ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดี กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.08.17
กรุงเทพฯ
ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดี กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความฝ่ายเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ผู้ฟ้องร้องคดีเขื่อนไซยะบุรี พูดคุยกับผู้สื่อข่าวที่ศาลปกครองสูงสุด วันที่ 17 สิงหาคม 2565
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องคดีที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ฟ้องร้องขอให้ยกเลิกสัญญาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาว (สปป.ลาว) เพราะเห็นว่าหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรับผิดชอบโครงการดำเนินการโดยไม่บกพร่อง ขณะที่ฝ่ายประชาชนไม่มีอำนาจฟ้องร้องในเรื่องสัญญาฉบับนี้

ตุลาการ ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำพิพากษาว่า ในกรณีเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องทั้ง 5 รายนั้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ ผู้ถูกฟ้องละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือล่วงหน้าก่อนดำเนินโครงการหรือไม่ และผู้ถูกฟ้องละเลยที่จะปฏิบัติหน้าที่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมจากโครงการเขื่อนหรือไม่

“ฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพันธผูกพันของราชอาณาจักรไทยในเรื่องระเบียบปฏิบัติ เรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงมิได้ละเลยหน้าที่แต่อย่างใด… โครงการเพื่อทำสัญญาจัดซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรีนั้น ก็มิได้กำหนดให้โครงการสัญญารับซื้อไฟฟ้าต้องดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินโครงการ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 และ 5 จึงไม่มีหน้าที่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง 37 คน ในฐานะผู้ฟ้อง ได้ยื่นฟ้อง กฟผ., คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 ต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้ 1. ให้พิพากษาว่าโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีของ กฟผ. เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีคำสั่งยกเลิกโครงการดังกล่าว 2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และ 3. ให้ยกเลิกมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และมติของคณะรัฐมนตรี ที่ได้อนุมัติให้ กฟผ. ดำเนินโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี

คำพิพากษายังระบุอีกว่า “ประเด็นในเรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมายของสัญญาซื้อไฟฟ้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยแล้วตามคำสั่งที่ คส. 8/2557 ลงวันที่ 17 เมษายน 2557 ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว และมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ผู้ฟ้องจึงไม่อาจอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวอีก”

นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวกับสื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษาของศาลปกครองว่า ยอมรับผลการตัดสินของศาลและฝ่ายประชาชนได้มุมมองในการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำโขงเพิ่มเติม

“อย่างน้อยดีใจกว่าครั้งที่แล้ว ที่ตุลาการผู้แถลงคดีบอกว่า ข้อโต้แย้งของผู้ถูกฟ้องที่ว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการของรัฐและอยู่นอกเขตอธิปไตย พวกเราก็กังวลว่าขอบเขตอำนาจศาลไปไม่ถึง... แต่วันนี้เห็นข้อสำคัญว่า โครงการนี้เป็นโครงการของรัฐ” นางอ้อมบุญกล่าว

ด้าน น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความฝ่ายผู้ฟ้อง ระบุว่า หลังจากนี้จะได้มีการศึกษาคำพิพากษาของศาลโดยละเอียด และเปรียบเทียบกับคดีอื่นที่คล้ายกันเพื่อเตรียมการต่อสู้ในอนาคต แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะยื่นฟ้องคดีอีกเมื่อใด

“ตอนนี้ผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว อาจจะต้องดูว่าจะฟ้องต่อศาลยุติธรรมความแพ่งเรียกค่าเสียหายได้ไหม แต่ก็จะมีช่องว่างอยู่ว่า แล้วคนที่เราจะฟ้องเป็นใคร ต้องเป็นบุคคลไทย ปัญหามันก็ทับซ้อนกันอยู่ว่าตัวของเขื่อนจริง ๆ เนี่ย การลงทุนจะนับว่าเป็นของบริษัทไทยเลยหรือไม่”​ น.ส. ส.รัตนมณี กล่าว

ด้าน ตัวแทนฝ่ายผู้ถูกฟ้อง ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษา

ต่อคำพิพากษา นางเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ระบุว่า ปัจจุบัน มีโครงการเขื่อนอีก 2 โครงการคือ เขื่อนปากแบง และเขื่อนหลวงพระบาง ใน สปป.ลาว ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขง คำพิพากษาครั้งนี้ จึงทำให้รู้สึกว่าแม่น้ำโขงยังไม่ได้รับการปกป้องอย่างเพียงพอ

“ความเดือดร้อนกำลังเกิดขึ้น แม่น้ำโขงกำลังถูกทำลาย ทุกคนกำลังเดือดร้อนแล้วเราจะพึ่งใครได้ เราอยากให้เห็นความเป็นธรรมเท่านั้นเอง ไม่ได้อยากได้เงินค่าชดเชย แต่อยากให้น้ำโขงอยู่ได้ อยากให้ประชาชนอยู่ได้ อยากให้ลูกหลานอยู่ได้” นางเพียรพร กล่าว

“ก็หวังว่าในอนาคตก็มีกระบวนการอื่นที่เราจะทำต่อ แม่น้ำโขงมันเป็นของโลกใบนี้ วันนี้ไม่ใช่วันสิ้นสุดของการปกป้องแม่น้ำโขง แต่เป็นวันสิ้นสุดของคดีนี้ที่ดำเนินมา 10 ปี ก็คงจะมีแนวทางอื่นที่เราจะทำงานกันต่อ” นางเพียรพร กล่าวเพิ่มเติม

คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโครงการไม่ใช่โครงการของรัฐและอยู่นอกเขตอำนาจศาล อย่างไรก็ตาม ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งนั้น และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 รับฟ้องคดี แต่ไม่รับคำร้องของผู้ฟ้องที่ให้บรรเทาทุกข์ชั่วคราว คือ ไม่ได้ระงับสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการพิจารณาคดี

เขื่อนไซยะบุรี กำลังผลิต 1,285 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี ของ สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทย 200 กิโลเมตร มีมูลค่าการก่อสร้าง 1.35 แสนล้านบาท ซึ่งลงทุนก่อสร้างโดยบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด ในเครือ ช.การช่าง ของไทย เป็นเขื่อนคอนกรีตความยาว 810 เมตร เริ่มผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 หลังจากลงนามพัฒนาโครงการในปี 2551 และเริ่มก่อสร้างจริงในปี 2555 สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 7,768 ล้านหน่วยต่อปี ขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ 95 เปอร์เซ็นต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอายุ 29 ปี กับ กฟผ. ที่เหลือผลิตไฟฟ้าใช้สำหรับภายใน สปป.ลาว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง