สว. ผ่าน พรบ. สมรสเท่าเทียม เตรียมประกาศบังคับใช้จริง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และแฮรี่ เพิร์ล
2024.06.18
กรุงเทพฯ และบาหลี
สว. ผ่าน พรบ. สมรสเท่าเทียม เตรียมประกาศบังคับใช้จริง หนึ่งในนักกิจกรรมถ่ายรูปกับธงสีรุ้ง ระหว่างการเฉลิมฉลองภายหลังวุฒิสภามีมติผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 18 มิถุนายน 2567
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

วุฒิสภามีมติผ่านร่าง พรบ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะทำให้คนทุกเพศสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน แม้ในการอภิปรายจะมี สว. บางคนพยายามคัดค้านการใช้คำว่า คู่สมรส แทนคำว่า สามี-ภรรยา

“ในนามคนที่เป็น LGBTQ คือ มีคนรักและอยากแต่งงานกับคนที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน เราเองหวังมานานว่า พวกเราจะมีสิทธิและมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับคู่รักต่างเพศอย่างที่ทุกท่านได้สมรส แต่งงาน และก็สามารถสร้างครอบครัวได้” น.ส. อรรณว์ ชุมาพร โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวในที่ประชุม สว. 

ในวันอังคารนี้ที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งมี พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุมได้ลงมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

“จำนวนผู้ลงมติ 152 ท่าน เห็นด้วย 130 ไม่เห็นด้วย 4 งดออกเสียง 18 ไม่ลงคะแนนเสียงไม่มี เป็นอันว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้” พล.อ. สิงห์ศึก กล่าว

การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย และเป็นประเทศที่สามในเอเชีย ถัดจากไต้หวัน และเนปาล 

หลังจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำขึ้นทูลเกล้าฯให้ในหลวงลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ 120 วัน

ในการอภิปรายของ สว. แม้สมาชิกส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการผ่านร่างกฎหมาย แต่ก็มีการแย้งจากสมาชิกบางคนที่ไม่ต้องการให้ใช้คำว่า “สมรส” แทนคำว่า “สามี-ภรรยา” 

“ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการหรือหลักการในการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ คือการเอา คำว่า สามี ภรรยา เพศชาย เพศหญิง ออกไป แล้วใช้คำอื่นมาแทน เช่น คู่สมรส คู่หมั้น ซึ่งไม่ได้ระบุเพศที่ชัดเจน โดยอ้างว่า เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ แบบนี้ ถือเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันครอบครัวอย่างรุนแรงที่สุด” พล.อ. วรพงษ์ สง่าเนตร สว. กล่าวระหว่างการอภิปราย 

240618-RTR-LGBTQ.JPG
สมาชิกชุมชน LGBTQ+ เฉลิมฉลอง หลังจากวุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม นอกทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 18 มิถุนายน 2567 (ปฏิภัทร จันทร์ทอง/รอยเตอร์)

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านความเห็นชอบ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยจำนวนผู้ลงมติ 415 คน เห็นชอบ 400 คน งดออกเสียง 2 คน และไม่ลงคะแนน 3 คน

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ในประเทศไทยจะมีบทบาทมากในสังคม และได้รับการยอมรับอย่างมาก จนในสายตาชาวต่างชาติก็เชื่อว่า ไทยเปิดกว้างสำหรับความหลากหลายทางเพศ แต่ในทางกฎหมายไทยกลับยังไม่ได้รับรองสถานะให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

“เป็นวันที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ว่า ความพยายามของพี่น้องประชาชนได้รับการตอบสนองโดยนักการเมืองของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นสภาล่าง หรือเป็นสภาสูง เป็นการยืนยันว่า รักก็คือรักในประเทศไทย เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ยืนยันหลักการนี้ว่า สิทธิในการอยู่ร่วมกัน การวางแผนชีวิตครอบครัวร่วมกัน” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวหลัง สว. ผ่านร่างกฎหมาย

กว่าสองทศวรรษกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า การลงมติในวันอังคารนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ไทยมีความก้าวหน้าเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศ

"แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอันก้าวหน้าของสังคมไทย ในการยอมรับความหลากหลายทางเพศและคุ้มครองสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ให้เสมอภาคทั้งในทางกฎหมายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่คือสัญญาณบวกที่จะทำให้สังคมไทยเปิดกว้างขึ้น แม้จะยังมีเสียงคัดค้านอยู่บ้างก็ตาม” ดร. เอียชา กล่าว

JAMES_02.jpg
ภาคประชาชนเดินขบวนสมรสเท่าเทียมไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเฉลิมฉลอง หลังจากที่ สว. ผ่าน พรบ.สมรสเท่าเทียม วันที่ 18 มิถุนายน 2567 (เจมส์ วิลสัน-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์)

ความพยายามในการมีกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศหลากหลายของไทย เริ่มขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ปี 2544 กระทรวงมหาดไทยเคยมีแนวคิดที่จะผลักดันแก้ไขกฎหมายการสมรส แต่เนื่องจากเกิดกระแสต่อต้านในสังคมจึงทำให้แนวคิดดังกล่าวตกไป

ในปี 2555 สมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเสนอ ร่าง พรบ.คู่ชีวิต เข้าสู่การพิจารณา แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่ได้ให้สิทธิการสมรสสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร ปี 2557 การพิจารณากฎหมายดังกล่าวจึงตกไป 

ในปี 2565 พรรคก้าวไกลเคยเสนอ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภา ขณะเดียวกัน รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เสนอ ร่าง พรบ.คู่ชีวิต เข้าสู่การพิจารณาเช่นกัน ซึ่งแม้กฎหมายจะมีความคล้ายกัน แต่ ร่าง พรบ.คู่ชีวิต ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนกันได้ แต่จะมีสถานะเป็น “คู่ชีวิต” ซึ่งด้อยสิทธิทางกฎหมายกว่า “คู่สมรส” อย่างไรก็ตามสภาผู้แทนราษฎรได้หมดวาระลงก่อนจะผ่านกฎหมายได้

“หวังว่าการเปลี่ยนแปลงในไทยจะจุดประกายให้กับประเทศอื่นในเอเชีย แม้ว่าตัวกฎหมายนี้จะไม่ได้สมบูรณ์ 100% แต่ถ้ามองในมุมมองขององค์กรสิทธิระหว่างประเทศ นี่เป็นการทำให้กฎหมายในไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น และเรื่องของอายุขั้นต่ำในการสมรสมันก็เป็นไปเพื่อสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” น.ส. มุกดาภา ยั่งยืนภราดร เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

กระทั่ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบผ่าน ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 4 ร่างของรัฐบาล, พรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์ และประชาชน ในวาระแรก ทำให้มีการตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณากฎหมาย กระทั่งนำมาสู่การผ่านความเห็นชอบของ สว. ในวันอังคารนี้

“ต่อจากนี้ ไทยยังต้องแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติและอคติทางเพศที่ฝังรากลึกทั้งในการศึกษา การงาน และสาธารณสุข ต้องให้ความรู้ประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจและลดการตีตราผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงต้องปรับกฎหมายอื่น ๆ ให้ครอบคลุมสิทธิของคนทุกเพศอย่างเท่าเทียม เช่น สิทธิการรับบุตรบุญธรรมหรือการเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยการมีบุตร” ดร. เอียชา กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง