ตำรวจแถลงปี 64 จับผู้ลักลอบเข้าเมืองได้กว่า 4 หมื่นคน
2021.12.22
กรุงเทพฯ
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) แถลงผลการปราบปรามขบวนการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมเครือข่ายลักลอบพาคนเข้าเมือง 154 เครือข่าย และจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ส่วนใหญ่มาจากเมียนมาได้กว่า 4 หมื่นราย
ด้านนักสิทธิมนุษยชนชี้ รัฐจำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน และดูแลคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย
เมื่อวานนี้ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ ได้เปิดเผยสถิติการจับกุมคนลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ในห้วงระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563-15 ธันวาคม 2564 อันเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่จะจัดการคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
“ภาพรวมทั้งปี สามารถจับกุมคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 42,443 ราย ผู้นำพา 293 ราย ผู้ช่วยเหลือ 841 ราย รวมผลการดำเนินจับกุมทั้งสิ้น 43,577 ราย จับกุมไปแล้ว 154 เครือข่าย” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กล่าว
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำลายการดำเนินการของขบวนการทั้งสิ้น 221 เครือข่าย ซึ่งได้จับกุมแล้ว 154 เครือข่าย เหลือที่กำลังติดตามจับกุมอีก 67 เครือข่าย
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ ระบุว่า เครือข่าย-ขบวนการนำพาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเป็นคนไทย 402 ราย คนต่างด้าว 1,769 ราย มีการออกหมายจับ 82 หมายจับ โดยนายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน หากทำผิดซ้ำมีโทษจำคุก และจะถูกห้ามจ้างแรงงานต่างด้าว 3 ปี ขณะที่แรงงานต่างด้าวซึ่งทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท, ถูกผลักดันออกนอกราชอาณาจักร และจะไม่สามารถทำงานในไทยได้ภายใน 2 ปีหลังจากถูกลงโทษ
“เราจะยังจับกุมอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าตอนนี้ ยังมีความต้องการของแรงงานต่างด้าว ท่าน ผบ.ตร. (พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข) เน้นย้ำว่าตำรวจจะต้องไม่เกี่ยวกับกระบวนการลักลอบขนคนเข้ามา และต้องดำเนินคดีผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยด้วย” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กล่าว
ในปี 2563 ไทยจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 68,000 ราย โดยสามารถผลักดันกลับประเทศต้นทางแล้วเกือบทั้งหมด คงเหลือในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 2,000 ราย ในนั้นเป็นชาวเมียนมา 1,500 ราย และชาวต่างชาติจากประเทศอื่น 500 ราย ตามข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่รายงานเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 นี้
ต่อมาตราการจัดการกับแรงงานข้ามชาติ พ.ต.อ. ปริญญา กลิ่นเกษร ผู้กำกับการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า “โดยมาตรการของ ตม. หากเข้าเมืองผิดกฎหมาย เรามักจะไม่ดำเนินคดี และจะส่งตัวไปที่ห้องกัก แล้วใช้วิธีผลักดันกลับประเทศต้นทาง”
ต่อประเด็นการจับกุมคนลักลอบเข้าเมือง น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ว่า ปัจจุบัน ยังมีข่าวการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่จากแรงงานข้ามชาติ หรือขบวนการลักลอบพาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งรัฐควรหาทางแก้ไขปัญหานี้
“การใช้ MOU เอาแรงงานเข้ามาทำงาน เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางแล้ว แต่ต้องอุดช่องโหว่ที่ยังมีอยู่ เพื่อป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ ขณะเดียวกัน สภาพห้องกักของไทยก็ค่อนข้างแออัด การกักขังโดยการเข้าเมืองผิดกฎหมายไม่ช่วยให้สังคมปลอดภัยมากขึ้น การผลักดันเขากลับก็อาจจะไม่ช่วยให้ปัญหาจบ เพราะเดี๋ยวเขาก็อาจกลับมาอีก รัฐจึงควรแก้ไขกฎหมายเพื่อไม่ให้มีการกักขังคนที่กระทำผิดโดยการเข้าเมืองผิดกฎหมาย” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว
ด้าน นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ชี้ว่า ความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจของไทยจะกลับมาสูงอีกครั้ง หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ดังนั้นรัฐบาลจึงควรให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง
“ถ้าเปิดให้ลงทะเบียนแรงงานที่อยู่ในประเทศ ก็จะป้องกันการทะลักเข้ามาได้ แต่รัฐจำเป็นต้องลดความยุ่งยากทางเอกสาร และลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับนายจ้าง และแรงงาน ซึ่งปัจจุบัน ค่าดำเนินการนำแรงงานขึ้นทะเบียน 2 หมื่นบาทยังถือว่าสูงอยู่ เชื่อว่า มีแรงงานจำนวนมากอยากมาทำงานในไทย และขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย” นายสมพงศ์ กล่าว
ปัจจุบัน มีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย 2.32 ล้านราย แบ่งเป็นแรงงานฝีมือ 2.18 แสนราย และแรงงานทั่วไป 2.11 ล้านราย ในนั้นเป็นแรงงาน เมียนมาประมาณ 1 ล้านราย ลาว 1.4 แสนคน และกัมพูชา 1.8 แสนราย