เขตทับซ้อนไทย-กัมพูชา ไขข้อขัดแย้ง 20 ปี สู่ทางออกพลังงาน?
2024.03.28
กว่าสองทศวรรษนับตั้งแต่การตกลงบันทึกความเข้าใจในการแบ่งปันเชื้อเพลิงฟอสซิลในอ่าวไทย กัมพูชาและไทย ก็พร้อมที่จะกลับมาดำเนินการเจรจาอีกครั้ง แม้ข้อพิพาทกรณีความเป็นเจ้าของเกาะกูดอาจยังเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสาธารณะ
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้กล่าวในงานแถลงข่าวร่วม ขณะนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเนต เยือนกรุงเทพมหานครว่า ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองเห็นพ้องที่จะหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำรวจทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อน (Overlapping Claims Area: OCA) ใกล้กับเกาะกูด ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในวุฒิสภา สัปดาห์นี้
เศรษฐาอ้างถึงบันทึกความเข้าใจที่ลงนามเมื่อปี 2544 ในขณะที่ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งถูกถอดถอนออกจากอำนาจในการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ยังดำรงตำแหน่ง อดีตนายกฯ มหาเศรษฐีด้านโทรคมนาคม ผู้มีความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับอดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาท่านนี้ ถูกกล่าวหาว่า ทรยศต่อประเทศเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เพราะเขามีเอี่ยวในการลงทุนในกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าวกับวุฒิสภาเมื่อวันจันทร์ว่า รัฐบาลยังไม่ได้จัดตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคชุดใหม่เพื่อพิจารณาดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจ
“โดยส่วนตัวผมคิดว่าการเจรจาควรครอบคลุมทั้งสองประเด็นไปพร้อม ๆ กัน” ปานปรีย์ กล่าวกับวุฒิสมาชิก “ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม ปี 2450 … เกาะกูดเป็นของประเทศไทย”
บันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา 2544 เชื่อมโยงการแบ่งเขตชายแดนและการแบ่งปันทรัพยากรเข้าด้วยกันเป็น “แพ็กเกจที่แบ่งแยกไม่ได้” โดยกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายต้องได้รับการแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน
“ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความกังวลเกี่ยวกับการทรยศ การสูญเสียดินแดน และอธิปไตย ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น” เขากล่าว พร้อมเสริมว่า กว่าจะนำทรัพยากรใต้น้ำในเขตพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ได้ จะต้องใช้เวลาอีกกว่าสิบปี แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงกันได้แล้วก็ตาม
‘โนแมนส์แลนด์’
พื้นที่ทับซ้อนในทะเลตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชามีพื้นที่ประมาณ 27,000 ตารางกิโลเมตร (10,425 ตารางไมล์) เต็มไปด้วยก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านบาท (138 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามข้อมูลของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัทปิโตรเคมียักษ์ใหญ่ของไทย
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่พื้นที่นี้ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้สำรวจ เนื่องจากถูกมองว่าเป็น "โนแมนส์แลนด์" หรือพื้นที่พิพาทที่ยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าว อย่างไรก็ตาม การแบ่งปันทรัพยากรสามารถปลดล็อก และสนองความต้องการพลังงานของทั้งสองประเทศได้
กระนั้น ประเด็นใหญ่ที่ฝ่ายกัมพูชาขีดเส้นแบ่งไหล่ทวีปของกัมพูชาพาดผ่านกลางเกาะกูด เมื่อปี 2515 ยังคงเป็นหนามยอกอกให้กับสมาชิกวุฒิสภาและนักเคลื่อนไหวชาตินิยมไทยที่สนับสนุนโดยกองทัพ
เกาะกูดเป็นเขตพิพาทสำคัญอันดับสองจากชายแดนทั้งหมด 798 กิโลเมตร ที่ลากเส้นระหว่างการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีน รองจากข้อพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือปราสาทเขาพระวิหาร ระหว่างปี 2551-2554 ซึ่งในกรณีดังกล่าว ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินว่า ตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่ไม่ควบรวมถึงบริเวณโดยรอบปราสาท
ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ไทย การแบ่งเขตดินแดนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก เนื่องจากประเทศไทยอ้างว่า สนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยามในปี 2450 มอบเกาะกูดให้กับตน แต่ฝั่งกัมพูชากลับลากเส้นเขตเศรษฐกิจพิเศษซ้อนทับไปบนดินแดนเหนือเกาะกูดในปี 2515 โดยในปีต่อมา ไทยก็ได้ลากเส้นแบ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษของตนบ้าง
ข้อกล่าวหาที่ว่า รัฐบาลดำเนินการน้อยเกินไป ในการขับไล่ทหารกัมพูชาที่ยึดครองที่ดินรอบปราสาทพระวิหาร ในปี 2551 เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่จุดชนวนการประท้วงนองเลือดและปิดฉากรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับตระกูลชินวัตรทั้งสองชุด
เสียงก่นด่าของประชาชน
หลังจากการแถลงข่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียของไทยตั้งคำถามถึงเจตจำนงของรัฐบาลเศรษฐา ว่าจะเลือกปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ หรือจะยอมรับอธิปไตยกัมพูชาเหนือพื้นที่พิพาท
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้รักชาติหลายสิบคนรวมตัวกันที่กองบัญชาการกองทัพเรือไทยในชลบุรี เพื่อแสดงพลังปกป้องอธิปไตยเหนือเกาะกูด เป็นผลให้กองทัพเรือไทยริเริ่มภารกิจซ้อมรบที่จะกินเวลายาวไปจนถึงเดือนมิถุนายน
“การซ้อมรบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมบุคลากรให้พร้อมทำสงคราม” พล.ร.อ. อะดุง พันธุ์เอี่ยม กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่หาดยาว จังหวัดชลบุรี “ไม่ว่าเราจะต้องดำเนินการใด ๆ กองทัพเรือจะต้องชนะ”
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์สนับสนุนการเจรจาทวิภาคีเพื่อหาข้อยุติข้อพิพาทโดยสันติ
“แม้ว่าประเทศไทยอาจมีกองทัพเรือที่น่าเกรงขามกว่า แต่การใช้กำลังทหารไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืนในการแก้ไขข้อพิพาทเรื่องดินแดนอย่างถาวร เนื่องจากมักส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์” สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิเคราะห์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกรุงเทพฯ กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย
“การเจรจาภายใต้กรอบที่จัดทำขึ้นโดยบันทึกความเข้าใจ ปี 2544 ถือเป็นช่องทางที่มีความหวังมากที่สุดในการบรรลุข้อยุติโดยสันติ โดยเคารพผลประโยชน์และข้อกังวลของทั้งประเทศไทยและกัมพูชา” สุภลักษณ์ กล่าว