ไทยเป็นสวรรค์ของ LGBT+ หรือไม่เมื่อที่ทำงานยังกีดกันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
2024.08.02
กรุงเทพฯ
ณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์ หรือนิกกี้ ฝันอยากทำงานกับเชนโรงแรมชั้นนำในประเทศไทย หลังจากจบการศึกษาด้วยปริญญาโทด้านการท่องเที่ยวนานาชาติจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาเมื่อราวหนึ่งทศวรรษก่อน
นิกกี้ส่งใบสมัครไปกว่า 100 แห่ง พร้อมแนบรูปไปด้วย แต่กลับพบว่าตัวเองยังว่างงานอยู่หลังจากผ่านไปหกเดือน หลังจากนั้น นิกกี้มีโอกาสได้เข้าร่วมการแข่งขันคัดเลือกผู้สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้บริหารของเชนโรงแรมแห่งหนึ่ง และประสบความสำเร็จได้เข้ารอบเป็นหนึ่งในแปดคนสุดท้ายจากจำนวนผู้สมัครกว่า 3,500 คน แต่สุดท้ายเธอกลับไม่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการ
“หนึ่งปีให้หลัง มีคนมาบอกว่าคะแนนเราติดหนึ่งในสาม แต่ภาพลักษณ์เราเสีย ดูไม่น่าเชื่อถือ รู้สึกเจ็บใจมาก”
หลังจากนั้น นิกกี้ได้มีโอกาสทำงานในแวดวงประชาสัมพันธ์ แต่ในฐานะหญิงข้ามเพศ กลับต้องเจอคำถามที่ว่าเธอจะใช้ห้องน้ำผู้หญิง หรือห้องน้ำผู้ชาย หรือจะใส่กางเกงหรือกระโปรงมาทำงาน
ถึงแม้ว่าการรับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นชัยชนะแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของภาคประชาสังคม แต่ในที่ทำงาน นิกกี้ และบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศคนอื่น ยังต้องพบกับการกีดกันและการเลือกปฏิบัติ
หลังจากพบเจอกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานมายาวนาน นิกกี้ก่อตั้ง TransTalents Consulting Group บริษัทที่ปรึกษาด้านความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างในที่ทำงานขึ้น
“ความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างในที่ทำงานเป็น foundation (รากฐาน) ขององค์กรไม่ใช่แฟชั่น ปัจจุบันลูกค้าอยากเข้าหาแบรนด์ที่มีความจริงใจ มีเป้าหมายทางธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้น มีความหลากหลายในองค์กร มีบรรยากาศการทำงานที่รู้สึกปลอดภัย แสดงความเห็นได้เต็มที่ ถ้ารู้สึกปลอดภัยไม่มีความกลัวในการเป็นตัวเองนำพาองค์กรเติบโตแค่ไหน องค์กรสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อย่างไร”
หลังจากก่อตั้งบริษัทในปี 2565 นิกกี้ฝึกอบรมองค์กรทั้งในและนอกประเทศกว่า 20 องค์กร “องค์กรเอกชน กำลังเรียนรู้อย่างช้า ๆ ส่วนฝั่งราชการยังช้า ยังตัดสินคนที่เพศสภาพอยู่”
ผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยหลายรายได้รณรงค์เรื่องการยอมรับความแตกต่างหลากหลายในที่ทำงาน โดยได้เสนอแนวทางปฏิบัติในองค์กรในเชิงนโยบาย และการโน้มน้าวผู้บริหารขององค์กรถึงความจำเป็นของการยอมรับความแตกต่าง โดยมีเป้าหมายคือการลบล้างการเหมารวม ภาพจำและทัศนคติที่ทำให้ LGBT+ ไม่สามารถตามหาศักยภาพที่แท้จริงในการทำงานของตนได้
“LGBT+ มักจะโดนผลักให้ไปทำงานเป็นช่างแต่งหน้าหรือทำงานในแวดวงสื่อหรือในแวดวงบันเทิง คนก็เลยมีภาพจำเกี่ยวกับ LGBT+ แบบนั้น แม้กระทั่ง LGBT+ เองบางครั้งก็ยังเชื่อว่าตัวเองเป็นแบบนั้น” นิกกี้กล่าว
ความรุนแรงชนิดหนึ่ง
ในปี 2562 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเปิดเผยรายงานด้านทัศนคติเกี่ยวกับ LGBT+ และประสบการณ์ของ LGBT+ ในประเทศไทย และพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น LGBT+ ในไทยยังพบเจอกับการถูกตีตราและการถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเรียกด้วยชื่อเฉพาะหรือการถูกล้อเลียน
LGBT+ มักถูกบอกไม่ให้แสดงออกตามเพศสภาพ และให้จำนนต่อแบบแผนของเพศสภาพที่ได้รับการยอมรับทั้งในโรงเรียน ที่ทำงานและที่บ้าน ตามรายงานดังกล่าว
“เป็นความรุนแรงที่เรียกว่า microaggression เป็นการแซวหรือทำให้เรื่องของเพศ สภาพร่างกายเป็นเรื่องตลกขบขัน คำพูดเช่น ผู้หญิงชอบดราม่า LGBT+ ก็ขึ้น ๆ ลง ๆ มีผลใหญ่หลวง เนื่องจากต่อไป LGBT+ คนไหนที่จะเลื่อนขั้นเป็นผู้บริหารก็พลาดโอกาส จึงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”
อารยา ชัยประเสริฐ อายุ 32 ปี พบกับการเลือกปฏิบัติตั้งแต่ก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานในแวดวงการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี
“ตอนสัมภาษณ์งาน สัมผัสได้จากสายตาที่มอง ถูกประเมินจากภายนอก ตอนสัมภาษณ์ก็มีคำถามว่าคิดว่าตัวเองพร้อมและมีความน่าเชื่อถือหรือเปล่า เพื่อนผู้ชายไม่เจอคำถามนี้”
“สุดท้ายเขาเลือกให้ตำแหน่งรองลงมาจากที่สมัคร ให้ทำงานในองค์กร ไม่ต้องไปพบลูกค้า เราเลยไปเลือกที่อื่น ซึ่งตอนนั้นเงินเดือนน้อยกว่า แต่บรรยากาศการคุยง่ายกว่า
แต่ในการทำงาน อารยายังพบเจอกับการคุกคามทางวาจาจากลูกค้า ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ชาย
“ต้องไปเจอลูกค้าเพื่อเทรนนิงลูกค้าที่โรงงานก็จะเจอผู้ชายแซวล้อเล่น คำพูดประมาณว่า ‘น้องคนนี้มา อยากได้ผู้หญิงมามากกว่า เห็นชื่อเป็นผู้หญิง เซ็งเลย’”
“เรื่องแบบนี้ เราต้องคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เราต้องถอยมาตรฐานตัวเอง ตัวเองไม่ได้ช๊อกที่ได้ยินแบบนั้น แต่ก็ไม่ได้ชอบ” อารยา ซึ่งจบการศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์กล่าว
ในช่วงสองปีหลัง บรรยากาศการทำงานที่อารยาพบเจอดีขึ้นและภาระหน้าที่และหน้าที่การงานที่ไต่เต้าขึ้นทำให้ไม่ต้องทำตัวให้ชินกับการเลือกปฏิบัติมากเหมือนเมื่อก่อน ปัจจุบันอารยาทำงานในธนาคารชั้นนำของประเทศไทยในตำแหน่ง technology product developer และกำลังจะเป็นอาจารย์พิเศษในระดับมหาวิทยาลัยสอนวิชาการพัฒนาและการหารายได้จากผลิตภัณฑ์ดิจิทัล
“สองปีหลังมานี้ ไม่ได้เจอกับตัวเองเลย บริษัทที่เพิ่งย้ายมา รูปแบบงานไม่ได้เจอลูกค้าข้างนอก
ทำงานกับทีมงานเดิม รู้จักกันดี ทำให้การตัดสินในแวบแรกมันน้อยลง เราอยู่ในบทบาทที่ดีกว่าคนอื่นด้วย การไม่ต้องเข้าไปทำงานทุกวันก็ลดการปฏิสัมพันธ์กันในที่ทำงานไปโดยปริยาย”
แต่งกายตามเพศ
ในปี 2564 ชิษณ์ชาภา พานิช นิติศาสตร์บัณฑิต ต้องการสอบตั๋วทนายความ หรือใบอนุญาตว่าความ ซึ่งจัดสอบโดยสภาทนายความทุกปี
ในวันที่ยื่นใบสมัคร เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าชิษณ์ชาภาต้องแนบใบรับรองแพทย์ว่าได้มีการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว หากต้องการใส่กระโปรงเข้าสอบ เนื่องจากคำนำหน้าชื่อเป็นนาย จึงถือว่าผิดข้อบังคับของสภาทนายความ
“เขาบอกว่าต้องแนบใบรับรองแพทย์ว่าผ่าตัดแปลงเพศ แล้วเขาพูดต่อหน้าผู้สมัครคนอื่น รู้สึกอายมากเลยค่ะ” ชิษณ์ชาภาวัย 28 ปีกล่าว
หลายปีต่อมาหลังจากผ่านการต่อสู้ทางกฎหมายและยื่นเรื่องหลายครั้งหลายหนกับทั้งสภาทนายความและเนติบัณฑิตยสภาเพื่อให้ผู้ต้องการทำงานเป็นทนายความหรือนักกฎหมายสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ ในที่สุดในปี 2566 เนติบัณฑิตยสภาได้แก้ไขข้อบังคับรับรองสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพ ในขณะที่สภาทนายความยังคงข้อบังคับอยู่ ทำให้ปัจจุบันในการว่าความในศาล ชิษณ์ชาภายังต้องยื่นคำอนุญาตต่อผู้พิพากษาเพื่อให้แต่งกายตามเพศสภาพได้
สภาทนายความมีหน้าที่ออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ส่วนเนติบัณฑิตยสภามีการจัดอบรมกฎหมายสำหรับผู้ที่ต้องการสอบเพื่อเป็นอัยการ หรือผู้พิพากษาต่อไป
ชิษณ์ชาภากล่าวว่าการต่อสู้เรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวหรือเพื่อความสบายใจของเธอเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อไปในแวดวงกฎหมายในอนาคต ซึ่งถือว่ายังเป็นวิชาชีพที่แทบไม่มีความหลากหลายทางเพศเลย
“วงการนิติศาสตร์ขาดความหลากหลาย ทนายความส่วนมากเป็นชายกับหญิงก็ขาดทัศนคติหรือไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ บางคนยังไม่รู้ว่ามีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
“หลายครั้งเวลา LGBT+ โดนเลือกปฏิบัติในที่ทำงานและต้องการดำเนินคดีทางกฎหมายก็ต้องอาศัยการดำเนินการทางกฎหมายผ่านนักกิจกรรมแทนที่จะเป็นนักกฎหมาย หากกฎหมายโอบรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนที่เข้ามาเรียนกฎหมายก็จะมีความหลากหลายขึ้น”