ครม. อนุมัติเงื่อนไขต่ออายุแรงงานสามสัญชาติ อยู่ไทยได้ถึง ก.พ. 66

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.09.28
กรุงเทพฯ
ครม. อนุมัติเงื่อนไขต่ออายุแรงงานสามสัญชาติ อยู่ไทยได้ถึง ก.พ. 66 แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ขณะทำความสะอาดตลาดสดคลองเตย กรุงเทพฯ หลังปิดตัวชั่วคราว เพราะตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในผู้ค้าหลายราย เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564
เอเอฟพี

คณะรัฐมนตรีมีมติ ในวันอังคารนี้ ให้ออกเงื่อนไขการต่ออายุใบอนุญาติทำงาน สำหรับแรงงานกัมพูชา เมียนมา ลาว ให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยต้องยื่นเอกสาร ตรวจโรค ทำประกันสุขภาพ และจัดเก็บอัตลักษณ์ ภายในเดือน มีนาคม 2565

ด้านนักสิทธิแรงงาน แนะรัฐบาลควรลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงาน เพื่อจูงใจให้นายจ้าง และแรงงานเข้าสู่ระบบให้ได้มากที่สุด

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติเกี่ยวกับการบริหารแรงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด-19 แล้ว

“ครม. เห็นชอบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ หนึ่ง แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติผิดกฎหมาย ไม่ได้ขออนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย สอง แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ดำเนินการขออนุญาตทำงานตามมติ 29 ธ.ค.63 แต่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ” น.ส. รัชดา กล่าว

น.ส. รัชดา ระบุว่า แรงงานผิดกฎหมายที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้อง 1. ให้นายจ้างต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนแรงงานข้ามชาติภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ จะทำให้สามารถทำงานได้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 2. ให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานแล้ว ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือประกันสุขภาพ ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 และ 3. หลังจากนั้น แรงงานต้องดำเนินการตรวจการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะอยู่ได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยหากไม่ดำเนินการจะอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 1 สิงหาคม 2565

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ครม. เคยเห็นชอบให้แรงงานข้ามชาตินอกระบบ สามารถขึ้นทะเบียน พร้อมทั้งตรวจโรค กระบวนการระหว่างวันที่ 15 มกราคม - 16 มิถุนายน 2564 เพื่อทำงานในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ โดยมาตรการนี้จะทำให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 อย่างไรก็ตาม เดือนเมษายน 2564 มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ทำให้การขึ้นทะเบียนดังกล่าวชะงักไป

น.ส. รัชดา ระบุว่า ครม. ได้ออกมาตรการสำหรับแรงงานที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ โดยขยายระยะเวลาการยื่นคำขออนุญาตทำงาน จากภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เป็นภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 เพื่อให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565

หากแรงงานข้ามชาติกลุ่มดังกล่าว ต้องการจะทำงานในประเทศไทยได้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ต้องดำเนินการตรวจโรคต้องห้าม ภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 และปรับปรุงทะเบียนประวัติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565

ด้าน นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เชื่อว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยกว่า 1 ล้านคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง รัฐควรเพิ่มมาตรการจูงใจให้พวกเขามาขึ้นทะเบียนให้ได้มากที่สุด

“ขึ้นทะเบียนผ่านนายหน้า แรงงานต้องจ่าย 1.5 - 2 หมื่นบาทต่อคน แรงงานไม่ค่อยมีเงิน เลยไม่ได้ขึ้น สิ่งที่รัฐควรทำคือ ในการตรวจแรงงานจากเดิม ถ้าพบแรงงานผิดกฎหมายแล้วส่งกลับประเทศ ควรเปลี่ยนรูปแบบเป็นนำแรงงานขึ้นทะเบียนทันทีที่ตรวจพบ เพราะตอนนี้ โรงงานต้องการแรงงาน ถึงผลักดันออกไป เขาก็ต้องหาทางกลับเข้ามาอยู่ดี"

"ขณะเดียวกัน รัฐควรผลักดันให้ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายถูกที่สุด เพื่อจูงใจแรงงาน” นายสมพงษ์ กล่าว

ตามมาตรการของกระทรวงแรงงาน แรงงานจะต้องทำประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย 7,200 บาท โดยนายจ้างหรือแรงงานจำเป็นต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

ขณะที่ โรคต้องห้ามของแรงงานข้ามชาติ 6 โรค ซึ่งประกอบด้วย 1. โรคเรื้อน 2. วัณโรคในระยะอันตราย 3. โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 4. โรคยาเสพติดให้โทษ 5. โรคพิษสุราเรื้อรัง และ 6. โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3

จากตัวเลขของกระทรวงแรงงาน ปัจจุบันไทยมีแรงงานข้ามชาติ 2,347,124 ราย ที่สามารถขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามมติ ครม. เมื่อเดือนธันวาคม 2563

“เชื่อว่า มีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยรวม ๆ ทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย 4 ล้านคน มีคนได้ฉีดวัคซีนไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องเป็นพวกที่ขึ้นทะเบียน และอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่มีมาตรฐาน"

"ดังนั้นควรเร่งขึ้นทะเบียนให้หมด ระดมฉีดวัคซีนให้แรงงานที่อยู่ในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานในปัจจุบัน” นายสมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง