นายกฯ เศรษฐาเรียกหานักลงทุนต่างประเทศในโครงการแลนด์บริดจ์

จิตต์สิรี ทองน้อย
2023.12.04
กรุงเทพฯ
นายกฯ เศรษฐาเรียกหานักลงทุนต่างประเทศในโครงการแลนด์บริดจ์ เรือขนสินค้าจอดท่าเพื่อขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 15 ตุลาคม 2564
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่กี่เดือน นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ปลุกชีพแผนการโครงการแลนด์บริดจ์ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้เรือสินค้าทั่วโลกมีช่องทางการเดินทางเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก โดยไม่ต้องเดินเรือข้ามช่องแคบมะละกา อ้อมผ่านแหลมมลายูบริเวณประเทศสิงคโปร์อีกต่อไป

โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่เข้ามาแทนที่โครงการขุดคลองข้ามคอคอดกระที่กล่าวถึงกันมาหลายร้อยปีในประเทศไทย โดยเป็นการเชื่อมอ่าวไทยเข้ากับทะเลอันดามันผ่านการสร้างถนนและทางรถไฟ

นายกฯ เศรษฐา อดีตนักบริหารอสังหาริมทรัพย์ได้มีการขายไอเดียเกี่ยวกับแลนด์บริดจ์ให้กับนักลงทุนทั้งสองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อไม่นานมานี้

ในระหว่างการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือการประชุมเอเปกในนครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน นายเศรษฐาได้เสนอโครงการแลนด์บริดจ์มูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาทให้กับนักลงทุนโดยกล่าวว่าเป็นโครงการที่ช่วยลดเวลาการเดินเรือสินค้าได้รวมสองถึงสามวัน

ก่อนหน้านั้นช่วงกลางเดือนตุลาคม นายเศรษฐาได้เข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในกรุงปักกิ่ง โดยมีรายงานว่าบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอนจิเนียริ่ง ได้แสดงความความสนใจในโครงการแลนด์บริดจ์ดังกล่าว

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านักลงทุนจากสหรัฐฯ จีนและตะวันออกกลางได้แสดงความสนใจในโครงการดังกล่าวเช่นกัน

นายเศรษฐาแสดงความหวังว่าโครงการแลนด์บริดจ์น่าจะเริ่มขึ้นได้ โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามีคำถามมากมายถึงโครงการดังกล่าวในบริเวณคอคอดกระ ทั้งความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ความคุ้มค่าด้านการเดินเรือและขนส่งสินค้า รวมไปถึงผลกระทบด้านความมั่นคงของชาติและด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล

รายละเอียดของแผนการในการเชิญชวนนักลงทุนจากต่างชาติ ได้แก่ การให้สัมปทานผ่านการประกวดราคานานาชาติในระยะเวลาการบริหารงาน 50 ปี เพื่อสร้างทางมอเตอร์เวย์เชื่อมสองฝั่งความยาวราว 90 กิโลเมตร วิ่งระหว่างท่าเรือสินค้าในจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง

รัฐบาลไทยวางแผนการเดินสายเสนอโครงการดังกล่าวหรือโรดโชว์ก่อนที่จะเปิดการประมูลราวปี 2568 โดยการก่อสร้างน่าจะเริ่มขึ้นได้ในปีดังกล่าว ก่อนเปิดโครงการในปี 2573

“เรากำลังจะไปญี่ปุ่นเร็ว ๆ นี้ และน่าจะไปจีนอีกครั้งหนึ่งเพื่อแสดงโรดโชว์” นายชัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นายชัยกล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์อาจดึงดูดนักลงทุนจากประเทศใกล้เคียงเช่น สิงคโปร์ได้เช่นกัน โดยสิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญในการบริหารท่าเรือและมีความพร้อมด้านประสบการณ์และเงินทุน

“มีผลประโยชน์ที่ตามมามากมายกับโครงการแลนด์บริดจ์ นักลงทุนก็สามารถพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ โครงการได้” นายชัยกล่าว

231204-thai-landbridge_TH.jpg

“จะมีผู้ผลิตสินค้าเข้ามาลงทุน ส่งสินค้าที่ผลิตในไทยไปที่ต่าง ๆทั่วโลก มีการสร้างโรงงาน นักลงทุนต้องคิดระบบว่าเมื่อโอกาสมีอย่างนี้ โลเคชั่นแบบนี้ คุณจะออกแบบดีไซน์ระบบการขนถ่ายสินค้าแบบไหน และพัฒนาที่ดินโดยรอบแบบไหน"

"รัฐบาลไทยเสนอโลเคชั่นกับโอกาสให้กับผู้ลงทุน ผมว่านี่คือโททัลแพคเกจ" นายชัยกล่าว

ความคิดเดิมในยุคใหม่

โครงการแลนด์บริดจ์ถือได้ว่าเป็นการต่อยอดพัฒนามาจากโครงการคอคอดกระ ซึ่งเป็นแนวคิดด้านยุทธศาสตร์เก่าแก่ โดยจะทำงานในลักษณะเดียวกับคลอง คือเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียโดยไม่ต้องเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา

แนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นอย่างน้อยในช่วงศตวรรษที่ 17 ในสมัยอยุธยาเป็นราชธานีไทย โดยเป็นแนวคิดขุดคลองเพื่อเพิ่มการค้าในบริเวณภาคใต้ของไทย

“ความคิดดังกล่าวมีมากว่า 300 ปี ไม่ว่าจะในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทั้งคลองหรือระบบราง โดยมักจะผุดขึ้นมาทุกครั้งที่เศรษฐกิจไทยไม่ดีเนื่องจากรัฐบาลต้องการกระตุ้นการสร้างงาน ดึงดูดการลงทุนและสร้างมูลค่าเม็ดเงิน” เอียน สตอรี่ นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ในประเทศสิงคโปร์กล่าว

นักวิเคราะห์ท่านอื่นให้ความเห็นว่าการเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ให้เป็นคู่แข่งกับช่องแคบมะละกาอาจไม่ใช่แนวคิดที่ดีที่สุด รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าโครงการแลนด์บริดจ์ทำให้เรือต้องขนถ่ายสินค้าลงอีกฝั่งหนึ่ง ก่อนที่จะขนถ่ายสินค้านั้นบนรถขนสินค้าหรือรถไฟเพื่อข้ามไปยังท่าเรืออีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มเวลาการเดินเรือและไม่ได้ประหยัดเวลาอย่างที่เข้าใจกัน

“มันไม่มีเหตุผลที่จะต้องใช้ท่าเรือหรือการขนส่งในลักษณะนี้ เพราะระยะเวลาที่ประหยัดได้ไม่ทำให้โครงการนี้มีความเป็นไปได้ในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งก็คือการเปรียบเทียบว่าการใช้แฟซิลิตี้แบบนี้กับการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วอะไรดีกว่ากัน สิ่งที่มีอยู่แล้วคือช่องแคบมะละกา ด้วยระยะทางประหยัดไปได้แค่สองวัน ไม่ได้มีนัยยะสำคัญเพียงพอที่จะทำให้คนเลิกใช้ช่องแคบมะละกา และในทางปฏิบัติในการใช้แลนด์บริดจ์เรือต้องมาออค้างกันอยู่” รศ.ดร. ปิติ กล่าว

231204-th-landbridge-2.jpeg

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมรายละเอียดโครงการแลนด์บริดจ์กับคณะทำงานจากกระทรวงคมนาคม ก่อนเข้าร่วมการประชุมเอเปกที่สหรัฐอเมริกา โดยโพสต์ภาพการประชุมดังกล่าวลงบนแพลตฟอร์ม X [@Thavisin] เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566

รศ.ดร. ปิติ กล่าวว่าประโยชน์ของแลนด์บริดจ์จริง ๆ ถ้าจะเกิดขึ้น คือการเป็นปากประตูสำหรับสินค้าและบริการที่จะไหลเข้ามาในประเทศไทย หรือที่ผลิตในไทยแล้วไหลไปตลาดโลก ทำให้สินค้าที่ผลิตในไทย ลาว พม่า หรือจีนตอนใต้ สามารถส่งออกไปได้ทั้งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

“ประเทศไทยหมกมุ่นกับเรื่องคลองมานานแล้ว ก็ไม่กล้าพูดให้ขาดไปเลยว่าไม่มีทางสำเร็จ” รศ.ดร. ปิติ กล่าว

นายชัย โฆษกรัฐบาล กล่าวว่าการบริหารท่าเรือทั้งสองฝั่งจะต้องเป็นระบบ single command หรือ มีความเบ็ดเสร็จในตัวเอง ซึ่งจะทำให้ประหยัดเวลาการรอคอยการขนถ่ายสินค้าของเรือและช่วยลดค่าโลจิสติกส์ได้ราว 15 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงการประหยัดเวลาได้สี่วันเมื่อเทียบกับการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา

ในขณะเดียวกัน สตอรี่ไม่เชื่อมั่นว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้

"จีนไม่เคยมองว่าโครงการคอคอดกระเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง บริษัทสหรัฐฯ ก็ไม่ได้แสดงความสนใจ บริษัทไทยเองก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้แต่ก็ไม่ได้โต้แย้งกับรัฐบาลไทย"

“ผมคิดว่าคนไทยยังจะต้องพูดถึงโครงการคลองคอคอดกระหรือโครงการแลนด์บริดจ์ไปอีก 300 ปีนับจากนี้” สตอรี่กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง