ไทยขู่จะไม่ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนสานะคาม-ลาว จากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความมั่นคง

รายงานพิเศษ
2020.12.03
ไทยขู่จะไม่ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนสานะคาม-ลาว จากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความมั่นคง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นี้ แสดงส่วนของแม่น้ำโขงที่อยู่ด้านล่างติดกับบริเวณที่จะสร้างเขื่อนสานะคาม
นักข่าวพลเมือง

ไทยอาจไม่ซื้อไฟฟ้าจากโครงการขนาดใหญ่ในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงของลาว ประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากขาดความชัดเจนเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อนดังกล่าว ผู้แทนรัฐบาลไทยคนหนึ่งกล่าว

รัฐบาลลาวได้เดินหน้าแผนการสร้างเขื่อนสานะคาม ซึ่งจะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ลำดับที่ 7 บนแม่น้ำโขง และเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของกลยุทธ์อันทะเยอทะยานของลาวที่ต้องการเป็น “ขุมพลังแห่งเอเชียอาคเนย์” โดยการขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศอื่น ๆ

เขื่อนที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 684 เมกะวัตต์นี้ โดยตามแผนแล้วจะสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2571 จะมาสมทบกับเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮงที่ขณะนี้เปิดดำเนินการแล้ว อีกสี่เขื่อนที่อยู่ในขั้นต่าง ๆ ของการวางแผนคือ เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนภูงอย

แต่ในระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. นี้ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวอาจล้ำหน้าไปกว่าความเป็นจริง

ก่อนหน้านี้ เรา คณะกรรมการของไทยได้หารือกันว่าโครงการนี้ดีหรือไม่ โครงการนี้ต้องเคารพสิทธิ์ของเราในการซื้อหรือไม่ซื้อไฟฟ้า ถ้าเรามีแหล่งอื่นที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเรา เราจะซื้อไฟฟ้าจากแหล่งเหล่านั้น” นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าว

เรายังไม่ได้ตกลงที่จะซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้เลย กระทรวงพลังงานกำลังหารือกันถึงเงื่อนไขต่าง ๆ และเงื่อนไขนั้นอาจอยู่ที่ว่าแหล่งนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อไทยเราต้องทราบอย่างชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้” เขากล่าว

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ กล่าวว่า ในมุมมองของไทยแล้ว ราคาไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายมีความสำคัญน้อยกว่าผลกระทบที่เขื่อนนี้มีต่อไทย เขายังบอกอีกด้วยว่า ณ ตอนนี้ ไทยเพียงแค่ลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีเท่านั้น

หลังการแถลงข่าว นายประจักษ์บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาลาวว่า เขื่อนสานะคามจะ “มีผลกระทบต่อไทยอย่างแน่นอน”

เราไม่ได้บอกว่า ไม่ควรสร้างเขื่อนนี้ แต่ถ้าขาดความชัดเจนเรื่องผลกระทบของเขื่อนนี้ เราจะยอมรับไม่ได้ เรายังวิตกอยู่ เพราะจนถึงตอนนี้ เรายังไม่ได้รับข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับเขื่อนหรือผลกระทบของเขื่อนนี้” เขากล่าว

201203-map-lao.jpeg

บางกอกโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ว่า เขาบอกแก่สื่อว่า ไทยมีปริมาณกระแสไฟฟ้ามากเกิน จนไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อจากลาว

รายงานนั้นกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีไทยเป็นกังวลถึงผลกระทบทางนิเวศวิทยาของเขื่อนสานะคาม และจะจัดทำประชาพิจารณ์ ในแปดจังหวัดของไทย ที่อยู่ตามแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการกลับลำจากการตัดสินใจก่อนหน้านี้ ที่จะไม่ทำประชาพิจารณ์

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นไปได้เกี่ยวกับเขื่อนนี้ คือ ผลที่อาจมีต่อความมั่นคงของไทย เนื่องจากเขื่อนนี้อาจเปลี่ยนเส้นทางการไหลของแม่น้ำโขง ซึ่งทำหน้าที่เป็นพรมแดนระหว่างประเทศลาวและไทย

ขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากไทย

ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านบอกแก่ เรดิโอฟรีเอเชีย ว่า ขณะที่ผลกระทบของเขื่อนในโครงการนี้ปรากฏให้เห็นชัดขึ้น ไทยตระหนักว่า เป็นความรับผิดชอบของไทยที่จะต้องปกป้องแม่น้ำโขง

"เขื่อนสานะคามจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงเชิงสังคม และสิ่งแวดล้อมในทั้งลาวและไทยอย่างแน่นอน ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยและคนไทยกำลังตระหนักถึงผลกระทบเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ” เอียน แบร์ด แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย เมื่อวันที่ 30 พ.ย.

ถ้าไทยตัดสินใจไม่ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่มีทางเลยที่โครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะไม่มีประเทศอื่นที่จะซื้อไฟฟ้า” เขากล่าว โดยเสริมด้วยว่า ไทยอยู่ในสถานะที่พิเศษ เพราะสามารถเป็นผู้กำหนดได้ว่า จะทำให้มีการสร้างเขื่อนมากขึ้นบนแม่น้ำโขงหรือไม่

ขณะเดียวกัน ไบรอัน อายเลอร์ แห่งศูนย์สติมสัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแม่น้ำโขง บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชียว่า สทนช. เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐบาลไม่กี่หน่วยเท่านั้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตระหนักว่า แม่น้ำโขงกำลังใกล้วิกฤตแล้ว

สมเกียรติชี้อย่างถูกต้องให้เห็นว่า เขื่อนต่าง ๆ กำลังทำลายวัฏจักรการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง และทำให้ตะกอนในแม่น้ำหายไป และเป็นครั้งแรกที่เขาประกาศออกมาว่า ไทยไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนบนลำน้ำโขงสายหลัก ในลาวอีก เห็นได้ชัดว่าถ้าไม่มีคนซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนของลาว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้น” ไบรอัน อายเลอร์ กล่าว

แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลลาวได้กล่าวไว้ว่า โครงการนี้สำคัญมากต่อแผนพัฒนาประเทศของลาว และลาวมีทางเลือกอื่น หากไทยถอนตัวจากโครงการนี้

ลาวมีสิทธิ์ที่จะสร้างเขื่อนนี้ ถ้าเราขายไฟฟ้าให้ไทยไม่ได้ เราสามารถขายให้ประเทศอื่นได้ เรามีทางเลือกอื่นมากมาย ดังนั้น จะมีการสร้างเขื่อนนี้ขึ้น” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกระทรวงพลังงาน และเหมืองแร่ของลาว บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย เมื่อวันที่ 26 พ.ย.

ในงานแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. บุญคำ วรจิต ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลาว กล่าวในคำกล่าวเปิดงานว่า ลาวจะ “รับรองว่าจะจัดการกับประเด็นสำคัญทั้งหมด ก่อนที่โครงการจะดำเนินต่อไป

เธอกล่าวว่า เขื่อนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของแผนของลาวในการขายกระแสไฟฟ้า 20 กิกะวัตต์ ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านภายในปี พ.ศ. 2573 โดยกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ผลิตจากพลังน้ำ

ลาวได้สร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำจำนวนสิบกว่าเขื่อนบนแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยมีแผนขั้นสุดท้ายว่า จะสร้างเขื่อนอีกจำนวนมาก และหวังว่าจะส่งออกกระแสไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นให้แก่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ลาวกำลังเตรียมที่จะสร้างเขื่อนอีกจำนวนมากในอนาคต

แม้รัฐบาลลาวจะมองว่าการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นหนทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม แต่โครงการเหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การย้ายชาวบ้านออกจากชุมชนที่อยู่โดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพียงพอ และการจัดเตรียมที่มีข้อกังขาด้านการเงิน และการจัดการด้านความต้องการพลังไฟฟ้า  

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง