ทำไมลูกแรงงานข้ามชาติต้องได้เรียนหนังสือ
2024.11.27
สมุทรสาคร
“ถ้าลูกได้เรียนหนังสือ ชีวิตเขาก็จะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนเรา” อาย ฉ่วย วิน แรงงานชาวเมียนมาซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย กล่าว
ในเดือนกันยายน 2567 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้สั่งปิดโรงเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง โดยอ้างว่า ทำการเรียนการสอนโดยไม่ได้ขออนุญาต หลังจากปรากฏคลิปวิดีโอที่ครูในโรงเรียนดังกล่าว สอนภาษาเมียนมาให้กับเด็กนักเรียนชาวเมียนมา ทำให้เกิดคำถามว่า การกระทำของครูและโรงเรียนถูกต้องหรือไม่
“สังคมไทยต้องไม่มองเรื่องนี้ด้วยแว่นตาของความเกลียดชัง เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ บางคนบอกว่า มีเด็กไทยตั้งเยอะแยะที่ไม่ได้เรียน ทำไมไม่ไปดูแล ไปดูแลเด็กพม่าทำไม ทัศนคติแบบนี้มันติดลบ เพราะเราสามารถทำไปพร้อมกันได้ ไม่ต้องให้ใครคนใดคนหนึ่งรอ” สมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
แม้การเปิดสถานศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตจะผิดกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม พรบ. การศึกษาภาคบังคับ ก็ระบุให้เด็กที่อายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ต้องได้รับการศึกษา โดยการศึกษาภาคบังคับเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3
“ถ้าเขาปิดตัวอยู่แค่ในแคมป์ก่อสร้าง อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็จะถูกหลอกลวง ถูกเอาเปรียบ แต่เมื่ออ่านออกและเขียนได้ ก็จะไม่มีปมด้อย ไม่ว่าจะภาษาไหน ศาสนาไหน วัฒนธรรมไหน การศึกษาเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้เขา” ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าว
เช่นเดียวกัน วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า การให้การศึกษาแก่ลูกของแรงงานข้ามชาติ มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อลดปัญหาในสังคมไทย
“ถ้าเราไม่ดูแลเรื่องการศึกษาเขา แล้วเขาถูกทิ้งเอาไว้ มันจะมีความเสี่ยงทั้งเรื่องอาชญากรรม เรื่องการล่อลวง ล่วงละเมิด การใช้แรงงาน อาชญากรรม ยาเสพติด ผลกระทบพวกนี้มันก็จะตกมาที่สังคมไทย ดังนั้นการดูแลตรงนี้มันเป็นประโยชน์ทั้งกับเขา พ่อแม่ผู้ปกครองเขา และสังคมไทยโดยรวม” วสันต์กล่าว
กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จนถึงเดือนตุลาคม 2567 มีแรงงานข้ามชาติ 1.58 ล้านคน แบ่งเป็นเมียนมา 1.33 ล้านคน ลาว 6.29 หมื่นคน กัมพูชา 1.84 แสนคน และเวียดนาม 931 คน การเคลื่อนย้ายแรงงานมีตลอดเวลา ดังนั้นการให้ลูกแรงงานที่เกิดในไทยได้เรียนรู้ภาษาพ่อแม่ก็มีความจำเป็นไม่ต่างจากภาษาไทย
“เด็กบางคนอยู่ไทย 4-5 ปี ก็ต้องกลับพม่า ต้องไปเรียนที่พม่าต่อ ถ้าเขาเรียนในโรงเรียนไทย เขาจะกลับไปเรียนต่อไม่ได้ เด็กอายุ 12-13 จะให้เขาไปเริ่ม ป. 1 ใหม่ก็ไม่ได้ ดังนั้นเด็ก ๆ จึงต้องเรียนภาษาพม่า เพราะถ้าเขากลับไปจะได้อ่านออก พูดได้ ขณะที่อยู่ไทยก็ต้องเข้าใจภาษาไทยด้วย” โค โค แนง ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้เมียนมา กล่าว
หลังจากเกิดกรณีสั่งปิดโรงเรียนมิตตาเย๊ะ มานพ คีรีภูวดล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และรองประธาน กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนคำสั่งปิดดังกล่าว
“ขอให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนคำสั่ง และสนับสนุนให้ศูนย์การเรียนเหล่านี้เข้าสู่การขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย และให้ใช้หลักสูตรการจัดการการเรียนการสอนของไทยเป็นหลัก เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษา ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติ” มานพ กล่าว
สำหรับมุมมองของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมาก็อยากให้ลูกของตนเองได้เรียนหนังสือ เพื่อที่เขาจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
“ที่พม่าเขามียิงกัน เรากลัว ก็เลยหนีมาทำงานที่ไทย ทำมา 15 ปีแล้ว ลูกเราก็เกิดที่นี่ เขาเรียนภาษาไทย แต่ถ้าเขาได้เรียนภาษาพม่าด้วยก็ดีใจ เพราะถ้าวันนึงเขากลับไปพม่า อ่านไม่ออก เขาก็คงจะไม่ได้เรียนหนังสือต่อ” ซอ เอ แรงงานเมียนมา ทำงานในตลาดกระทุ่มแบน และอาศัยอยู่ในไทยมาราว 15 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์