นายกฯญี่ปุ่นเตรียมเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลายเดือนเมษายนนี้

ทีมงานเบนาร์นิวส์
2022.04.14
นายกฯญี่ปุ่นเตรียมเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปลายเดือนเมษายนนี้ นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างการแถลงข่าว ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 8 เมษายน 2565
กองภาพกลาง/รอยเตอร์

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกำลังวางแผนเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปลายเดือนเมษายน เพื่อต้านทานอำนาจของจีนที่กำลังเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ ตามรายงานข่าวและคำกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่น

สำนักข่าวเกียวโดะของญี่ปุ่นรายงานว่า การเดินทางของนายคิชิดะจะมีขึ้นในช่วงวันหยุดยาวของญี่ปุ่นที่เรียกว่า สัปดาห์ทอง เขาจะเดินทางไปเยือนประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รายงานนี้อ้างแหล่งข่าวทางการทูตโดยไม่ระบุชื่อ

สัปดาห์ทองปี 2565 เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนถึง 5 พฤษภาคม วันแรกเป็นวันโชวะ ซึ่งเป็นวันหยุดประจำปีของญี่ปุ่น และวันสุดท้ายเป็นวันเด็ก โดยมีวันหยุดติดต่อกัน 5 วัน ระหว่างวันที่ 1-5 พฤษภาคม

รายงานยังกล่าวด้วยว่า นายคิชิดะอาจเดินทางไปเยือนยุโรปด้วยในช่วงวันหยุดยาวนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีการเสนอให้มีการประชุมกันระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นและอินเดียในช่วงกลางถึงปลายเดือนเมษายน ดังนั้นการประชุมนี้อาจถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากปกติแล้วเมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนต่างประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมักจะเดินทางไปด้วย เรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์ ได้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น เพื่อยืนยันข้อมูลนี้

ในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันพฤหัสบดี นายเตอกู ไฟซาสยาห์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้ยืนยันกับเบนาร์นิวส์ ว่านายคิชิดะจะไปเยือนอินโดนีเซีย “ในปลายเดือนเมษายน” โดยจะประกาศวันที่ที่แน่นอนให้ทราบภายหลัง

สำนักข่าวเกียวโดะรายงานว่า คาดว่าในระหว่างการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะ “เน้นย้ำความร่วมมือเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของการทำให้อินโด-แปซิฟิกเป็นพื้นที่เสรีและเปิดกว้าง ท่ามกลางอำนาจของจีนที่มีเพิ่มขึ้น”

ไทยและอินโดนีเซียเป็นประธานกลุ่มการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และกลุ่ม จี20 (G20) ของปีนี้ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน เวียดนามมีความสนใจเช่นเดียวกับญี่ปุ่นในการพิทักษ์ความมั่นคงทางทะเลในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่จำนวนมากในทะเลจีนใต้ และจีนได้ส่งกำลังทหารไปประจำที่เกาะต่าง ๆ ที่จีนยึดคืนมา

220414-TH-SEA-JP-defence.jpg

เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นบนเรือพิฆาต JS Suzutsuki (ซ้าย) และ JS Inazuma เดินทางมาถึงที่ท่าเรือตันจุง ปริโอก ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างอินโด-แปซิฟิกทัวร์ ภาพเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 (รอยเตอร์)

อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

“จีนเป็นภัยคุกคามหลักทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะต่ออินเดีย ญี่ปุ่น หรือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม” ปรัตนาชรี บาซู นักวิชาการสังกัดที่ Observer Research Foundation สถาบันคลังสมองแห่งหนึ่งของอินเดีย กล่าว

“ดังนั้น การรวมทรัพยากรเข้าด้วยกันและเสริมสร้างกำลังความสามารถ จึงเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องสำหรับเกือบทุกประเทศในอินโด-แปซิฟิก เพื่อให้อยู่ในสถานะที่จะต้านทานอำนาจของจีนได้มากขึ้น”

เมื่อปีที่แล้ว ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับหลายประเทศที่กำลังท้าทายการอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ ญี่ปุ่นได้ส่งบันทึกการทูตถึงองค์การสหประชาชาติ โดยปฏิเสธการกำหนดเส้นฐานของจีน และประณามสิ่งที่ญี่ปุ่นเรียกว่าเป็นความพยายามของจีนที่จะจำกัดเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน

ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นหนึ่งในประเทศที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ แต่ได้กระชับความสัมพันธ์กับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อ้างสิทธิ์หรือผลประโยชน์เหนือทะเลจีนใต้

กองทัพเรือและหน่วยยามฝั่งของญี่ปุ่นได้ทำการซ้อมรบร่วมกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

สตีเฟน นากี รองศาสตราจารย์อาวุโสประจำคณะรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยอินเตอร์เนชั่นแนลคริสเตียน ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพและแนวทางที่อาศัยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการปกครองพื้นที่ในทะเลจีนใต้ เนื่องจากเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ด้วย

บรรดาผู้นำของกลุ่มสนทนาด้านความมั่นคงจตุรภาคี (Quad) อันได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอินเดีย จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดแบบพบตัวกันในเดือนพฤษภาคมนี้ ที่กรุงโตเกียว

Quad ได้รับการมองว่าเป็นการถ่วงดุลอำนาจของจีนในภูมิภาคนี้

เมื่อเดือนมีนาคม นายคิชิดะได้เดือนทางไปเยือนอินเดียและกัมพูชา ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนสองประเทศครั้งแรกของเขา นับตั้งแต่ที่เขาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนตุลาคม 2564 กัมพูชาเป็นประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของปีนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง