พี่สาว “วันเฉลิม” ให้ปากคำต่อศาลกัมพูชา เพื่อตามหาน้องชาย
2020.12.08
ในวันอังคาร (8 ธันวาคม 2563) นี้ นางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ไปอยู่ในประเทศกัมพูชา แล้วถูกคนร้ายลักพาตัวไปจากบริเวณใกล้ที่พักในกรุงพนมเปญ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ ได้ให้การกับตุลาการผู้ไต่สวนคดี ณ ศาลกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อหาหนทางให้ศาลเร่งรัดคดีการหายตัวไปของน้องชาย
นางสาวสิตานัน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เดินทางไปยังกรุงพนมเปญ ตามคำเชิญของศาลกรุงพนมเปญ ตามคดีอาญาหมายเลข 4832 ซึ่งนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ น้องชายที่เป็นผู้ลี้ภัยไปอยู่ที่นั่น ได้ถูกคนร้ายใช้อาวุธบังคับขึ้นรถยนต์และหายตัวไป จากหน้าคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ในกลางกรุงพนมเปญ เมื่อเวลาหลังสี่โมงเย็นของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มาจนถึงบัดนี้
นางสาวสิตานัน และองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า นางสาวสิตานัน ได้ให้การทางวาจา และส่งเอกสารแปลไทย-เขมร จำนวนรวม 177 หน้า ให้การกับตุลาการผู้ไต่สวนคดี โดยมีทนายความชาวกัมพูชา และล่ามแปลภาษาไทย-เขมร
หลังการไต่สวน นางสาวสิตานัน กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า การเข้าให้ปากคำแก่ศาล ได้ทำให้ตนทราบว่า ศาลมีข้อมูลว่า การหายตัวไปของวันเฉลิมจากกรุงพนมเปญเกิดขึ้นจริง
“ถ้าถามจากใจเราก็ได้คำตอบอะไรเยอะขึ้น จากที่เราได้ฟังจากท่าน ทำให้เรารู้ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง และการมาอยู่ของวันเฉลิมที่นี่คือเรื่องจริง แล้วหายไปจากที่นี่เป็นเรื่องจริง” นางสาวสิตานัน กล่าว
ต่อคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า ความคาดหวังว่า ศาลกัมพูชาจะให้ความยุติธรรมในคดีได้หรือไม่ นางสาวสิตานัน ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตอบเรื่องนี้ได้
“ตอนนี้เราตอบไม่ได้ เพราะว่ามันเพิ่งเริ่มต้น เพิ่งส่งเอกสารให้ท่าน ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ว่าท่านจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นางสาวสิตานัน กล่าว
ทั้งนี้ องค์กรแอมเนสตี้ฯ ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในวันเดียวกันนี้ว่า ในวันที่ 12 สิงหาคม รัฐบาลกัมพูชารายงานว่า ได้สอบสวน “พยาน” สามคน ซึ่ง “ยืนยัน” ว่า ไม่มีรายงานการลักพาตัวบุคคลในพื้นที่เกิดเหตุ และพวกเขา “ได้พยายามค้นหาพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่ที่มีรายงานว่าเกิดเหตุ” แต่ไม่มี “เบาะแส”
องค์กรแอมเนสตี้ฯ ตำหนิการดำเนินการที่ล่าช้า
ด้านองค์กรแอมเนสตี้ฯ ที่ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกันนี้ ได้วิจารณ์ว่า การดำเนินการหาตัว นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ วัย 37 ปี ที่หายตัวไปกว่า 6 เดือนแล้วนั้น เป็นไปอย่างเชื่องช้า
“การสอบสวนดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และดูเหมือนว่ามีการเพิกเฉยต่อพยานหลักฐานสำคัญ ทางการกัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขาทำการสอบสวนอย่างน่าเชื่อถือ ไม่เช่นนั้นอาจมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังว่าที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างสุจริตใจหรือไม่” ยามินี มิชรา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในแถลงการณ์
“ข้อบกพร่องชัดเจนของการสอบสวนครั้งนี้จนถึงปัจจุบัน ทำให้เห็นว่า กัมพูชาอาจไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะจัดให้มีการสอบสวนอย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระ” ยามินี กล่าวเพิ่มเติม
แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการสอบสวนเป็นข้อกังวลสำคัญ เพราะในห้วงเวลาที่ผ่านไปหกเดือนหลังการหายตัวไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ แทบไม่ได้รายงานความคืบหน้าของการสอบสวนเลย ทำให้ไม่สามารถจำแนกได้ว่า ใครอยู่เบื้องหลังการลักพาตัว และปัจจุบันวันเฉลิมอยู่ที่ไหน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงานอัยการของศาลแขวงกรุงพนมเปญ เพิ่งจะส่งหมายขอให้มีการสอบสวนไปที่ศาล เมื่อเดือนกันยายน 2563 กว่าสามเดือนหลังการหายตัวไปของวันเฉลิม แม้ว่าทางนางสาวสิตานัน ได้ทำการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานอัยการ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ความล่าช้าเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของกัมพูชา ที่จะประกันให้เกิดการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่า มีการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างไม่ชักช้าเลย
เบนาร์นิวส์ ได้สอบถามนางสาวสิตานันว่า มีความคิดเห็นใดเพิ่มเติมในเรื่องนี้หรือไม่ นางสาวสิตานันตอบว่า ตนเองเห็นด้วยกับแอมแนสตี้ฯ ซึ่งมีความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและกระบวนการทางศาลทุกประเด็น
ต่อคำถามของผู้สื่อข่าว ในกรุงพนมเปญที่ว่า คิดว่าจะมีโอกาสที่จะได้เจอน้องชายอีกหรือไม่ นางสาวสิตานัน กล่าวว่า “เรื่องนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ทราบหรอกว่าจะได้พบไหม แต่ถ้าเราได้พบ เราก็จะดีใจเป็นอย่างยิ่ง”
ด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางกระทรวงฯ ได้อำนวยความสะดวก ผ่านกรมการกงสุล และสถานเอกอัครราชทูต กรุงพนมเปญ ให้พี่สาวของนายวันเฉลิม สามารถเดินทางไปกัมพูชา เพื่อให้ข้อมูลต่อผู้พิพากษา ตามคำเชิญของศาลชั้นต้นกรุงพนมเปญ แต่ไม่สามารถให้ความคิดเห็นอื่นใดได้
“อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยไม่สามารถให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับคดีดังกล่าว เพราะอยู่ระหว่างการดำเนินการโดยฝ่ายกัมพูชา” นายธานี กล่าวในวันนี้ พร้อมทั้งระบุว่า “ไทยยึดมั่นในหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณี และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่ไทยเป็นภาคี รัฐบาลไทยมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการปกป้องและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด”