ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำฟ้องเรื่องเขื่อนปากแบง

ชาวบ้านผู้ร้องผิดหวัง รัฐบาลไม่ช่วยปกป้องแม่น้ำโขง เป็นเพียงผู้รับรองให้ต่างชาติสร้างเขื่อน
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.02.24
กรุงเทพฯ
ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำฟ้องเรื่องเขื่อนปากแบง ชาวประมงยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ขณะตรวจสอบอวนก่อนจะออกเรือ เพื่อหาปลา ในอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ที่มีพรมแดนติดกับประเทศลาว ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556
เอเอฟพี

ในวันพุธนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำร้องที่กลุ่มรักษ์เชียงของและกลุ่มประชาชน ที่ร้องว่า เลขาธิการสำนักงานทรัพยกรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ละเลยต่อหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการแจ้งให้ทราบการปรึกษาหารือล่วงหน้าและการตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement - PNPCA) โครงการก่อสร้างเขื่อนปากแบง ในประเทศลาว ต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในอำนาจศาล

ตุลาการศาลปกครอง ได้อ่านคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีที่ 2 เมื่อเวลา 09.30 น. โดยพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น

“ผู้ถูกร้องได้จัดให้มีการปรึกษาหารือล่วงหน้าในประเทศไทย 2 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2560 การดำเนินการทั้งหลายของผู้ถูกร้องเป็นไปตามพันธกรณีว่าด้วยการร่วมมือการพัฒนาแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ให้ราชอาณาจักรไทยต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ไม่มีสิทธิในบังคับโครงการในดินแดนของ สปป.ลาว” คำสั่งศาลตอนหนึ่งระบุ

“การแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะที่มีต่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบงไปยังคณะกรรมาธิการร่วม และ สปป.ลาว จึงเป็นการทำในฐานะรัฐบาล ที่จะต้องการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องใช้อำนาจตามทางบริหารของรัฐ จึงมิใช่คดีที่อยู่ข่ายการพิจารณาของศาลปกครอง” ตอนหนึ่งของคำสั่งศาล

ในคดีนี้ มีผู้ร้อง 4 ราย คือ กลุ่มรักษ์เชียงของ, นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว, นายจีรศักดิ์ อินทะยศ และนายพิศณุกรณ์ ดีแก้ว โดยร้องใน 3 ประเด็น คือ 1. ให้ผู้ถูกร้องยับยั้งโครงการ เนื่องจากผู้ร้องซึ่งเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงอาจได้รับความเสียหายจากโครงการ 2. ให้ผู้ถูกร้องออกกฎหมายหรือระเบียบเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมข้ามพรมแดน และ 3. ให้ผู้ถูกร้องแจ้งคัดค้าน โต้แย้งโครงการก่อสร้างเขื่อนตามการเรียกร้องของประชาชน รวมถึงทักท้วงไม่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อน

หลังการฟังคำสั่งศาล น.ส.เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เหตุผลที่ศาลยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่า ในข้อเรียกร้องนั้น ผู้ถูกร้องได้ปฏิบัติตามหน้าที่แล้ว และบางข้อเรียกร้องไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

“1. เขาทำถูกต้องแล้ว โครงการตั้งอยู่นอกราชอาณาจักรจึงไม่มีสิทธิยับยั้งโครงการ และผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายในประเด็นนี้จึงไม่มีสิทธิในการฟ้อง 2. การขอให้ออกกฎหมายหรือระเบียบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่ให้กำหนดอำนาจผู้ถูกร้องไว้ เขาจึงไม่สามารถที่จะออกระเบียบที่เกี่ยวข้องได้ และ 3. การขอให้ดำเนินการคัดค้าน โต้แย้ง โครงการเขื่อน ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนรัฐบาล เป็นการใช้อำนาจบริหาร ก้าวล่วงไม่ได้จึงไม่อยู่ในอำนาจศาล” น.ส.เฉลิมศรี ระบุ

ด้าน น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเห็นว่า คำสั่งศาลปกครองชี้ว่า รัฐบาลไทยไม่มีสิทธิไปดำเนินการใด ๆ กับโครงการนอกราชอาณาจักรไทย แม้โครงการนั้นจะส่งผลกระทบมายังประเทศไทยก็ตาม

“การไปทักท้วงไม่ให้ กฟผ. ซื้อไฟฟ้า ศาลก็มองว่าเป็นอำนาจบริหาร ไม่อยู่ในขอบเขตพิจารณา ถือว่าเสร็จสิ้นไปเลย กลายเป็นว่า พีเอ็นพีซีเอเป็นการทำตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การดำเนินการต่าง ๆ แม้จะทำโดย สทนช. หรือ คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ กฎหมายไทยก็ไม่สามารถบังคับได้ ในอนาคต เขื่อนแม่น้ำโขงอื่น ๆ จะเกิดปัญหาแน่นอน เพราะหน่วยงานจะทำอะไรได้ตามใจ นำใช้กฎหมายไทยไม่ได้ เพราะศาลมองว่า การทำพีเอ็นพีซีเอเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ เมื่อใช้ศาลไม่ได้ จึงเหมือนผลักประชาชนให้มาเรียกร้องบนถนน” น.ส. ส.รัตนมณี กล่าว

ขณะที่ นายจีรศักดิ์ หนึ่งในผู้ร้องคดี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกผิดหวังกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในวันอังคารนี้

“ผิดหวังกับหน่วยงานของรัฐไทย เพราะกลายเป็นไม่มีบทบาทคัดค้าน ยับยั้งอะไร แถมมันยังเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เขาสร้างเขื่อนได้ การฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน เขาก็ฟังเฉยๆ ไม่ได้เอาไปทำอะไร สถานการณ์แม่น้ำโขงมันก็จะแย่ไปเรื่อยๆ เพราะกระทบคนที่เขาทำมาหากิน เก็บไก หาปลา เท่ากับว่า MRC ไม่มีบทบาทอะไรเลย กลายเป็นแค่พิธีกรรมให้ครบองค์ประกอบ ชาวบ้านพูดมาตลอดว่า โครงการต้องหยุดก่อน และเลื่อนเวลาออกไป ศึกษาให้ดีก่อน แต่ก็ไม่เลื่อน” นายจีรศักดิ์กล่าว

เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อไปหา นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุด แต่เจ้าตัวไม่รับสาย

210225-th-rfa-chart-3.jpg

แผนที่เผยแพร่ โดย เอเอฟพี แสดงที่ตั้งของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนลุ่มแม่น้ำโขง ในระยะต่าง ๆ ของการสร้างจนถึงระยะเสร็จสิ้นโครงการ

ขณะที่ น.ส.ไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานองค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์หลังฟังคำสั่งศาลว่า ภาคประชาชนพยายามใช้ช่องทางศาลในการต่อสู้หลายครั้งแต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ

“เรารู้สึกเสียใจที่ศาลไม่ให้ความสำคัญ และแยกความเดือดร้อนของประชาชนกับการบริหารออกจากกัน ทั้งที่มันแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะประชาชนเป็นหน้าด่านแรก หากเขื่อนส่งผลกระทบข้ามประเทศ กลายเป็นว่าอำนาจของศาลไทยไม่สามารถดูแลประชาชนไทยได้ ซึ่งเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนจีน ก็ชัดเจนว่ามีผลกระทบข้ามพรมแดน รัฐบาลไทยจึงควรตระหนักเรื่องนี้ และแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบข้ามพรมแดน การละเมิดสิทธิ และติดตามการลงทุนของบริษัททั้งไทย และต่างประเทศให้เคารพเรื่องสิทธิของประชาชนไทย” น.ส.ไพรินทร์ กล่าว

โครงการก่อสร้างไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง (Pak Beng dam) เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (Run Off River) จะก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก ที่เมืองปากแบง แขวงอุดมไซย ประเทศลาว ห่างจากชายแดนไทย แก่งผาได ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ 97 กิโลเมตร จะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 912 เมกะวัตต์  และมีแผนจะไฟฟ้าขายให้แก่ กฟผ. ในปริมาณราว 90 เปอร์เซ็นต์ งผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัท ไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ จำกัด (China Datang Oversea Investment Co.,Ltd) ของจีน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง