เครือข่ายสิทธิแรงงานประมง : แรงงานยังถูกละเมิด ร้องรัฐแก้ปัญหา
2024.01.25
กรุงเทพฯ
เครือข่ายสิทธิแรงงานประมง เปิดเผยผลสำรวจในวันพฤหัสบดีนี้ว่า เรือประมงไทยยังละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ ทั้งการจ่ายค่าจ้าง วันหยุด รวมถึงสวัสดิภาพบนเรือประมง เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหา ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ชี้เครือข่ายสิทธิแรงงานประมงใช้ข้อมูลเก่า เชื่อปัญหามีอยู่จริง แต่เกิดขึ้นน้อยมาก
นายเย ตุย (Ye Thwe) ประธานเครือข่ายสิทธิแรงงานประมง (Fishers' Rights Network - FRN) และอดีตแรงงานประมงข้ามชาติ ชี้ว่า ปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นกับแรงงานประมงข้ามชาติหลายสิบปียังคงดำเนินอยู่ และรัฐบาลควรหาทางแก้ไขปัญหา
“แรงงานพม่าและเขมรต้องทนอยู่ในสภาพแรงงานบังคับที่เลวร้าย ขาดน้ำดื่มสะอาด พักผ่อนน้อย ติดหนี้สิน นายจ้างยึดเอกสาร ผลสำรวจชัดเจนว่า แรงงานประมงเผชิญสภาพที่ไม่มีใครควรเจอ การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเกิดขึ้น ระเบียบไม่ถูกปฏิบัติอย่างเหมาะสม เราฟังเรื่องราวแรงงานไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเดือน ทำงานบนเรืออันตราย ถูกข่มขู่เมื่อพยายามแจ้งปัญหา” นายเย ตุย ระบุ
“ตลอด 15 ปีที่เป็นแรงงาน ผมไม่เห็นอะไรดีขึ้น นายจ้างยึดเอกสารสำคัญ และไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย พวกเขาทำงานท่ามกลางสภาพไม่ปลอดภัย เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ เสี่ยงอุบัติเหตุบนเรือ” นายเย ตุย กล่าว
FRN ระบุ แรงงานประมงข้ามชาติในพื้นที่ 11 จังหวัด ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 พบ สภาพการละเมิดมาตรฐานแรงงานอย่างรุนแรง แรงงานถึง 99% ไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย แรงงานถึง 87% ติดอยู่ในวงจรหนี้สินนายจ้าง แรงงานถึง 84% ถูกยึดหนังสือเดินทาง และ แรงงาน 98% ถูกเจ้าของเรือยึดสมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็ม
“ขั้นตอนปกติของการจ้างแรงงานประมงคือ เจ้าของเรือพาไปเปิดบัญชีธนาคาร แต่พอเปิดเสร็จกลับยึดสมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็มไป บางรายถึงขั้นใช้เลขกดเอทีเอ็มเดียวกันกับลูกเรือทั้งลำ” ส่วนหนึ่งของรายงาน ระบุ
รายงานระบุว่า แรงงานมักเป็นหนี้นายจ้าง จากค่าดำเนินเอกสาร หรือการเบิกเงินล่วงหน้า โดย 68.6% ติดหนี้ระหว่าง 10,000-30,000 บาท ซึ่งสูงเกินกว่ารายได้ขั้นต่ำ 9,000-10,000 บาทต่อเดือน ทำให้มีปัญหาเรื่องการใช้หนี้คืน
ด้าน นายจอนนี่ ฮันเซน ประธานฝ่ายประมง สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ระบุว่า รัฐบาลไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามอนุสัญญาการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2550 ฉบับที่ 188
“ผลสำรวจยืนยันว่า รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการปกป้องสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนของแรงงานประมงข้ามชาติอย่างจริงจัง การลงนามอนุสัญญา 188 ควรหมายถึงการบังคับใช้มาตรฐานการทำงานที่ดี แต่สภาพความเป็นจริงสะท้อนว่า กฎหมายแรงงานไทยและการตรวจแรงงานยังไม่ถึงระดับที่อนุสัญญากำหนด” นายจอนนี่ กล่าว
“ไทยมีโอกาสเป็นผู้นำในภูมิภาคและสร้างมาตรฐานให้อาหารทะเลไทยปราศจากแรงงานบังคับ การไม่บังคับใช้อนุสัญญา 188 ย่อมทำให้การส่งออกซีฟู้ดของไทยถูกตรวจสอบ เข้มงวด สื่อถึงสภาพแรงงานย่ำแย่ ผู้ละเมิดมาตรฐานแรงงานนานาชาติควรถูกลงโทษ การตรวจแรงงานควรตรวจจับและแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยเพื่อรายงานตัวเลขอันปลอมหรือแถลงข้อมูลผิด ๆ” นายจอนนี่ กล่าวเพิ่มเติม
เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ขณะที่ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์ของแรงงานประมงในปัจจุบัน ไม่ได้ย่ำแย่เช่น FRN รายงาน
“เขาเอาข้อมูลเดิม ข้อมูลเก่ามาใช้ ปัจจุบัน มันมีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ละเมิดสิทธิแรงงาน ใช้แรงงานไม่จ่ายเงินเดือน ปัญหามีจริงแต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก 1-2 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน คนทำประมงมันเจ๊งหมดแล้ว เหลือออกเรือได้แค่ 4-5 พันลำเท่านั้น เพราะสารพัดข่าวที่ออกมา ทำให้คนทำประมงไม่ได้ ไม่มีใครอยากมาเป็นแรงงาน กฎหมายมากเกินไปทำให้ประมงเจ๊ง” นายมงคล กล่าว
ทั้งนี้ FRN สรุปข้อเรียกร้องที่แรงงานประมงต้องการให้รัฐบาลไทยปฏิบัติเร่งด่วนคือ บังคับใช้มาตรการตามอนุสัญญาฉบับที่ 188 เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานทุกคนมีสำเนาสัญญาจ้างเป็นภาษาตนเอง, คุ้มครองสิทธิแรงงาน และศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) ต้องให้แรงงานสามารถตรวจและยืนยันสัญญาจ้างจากนายจ้างระหว่างการตรวจเรือได้ และจัดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแจ้งเรื่องการถูกละเมิดให้แก่แรงงาน
ข้อมูลของกรมประมง ระบุว่า ในปี 2566 มีเรือประมงพาณิชย์ 9,898 ลำ มีแรงงานประมง 90,170 คน แบ่งเป็นแรงงานไทย 37,444 คน และแรงงานข้ามชาติ 52,726 คน
ในปี 2558 สหภาพยุโรปออกใบเหลืองให้กับประเทศไทยเพราะปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) ซึ่งกระทบต่อเงื่อนไขการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลไปยังสหภาพยุโรป รัฐบาลไทยจึงพยายามแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประมงอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ
กระทั่งเดือนมกราคม 2562 กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) ได้ประกาศยกเลิกสถานะใบเหลืองของประเทศไทย
และในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2550 ฉบับที่ 188 ซึ่งยังครอบคลุมข้อตกลงให้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน คุณภาพที่พักอาศัย อาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล ระบบการตรวจแรงงาน และความเป็นอยู่บนเรือประมง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการทำประมงที่มีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล และจะดึงดูดแรงงานให้เข้ามาทำงานในภาคประมงมากขึ้น