยืนยันได้ว่า ผมไปทำข่าว ไปทำงาน ผมมั่นใจว่าผมไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาแน่นอน ผมเลยปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ปฏิเสธที่จะพิมพ์ลายนิ้วมือด้วย” นายณัฐพล กล่าว

ด้าน น.ส. วีรดา คงธนกุลโรจน์ ทนายอาสา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ในชั้นสอบสวนทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

“สิ่งที่แย่ในชั้นของตำรวจคือ ทั้งคู่ไม่เคยถูกออกหมายเรียก แต่ถูกออกหมายจับ ตำรวจไม่เปิดโอกาสให้ทนายความได้พูดคุยกับผู้ต้องหาเป็นการส่วนตัว มีการใช้ตำรวจจำนวนมากกดดันผู้ต้องหาในการสอบสวน และส่งไปฝากขังที่อื่นซึ่งไม่ใช่ สน.ที่สอบสวน ซึ่งเป็นรูปแบบการกระทำที่ผิดปกติ” น.ส. วีรดา กล่าว

หลังจากถูกควบคุมตัวในช่วงบ่าย ทั้งสองคนถูกพาตัวมาสอบปากคำที่ สน.พระราชวัง ก่อนถูกพาตัวไปฝากขัง โดยนายณัฐพล เมฆโสภณ ถูกพาตัวไปฝากขังที่ สน.ฉลองกรุง ขณะที่นายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ถูกนำตัวไปฝากขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง

ด้าน นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า สื่อมวลชนทำงานตามหน้าที่ ไม่ได้สนับสนุนการทำลายโบราณสถาน

“ยืนยันว่า คุณณัฐพล นักข่าวประชาไท หรือแม้กระทั่ง คุณณัฐพล อีกคน เขามาทำข่าวในวันที่เกิดเหตุ ไม่ใช่มาสนับสนุนการทำลายโบราณสถานตามที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา จุดยืนของสื่อมวลชนคือเราไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เราเพียงแค่นำเสนอข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” นายเทวฤทธิ์ กล่าว

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น ดร. เหงียน ตู อัญ อาจารย์ประจำสาขาวารสารศาสตร์ระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เห็นว่ากรณีวันนี้ป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าสิทธิเสรีภาพของสื่อในไทยยังมีอุปสรรคอยู่มาก

“อันนี้เป็นหน้าที่ของสื่ออยู่แล้ว เราสนใจเรื่องอะไรก็นำเสนอเรื่องนั้น แต่ด้วยความที่กระบวนการยุติธรรมในบางครั้งมันมีความคลุมเครือ เลยส่งผลต่อการกำหนดขอบเขตของการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ส่งผลให้ปัญหาในระยะยาวคือการเซ็นเซอร์ตัวเอง" ดร. เหงียน ระบุ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ปี 2563 - 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง อย่างน้อย 1,938 คน จาก 1,264 คดี ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 262 คน จาก 287 คดี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง