ไทยกังวล เพราะลาวมีแผนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อีกแห่งบนแม่น้ำโขง
2020.12.31
ลาวกำลังเตรียมสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ลำดับที่เจ็ดจากทั้งหมดเก้าเขื่อนที่ได้วางแผนไว้ บนลำน้ำโขงสายหลัก นับเป็นโครงการล่าสุดในกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของลาวที่เป็นที่ถกเถียงกัน เพื่อให้ลาวกลายเป็น “ขุมพลังงานแห่งเอเชียอาคเนย์” แหล่งข่าวในลาวบอกแก่เรดิโอ ฟรี เอเชีย
เขื่อนภูงอย ซึ่งจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 728 เมกะวัตต์ และตามแผนแล้วจะสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2572 จะมาสมทบกับเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮงที่ขณะนี้เปิดดำเนินการแล้ว และเขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนสานะคาม ซึ่งอยู่ในขั้นต่าง ๆ ของการวางแผน อีกสองเขื่อนคือ เขื่อนปากชม และเขื่อนบ้านกุ่ม ก็จะตามมาหลังจากนั้น
“การศึกษาขั้นต้นถึงผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมและสังคมของเขื่อนนี้เพิ่งได้รับการอนุมัติไป แต่ยังต้องมีการศึกษาอีกมากเกี่ยวกับโครงการนี้” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ในแขวงจำปาสักทางใต้สุดของลาว บอกแก่เรดิโอ ฟรี เอเชีย ภาคภาษาลาว เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม เบนาร์นิวส์เป็นหน่วยงานในสังกัดของเรดิโอ ฟรี เอเชีย
“ส่วนเรื่องการย้ายชาวบ้านออกจากบริเวณที่จะสร้างเขื่อนนั้น เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้กัน เรายังไม่ได้หารือกันว่าเมื่อไหร่จะย้ายชาวบ้าน และจะให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ที่ไหน” เจ้าหน้าที่คนนั้นกล่าว โดยไม่ขอเปิดเผยนาม เพื่อที่จะได้พูดได้โดยไม่ต้องกลัว
เจ้าหน้าที่คนนั้นกล่าวว่า เขื่อนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นของแผนพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล
และยังกล่าวด้วยว่า “รัฐบาลลาวมุ่งมั่นที่จะสร้างเขื่อนนี้”
เขาบอกว่า ยังไม่ได้ส่งโครงการนี้แก่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Prior Consultation and Agreement หรือ PNPCA) “เพราะการศึกษาผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมและสังคมยังไม่เสร็จสมบูรณ์”
MRC เป็นหน่วยงานระหว่างรัฐบาลที่ทำงานร่วมกับบรรดารัฐบาลในภูมิภาคนี้ เพื่อจัดการทรัพยากรของแม่น้ำโขง
แผนที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวเอเอฟพี แสดงที่ตั้งของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่อยู่ตามแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ในระยะต่าง ๆ ของการดำเนินการ (Phu Ngoy ที่เห็นในแผนที่ภาษาอังกฤษ หมายถึง เขื่อนภูงอย)
ไทยเป็นกังวล
บริษัทก่อสร้างของเกาหลีใต้สองบริษัทคือ Doosan Heavy Industries & Construction และ Korea Western Power ได้รับเลือกให้เป็นผู้สร้างเขื่อนนี้ ในระหว่างปี พ.ศ. 2565-2572 โดยความร่วมมือกับ Charoen Energy and Water Asia (CEWA) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทยและลาว
เพราะพรมแดนระหว่างลาวและไทย ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 1,845 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำโขงเสียครึ่งหนึ่ง ดังนั้นคนไทยจึงได้รับผลกระทบอย่างมากจากโครงการสร้างเขื่อนเหล่านี้
“เรากำลังจับตามองโครงการนี้อย่างใกล้ชิด บริษัทยังไม่ได้ส่งข้อมูลทั้งหมดให้แก่เรา” นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติของไทย บอกแก่เรดิโอ ฟรี เอเชีย
“หลังจากที่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลงของเขื่อนสานะคามเสร็จสมบูรณ์ เราจะพิจารณาเขื่อนภูงอย ถ้าสร้างเขื่อนนี้ขึ้น อาจกระทบฝั่งไทย น้ำอาจล้นเข้ามาในอาณาเขตของไทย”นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวว่า เขื่อนแห่งนี้จะอยู่ทางใต้ของปากเซ เมืองหลวงของแขวงจำปาสักที่มีจำนวนประชากรกว่า 100,000 คน เพียงแค่ 18 กม. เท่านั้น และจะอยู่ห่างเพียง 50 กม. จากจุดบรรจบของแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง ในจังหวัดศรีสะเกษของไทย
ภายใต้วิสัยทัศน์ “ขุมพลังงานแห่งเอเชียอาคเนย์” ลาวได้สร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสิบกว่าแห่งแล้ว บนแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา โดยมีแผนที่จะสร้างเขื่อนอีกหลายแห่ง และหวังที่จะส่งออกกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
โครงการนี้เป็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การย้ายชาวบ้านออกจากชุมชนที่อยู่โดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพียงพอ และการจัดเตรียมที่มีข้อกังขาด้านการเงินและความต้องการพลังไฟฟ้า
น.ส.อ้อมบุญ ทิพย์สุนา จากเครือข่ายประชาชนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นกลุ่มพลเมืองที่ยื่นฟ้องคดีในประเทศไทย เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เป็นกังวลเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนภูงอยของลาว เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เขื่อนแห่งใหม่จะซ้ำเติมประชาชนในลุ่มน้ำโขง ประเด็นความขาดแคลนด้านอาหาร
“เขื่อนนี้เป็นเขื่อนของซีพี เรากังวลมากกว่าเขื่อนอื่น ๆ ตอนบนของลาวซะอีก เพราะมันจะกระทบพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งทุกวันนี้น้อยเหลือเกิน ปัจจุบัน ประเทศไทยก็มีไฟฟ้าสำรองมากกว่า 51 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซีพีจึงไม่ควรร่ำรวยบนความยากจนของชาวบ้าน” น.ส.อ้อมบุญ กล่าว โดยหมายถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นเจ้าของ CEWA “ทุกวันนี้น้ำในแม่น้ำโขงก็ขึ้นลงรายวันแล้ว"
"สิ่งที่เราเคยกังวลตอนก่อนสร้างเขื่อนไซยะบุรี ก็เกิดขึ้นมาจริง ๆ แม่น้ำโขงไม่มีตะกอน"
"ยิ่งสถานการณ์โควิด คนก็สามารถหาปลาในแม่น้ำโขง แม่น้ำสาขาได้ แล้วก็ส่งไปให้คนเมืองที่ตกงานกิน แหล่งอาหารธรรมชาติมีอยู่แล้ว ถ้าสร้างเขื่อนอีกก็เหมือนซ้ำเติมปัญหาชาวบ้าน” น.ส.อ้อมบุญ กล่าวเพิ่มเติม
‘อยู่ที่นี่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว’
เสียงคัดค้านที่ได้ยินกันทั่วไปในลาวคือ ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ บอกแก่เรดิโอ ฟรี เอเชีย ว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนอีกแห่งบนแม่น้ำโขง
“ก่อนหน้านี้ ได้มีการสำรวจเพื่อถามเราเกี่ยวกับทรัพย์สินของเรา ร้านค้า และไม้ผลของเรา” ชาวบ้านคนหนึ่งในหมู่บ้านขอนเคน ในแขวงจำปาสัก บอกแก่เรดิโอ ฟรี เอเชีย
“เรายังไม่ได้ยินอะไรเกี่ยวกับการย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ เราไม่อยากถูกย้าย เราไม่รู้ว่าจะถูกย้ายไปที่ไหน เราอยู่ที่นี่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว และเราเชื่อว่า นี่คือ บ้านถาวรของเรา” ชาวบ้านกล่าว
ตัวอย่างที่มีให้เห็นซ้ำ ๆ เมื่อสุดท้ายแล้ว ชาวบ้านที่ถูกย้ายออกจากพื้นที่สร้างเขื่อนกลับมีฐานะยากจนลงกว่าเดิม ทำให้ชาวบ้านคนนี้และเพื่อนบ้านของเขาเป็นห่วงคุณภาพชีวิตของตน หลังการตั้งถิ่นฐานในที่แห่งใหม่” ชาวบ้านคนเดียวกันกล่าว
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านขอนเคน เป็นชาวนาปลูกข้าวและผัก หรือเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวบ้านบางคนมีธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหาร และเกสต์เฮาส์ ที่รองรับนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่มาจากไทย ประเทศเพื่อนบ้าน
ชาวบ้านกลัวว่าเขื่อนนี้จะทำให้น้ำท่วมสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในพื้นที่นั้น แก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง และชายหาดริมฝั่งแม่น้ำโขง
ชาวบ้านคนที่สองในแขวงจำปาสัก บอกแก่เรดิโอ ฟรี เอเชีย ว่า ชาวบ้านจำนวนมากกำลังขอให้รัฐบาลพิจารณาโครงการเขื่อนภูงอยอีกครั้ง
“รัฐบาลกำลังสร้างเขื่อนเหล่านี้เพื่อเงิน แต่เขื่อนนี้จะทำลายความงดงามทางธรรมชาติและทรัพย์สินของเรา” ชาวบ้านคนดังกล่าวพูด
ตามข้อมูลการศึกษาที่ CEWA ส่งให้แก่ทางการของลาวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โครงการมูลค่า 7.2 หมื่นล้านบาทนี้จะส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านจำนวน 88 แห่ง ใน 7 อำเภอ รวมทั้งหมู่บ้านขอนเคนด้วย ซึ่งจะเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รายงานนั้นกล่าว
เรดิโอ ฟรี เอเชีย ภาคภาษาลาว รายงานบทความ และนนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพ ร่วมรายงาน