ตร. ออกหมายจับผู้ต้องสงสัยร่วมขบวนการยิง อดีต สส. ฝ่ายค้านกัมพูชาในไทย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ จรณ์ ปรีชาวงศ์
2025.01.09
กรุงเทพฯ
ตร. ออกหมายจับผู้ต้องสงสัยร่วมขบวนการยิง อดีต สส. ฝ่ายค้านกัมพูชาในไทย ในภาพถ่ายวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ลิม กิมยา (ขวา) สมาชิกรัฐสภาจากพรรคกู้ชาติกัมพูชา นั่งหารือกับผู้ช่วยของเขาในร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ
เอเอฟพี

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม เปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ได้ขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดก่อเหตุยิง นายลิม กิมยา อดีต สส. พรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) เสียชีวิตในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่อังคารที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ นายเอกลักษณ์ (สงวนนามสกุล) หรือจ่าเอ็ม ผู้ต้องหาลงมือยิงนายลิม อาจต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์-1 เดือน ในการส่งตัวจากกัมพูชามาดำเนินคดีที่ไทย

“ศาลอนุมัติออกหมายจับ นายคิมริน (สงวนนามสกุล) ชาวกัมพูชา ที่ 104/2568 ลงวันที่ 8 ม.ค. 2568 ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน นายคิมริน เป็นคนชี้เป้าให้จ่าเอ็มยิงนายลิม กิมยา นักเคลื่อนไหว อดีต ส.ส. ฝ่ายค้านชาวกัมพูชาเสียชีวิต” พ.ต.ท. ภัชชภณ สุประดิษฐ์ สารวัตร (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม กล่าว

ในวันเดียวกันเวลา 11.20 น. ภรรยา, ลุง และผู้ติดตามของนายลิม 2 คน ได้เดินทางไปพบกับพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อให้ปากคำ แต่ปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชน และให้ถ่ายภาพโดยใช้ผ้าคลุมศีรษะ ขณะเดินเข้าสถานี

นายลิม กิมยา อายุ 74 ปี เป็นอดีต สส. พรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party -CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา ซึ่งถูกยุบพรรคเมื่อปี 2560 ทำให้นายลิม และสมาชิกพรรคกว่าร้อยชีวิต ถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ด้วยนายลิม ถือสองสัญชาติคือกัมพูชา-ฝรั่งเศส หลังจากการยุบพรรค จึงได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส 

ก่อนเกิดเหตุ นายลิม และภรรยาชาวฝรั่งเศส รวมถึงลุงของเขา ได้โดยสารรถบัสจากเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา มาลงรถที่บริเวณใกล้จุดเกิดเหตุ ก่อนที่จะถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนสั้นยิงเสียชีวิต ในเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันอังคารที่ 7 ม.ค. 2568 บนถนนตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ 

สน. ชนะสงคราม ได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัยก่อเหตุยิงดังกล่าวคือ นายเอกลักษณ์ (สงวนนามสกุล) หรือจ่าเอ็ม อายุ 41 ปี ซึ่งเป็นอดีตนาวิกโยธินของกองทัพเรือ เบื้องต้นตั้งข้อหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พกอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควร และยิงปืนโดยใช่เหตุ 

ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 16.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ประสานตำรวจกัมพูชาจนสามารถจับกุมตัว นายเอกลักษณ์ ได้ในพื้นที่ จ.พระตะบอง กัมพูชา ซึ่งฝ่ายไทยได้ประสานขอตัวมาดำเนินคดีแล้ว 

“ตอนนี้ อยู่ในขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายของกัมพูชาในเรื่องของการดำเนินคดี เพราะว่าตัวคนร้ายเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทางไทยเราได้ประสานงานโดยทำหนังสือทางการทูตเพื่อขอให้ส่งตัวคนร้ายมาดำเนินคดีที่ไทย” พล.ต.ต. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าว

พล.ต.ต. ธีรเดช เชื่อว่า ระยะเวลาในการรอการส่งตัวนายเอกลักษณ์กลับมายังประเทศไทย อาจใช้เวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน โดยยืนยันว่านอกจากผู้ต้องหา 2 คนนี้แล้ว ตำรวจกำลังดำเนินการหาเบาะแสผู้ร่วมขบวนการรายอื่นด้วย

“นอกจากจะจับนายเอ็มแล้ว ยังไม่หยุดแค่นี้ เราต้องหาผู้สนับสนุนหรือผู้ร่วมกระทำความผิดเพิ่มเติม ขอระยะเวลาให้ตำรวจได้ทำงาน” พล.ต.ต. ธีรเดช กล่าว

ผู้ลี้ภัยในไทยตกเป็นเป้ากดปราบข้ามชาติ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ปลายปี 2567 ในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 86,000 คน ในนั้น 81,000 คน เป็นชาวเมียนมา ส่วนที่เหลือราว 5,500 คน ประกอบด้วยคนอีก 40 สัญชาติ 

ในเดือน พ.ย. 2567 รัฐบาลไทยเพิ่งส่งกลับชาวกัมพูชา 7 คน ซึ่งลี้ภัยออกจากกัมพูชา เพราะเชื่อว่าตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามจากรัฐบาลกัมพูชา แม้จะมีเสียงคัดค้านจากองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ และภาคประชาสังคมของไทย แต่ไทยก็ยังส่งกลับผู้ลี้ภัยเหล่านั้น 

2025-01-08T030743Z_1171742026_RC2D5CAY89DD_RTRMADP_3_THAILAND-CAMBODIA-CRIME.JPG
คราบเลือดกระจายอยู่บนพื้นบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งอดีตนักการเมืองพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ลิม กิมยา วัย 74 ปี ถูกยิงเสียชีวิต ในกรุงเทพมหานคร วันที่ 8 มกราคม 2568 (ชาลินี ถิระศุภะ/รอยเตอร์)

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรียกว่าการกดปราบข้ามชาติ ซึ่งไม่ใช่กรณีแรก เป็นการที่ผู้ลี้ภัยหนีการประหัตประหาร จากประเทศหนึ่งมาอีกประเทศหนึ่ง และมีการร่วมมือกันไม่ว่าจะเป็นอย่างเปิดเผยหรือในทางลับ เหมือนกรณีของ นายวันเฉลิมสัตย์ ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวในกัมพูชา เมื่อเดือนที่แล้วทางการไทยได้ส่งตัวอดีตนักเคลื่อนไหว ชาวกัมพูชากลับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความหย่อนยานในกระบวนการกฎหมายของไทย” นายกัณวีร์ สืบแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวแก่สื่อมวลชน

ในปี 2563 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมอายุ 37 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และคดี พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มบุคคลติดอาวุธ จากหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย-กัมพูชา ยังไม่สามารถหาเบาะแสผู้ที่ก่อเหตุดังกล่าวได้ 

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น น.ส. เคท ชูเอตเซ รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการคุกคามพรรคฝ่ายค้าน และสะท้อนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา 

“นี่เป็นการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าการเสียชีวิตของนายลิม กิมยา อดีต สส. พรรคฝ่ายค้าน เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมืองในกัมพูชาโดยตรงหรือไม่ แต่การสังหารนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ทางการกัมพูชายังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง” น.ส. ชูเอตเซ กล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์นี้อย่างเร่งด่วน โปร่งใส รอบด้าน และเป็นกลาง เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง และนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยต้องไม่ใช้โทษประหารชีวิต 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง