จับแล้ว คนร้ายยิงลิม กิมยา อดีต สส. ฝ่ายค้านกัมพูชาเสียชีวิตในกรุงเทพฯ

ตำรวจกัมพูชาจับได้ที่พระตะบอง พร้อมประสานส่งตัวกลับไทย
นนทรัฐ ไผ่เจริญ จรณ์ ปรีชาวงศ์ และ เรดิโอฟรีเอเชีย กัมพูชา
2025.01.08
จับแล้ว คนร้ายยิงลิม กิมยา อดีต สส. ฝ่ายค้านกัมพูชาเสียชีวิตในกรุงเทพฯ ลิม กิมยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาจากพรรคกู้ชาติกัมพูชา ขณะทำงานในสำนักงานของเขา ที่กรุงพนมเปญ วันที่ 26 ตุลาคม 2560
เอเอฟพี

ปรับปรุงข้อมูล เวลากรุงเทพ 22:00 น. วันที่ 8 ม.ค. 2568

ตำรวจกัมพูชาเผย ผู้ต้องสงสัยอดีตนาวิกโยธินถูกจับแล้ว หลังหลบหนีข้ามแดนไปยัง จ.พระตะบอง ภายหลังคนร้ายก่อเหตุยิง นายลิม กิมยา อดีต สส. พรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) เสียชีวิตในกรุงเทพฯ เมื่อเย็นวันอังคารที่ผ่านมา

ตำรวจกัมพูชาระบุในแถลงการณ์ว่าผู้ต้องสงสัยหลบหนีจากกรุงเทพฯ ข้ามชายแดนเข้าไปในกัมพูชา และถูกจับกุมในช่วงบ่ายวันพุธ

“เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนและจับกุมผู้ต้องสงสัยในจังหวัดพระตะบอง ตามคำร้องขอความร่วมมือและข้อมูลจากตำรวจไทย” ตำรวจกัมพูชากล่าว พร้อมเสริมว่าผู้ต้องสงสัยถูกควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจในตัวเมืองพระตะบองเพื่อสอบปากคำ

“ผู้ต้องสงสัยจะถูกส่งตัวกลับประเทศไทยตามคำขอของทางการไทย หลังจากที่กัมพูชาดำเนินการสอบสวนเสร็จสิ้น”

นายลิม กิมยา อายุ 74 ปี เป็นอดีต สส. พรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party -CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา ซึ่งถูกยุบพรรคเมื่อปี 2560 ทำให้นายลิม และสมาชิกพรรคกว่าร้อยชีวิต ถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ด้วยนายลิม ถือสองสัญชาติคือกัมพูชา-ฝรั่งเศส หลังจากการยุบพรรค จึงได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส 

ก่อนเกิดเหตุ นายลิม และภรรยาชาวฝรั่งเศส รวมถึงลุงของเขา ได้โดยสารรถบัสจากเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา มาลงรถที่บริเวณใกล้จุดเกิดเหตุ ก่อนที่จะถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนสั้นยิงเสียชีวิต ในเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันอังคารที่ 7 ม.ค. 2568 บนถนนตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ 

ภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่โพสต์บนเฟซบุ๊ก แสดงให้เห็นชายร่างสูงถอดหมวกกันน็อคจักรยานยนต์ ก่อนจะเดินข้ามถนนและเดินเข้าหา ลิม กิมยา วิดีโอดังกล่าวได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด จากนั้นชายคนดังกล่าวก็วิ่งเหยาะ ๆ กลับไปที่จักรยานยนต์ของเขาและขี่รถออกไป

พล.ต.ท. สยาม บุญสม ผบช.น. กล่าวว่า เรื่องเจตนาที่เขามาฆ่าผู้เสียชีวิต อยู่ระหว่างการตรวจสอบกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม คาดว่าคนร้ายอาจจะมีการมาดูลาดเลาก่อน หลบหนีไปทางไหน กำลังติดตามอยู่

ด้าน พ.ต.อ. สนอง แสงมณี ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้ขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องสงสัยก่อเหตุดังกล่าวแล้ว คือ นายเอกลักษณ์ (สงวนนามสกุล) หรือ จ่าเอ็ม อายุ 41 ปี ซึ่งเป็นอดีตนาวิกโยธิน ของกองทัพเรือ เบื้องต้นตั้งข้อหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พกอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควร และยิงปืนโดยใช่เหตุ

"ข่าวลือที่ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ เชื่อว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น อาจเป็นประเด็นเรื่องของความขัดแย้งส่วนตัวก็ได้ คำตอบทั้งหมดจะรู้ได้เมื่อได้ตัวผู้ต้องหามาก่อน ส่วนจะเป็นการก่อเหตุเพียงคนเดียว หรือมีผู้ร่วมขบวนการหรือไม่อยู่ระหว่างการขยายผล" พล.ต.ท. สยาม กล่าว

การลอบสังหารเมื่อวันอังคารเกิดขึ้นในขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เรียกร้องให้รัฐบาลผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีตั้งข้อหาผู้เห็นต่างในข้อหาก่อการร้าย

“ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตรากฎหมายที่กำหนดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่มีแผน หรือกระทำการเพื่อสร้างขบวนการต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรง สร้างความวุ่นวายและความไม่ปลอดภัยในสังคม สร้างความขัดแย้งกับผู้อื่น และพยายามโค่นล้มรัฐบาล ในฐานะผู้ก่อการร้ายที่ต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อปกป้องสันติภาพ” เขากล่าวในพิธีรำลึกครบรอบ 46 ปีของวันที่กองทัพเวียดนามขับไล่รัฐบาลเขมรแดงลงจากอำนาจ

ลอบฆ่าส่งสัญญาณเมืองไทยไม่ปลอดภัย

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวกับสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการกระทำที่อุกอาจครั้งนี้

“นายกรัฐมนตรีต้องไม่เพิกเฉยกรณีนักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชาถูกยิงตายกลางกรุงเทพมหานคร นี่เป็นสัญญาณว่ากรุงเทพฯ ไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป โดยเฉพาะกับผู้เห็นต่างทางการเมือง" นางอังคณา กล่าว

เช่นเดียวกับ นายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ชี้ว่า รัฐบาลควรเร่งหาตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ทั้งหมด เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัย

“ประเทศไทยเรามีกฎหมาย เรามีประชาธิปไตย มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง เราจะไม่ยอมให้ประเทศไหนหรือใครก็ตามใช้ปฏิบัติการในการฆ่าคนเห็นต่างของชาติตนเองเด็ดขาด หวังว่าสุดท้ายแล้วจะไม่มีเบื้องหลังแบบนั้น เราต้องตามจับ และขยายผลไม่ควรจบแค่มือปืน แต่ขยายผลถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง” นายรังสิมันต์ กล่าวกับสื่อมวลชน

ในเดือน พ.ย. 2567 รัฐบาลไทยเพิ่งส่งกลับชาวกัมพูชา 7 คน ซึ่งลี้ภัยออกจากกัมพูชา เพราะเชื่อว่าตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามจากรัฐบาลกัมพูชา แม้จะมีเสียงคัดค้านจากองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ และภาคประชาสังคมของไทย แต่ไทยก็ยังส่งกลับผู้ลี้ภัยเหล่านั้น 

“การคุกคามและการพุ่งเป้าโจมตีอย่างเป็นระบบต่อผู้วิจารณ์ที่มาจากกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านและภาคประชาสังคม รวมทั้งการข่มขู่และยุยงให้ใช้ความรุนแรง การจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ การพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม และการสั่งจำคุกโดยไม่มีเหตุผล สภาพเรือนจำในกัมพูชามีลักษณะที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุ 

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ปลายปี 2567 ในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 86,000 คน ในนั้น 81,000 คน เป็นชาวเมียนมา ส่วนที่เหลือราว 5,500 คน ประกอบด้วยคนอีก 40 สัญชาติ 

ในปี 2563 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมอายุ 37 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และคดี พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มบุคคลติดอาวุธ จากหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย-กัมพูชา ยังไม่สามารถหาเบาะแสผู้ที่ก่อเหตุดังกล่าวได้ 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง