ศาลฎีกายกฟ้อง อ.งามศุกร์ คดีหมิ่นประมาท บริษัทธรรมเกษตร
2021.09.22
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง คดีที่บริษัท ธรรมเกษตร ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทต่อ น.ส. งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอที่ระบุว่า น.ส. งามศุกร์ เป็นผู้โพสต์ข้อความที่โจทก์ร้องว่าหมิ่นประมาท ด้าน น.ส. งามศุกร์ หวังว่า คำพิพากษาคดีของตนเองจะเป็นหมุดหมายให้กับคดีฟ้องปิดปากอื่น ๆ ในประเทศไทย
คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 น.ส. งามศุกร์ ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา มาตรา 326 และ 328 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ จากการที่เฟซบุ๊กเพจ “สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา” ซึ่ง น.ส. งามศุกร์ ทำงานอยู่ได้แชร์แถลงการณ์ขององค์กรฟอร์ติฟายไรต์ (Fortify Rights) ซึ่งมีไฮเปอร์ลิงก์เชื่อมโยงไปถึง “ภาพยนตร์สารคดีที่แรงงานพม่าให้สัมภาษณ์ว่า บริษัท ธรรมเกษตร ละเมิดสิทธิแรงงาน” โดยสารคดีดังกล่าวถูกเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2560
สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 และวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยระบุว่า หลักฐานไม่สามารถระบุได้ว่า น.ส. งามศุกร์ เป็นผู้โพสต์แถลงการณ์ดังกล่าว
น.ส. งามศุกร์ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ได้เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่มาที่ศาลอาญา ในกรุงเทพในวันพุธนี้ เพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกา โดยคดีนี้ตนเองใช้เวลาต่อสู้ถึง 2 ปีเศษ และต้องเดินทางจากเชียงใหม่มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถึง 3 ครั้ง ในชั้นศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
“คิดว่าเราไม่ควรถูกฟ้องตั้งแต่แรก เพราะสถาบันสิทธิฯ ไม่ได้เขียนข้อความอะไร นอกจากแชร์ลิงก์ และการแสดงออกทางความคิดควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน คดีฟ้องปิดปาก มันสร้างภาระให้กับคนที่ถูกฟ้อง ทั้งค่าใช้จ่าย และเรื่องสภาพจิตใจ ควรจะมีการยกเลิกการดำเนินคดีเช่นนี้ได้แล้ว เราหวังว่า คดีนี้จะเป็นหมุดหมายให้กับคดีอื่น เพราะเป็นคดีแรกที่ผ่านมาทั้งสามศาล และชนะทุกศาล เพราะไม่มีมูล” น.ส. งามศุกร์ กล่าว
ด้าน นายชาญชัย เพิ่มพล เจ้าของและผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ธรรมเกษตร ผู้ฟ้องคดี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนยอมรับคำตัดสิน
“เราก็น้อมรับคำตัดสิน ไม่ผิดไปจากความคาดหวังคงออกมารูปนี้ เพราะศาลท่านมองว่า สิ่งที่ผมเบิกความให้การว่าผมได้ไปที่มหิดล คุณงามศุกร์ก็รับเป็นคนโพสต์ และก็ลบไป ไม่มีคำขอโทษ ประเด็นก็เลยขึ้นสู่ศาล ผมแค่อยากทำให้สังคมรู้ว่าคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนไม่ควรละเมิดสิทธิคนอื่นแบบนี้” นายชาญชัยกล่าว
ขณะเดียวกัน น.ส. เอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหาร ฟอร์ติฟายไรต์ ระบุว่า คดี SLAPP (strategic lawsuits against public participation) หรือ คดีฟ้องปิดปาก ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้วในประเทศไทย
“คำพิพากษาคดีในวันนี้ นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสิ่งที่อาจารย์งามศุกร์ทำนั้นเป็นเสรีภาพทางวิชาการที่ควรทำได้ เราจำเป็นต้องยุติกระบวนการฟ้องคดีปิดปาก เพราะปัจจุบัน ยังมีนักสิทธิมนุษยชนอีกหลายคนที่โดนฟ้องดำเนินคดีในลักษณะคล้ายคลึงกัน ทั้งที่พวกเขาเพียงใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก” น.ส. เอมี ระบุ
ธรรมเกษตรฟ้องนักปกป้องสิทธิหลายคดี
ในปี พ.ศ. 2559 แรงงานชาวเมียนมา 14 คน ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนต่างชาติและองค์กรสิทธิแรงงานหลายแห่งว่า บริษัท ธรรมเกษตร บังคับให้ทำงาน 20 กว่าชั่วโมงต่อวัน ถูกยึดเอกสารประจำตัว และถูกหักเงินเดือน จากนั้น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ตัดสินว่า ไม่มีการยึดพาสปอร์ต แต่นายจ้างทำผิดเรื่องค่าจ้างและให้ชดเชยแรงงาน 1.7 ล้านบาท
หลังจากนั้น บริษัท ธรรมเกษตร ได้แจ้งความดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรวม 22 คน ใน 37 คดี อย่างไรก็ตาม ศาลไม่รับฟ้องหรือยกฟ้อง ตามข้อมูลขององค์กรฟอร์ติฟายไรต์ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจากประเทศสหรัฐอเมริกา
คดีทั้งหมดนี้ เริ่มต้นจากการที่ บริษัท ธรรมเกษตร ฟ้องร้องอดีตคนงานชาวเมียนมา 14 คน ที่ศาลแขวงดอนเมือง โดยกล่าวหาว่า แรงงานทั้งหมดใช้ข้อความอันเป็นเท็จร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และได้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน เมื่อปี 2559 ว่าสภาพการจ้างงานในฟาร์มไก่ของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายแรงงาน และมีการละเมิดสิทธิแรงงาน
ศาลแขวงดอนเมือง ได้ตัดสินยกฟ้องแรงงานทั้ง 14 คน โดยเห็นว่า การร้อง กสม. ของจำเลยทั้งหมดเป็นความจริง และจำเลยใช้สิทธิโดยสุจริตในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน
นางเอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรฟอร์ติฟายไรต์ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ว่า นอกจาก น.ส. งามศุกร์แล้ว นางอังคณา นีละไพจิตร อดีต กสม., น.ส. สุธารี วรรณศิริ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวไทย และนายนาน วิน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวเมียนมา ก็ถูกฟ้องจากการแชร์ลิงก์ของฟอร์ติฟายไรต์ เช่นกัน
โดยหากศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจริง นายนาน วิน จะได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 4 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท ขณะที่ น.ส. สุธารี จะรับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 ปี และปรับไม่เกิน 600,000 บาท นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท จาก น.ส. สุธารี แต่ในคดีนี้คู่กรณีได้ยอมความกันแล้ว