แรงงานข้ามชาติในไทยตกเป็นเป้าดูถูกเกลียดชังจากข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์

เคียนา ดันแคน สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2025.03.05
แรงงานข้ามชาติในไทยตกเป็นเป้าดูถูกเกลียดชังจากข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ แรงงานข้ามชาติขณะเดินทางโดยรถบรรทุกเล็กกลับที่พัก หลังเลิกงาน ในจังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 4 มกราคม 2564
แก็มมูนู อมาระซิงหะ/เอพี

นักสิทธิมนุษยชนชี้ว่า ถ้อยคำที่แสดงออกถึงความเกลียดชังและข้อมูลเท็จเชิงลบที่มีต่อแรงงานข้ามชาติได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบนโลกออนไลน์ ส่งผลกระทบให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากมากขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง ดูเหมือนว่าแรงงานเหล่านี้จะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกโจมตีผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลา 2-3 ปีนี้

ประเทศไทยถือเป็นแหล่งพักพิงของกลุ่มผู้ลี้ภัยนับล้าน ส่วนใหญ่มาจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว ผู้เป็นกำลังสำคัญในฐานะแรงงานของอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ทว่า ถึงแม้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย พวกเขากลับต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่โหดร้าย อัตราค่าแรงต่ำ และไม่ได้รับการปกป้องในทางกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น

กลุ่มผู้ทำงานภาคประชาสังคมให้ข้อมูลว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา คลื่นความเกลียดชังชาวต่างชาติ (xenophobia) ระลอกใหม่ได้สั่นคลอนและบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในโลกออนไลน์ ซ้ำยังเป็นเชื้อไฟแห่งความเกลียดชังชั้นดีที่ส่งผลกระทบต่อการแบ่งแยกในรูปแบบต่าง ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง ชีวิตของพวกเขาจึงมีความสุ่มเสี่ยงมากกว่าเดิม

“เราเริ่มเห็นว่าคนไทยบางกลุ่มมีความคิดเห็นที่รุนแรงต่อแรงงานข้ามชาติ โจมตีคนกลุ่มนี้อย่างเฉพาะเจาะจง” คอรีเยาะ มานุแช ทนายความและผู้ประสานงานของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติกล่าว พร้อมเสริมว่า เครือข่ายของเธอได้ติดต่อไปยังผู้ที่ทำงานอยู่ในแอพพลิเคชันติ๊กต็อก เพื่อสืบค้นที่มาของปัญหาและพยายามจะจัดการเรื่องการบิดเบือนข้อมูลและถ้อยคำที่แสดงถึงความเกลียดชังที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว

“พวกเขาใช้ระบบกลั่นกรองข้อมูลโดยมนุษย์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ เพราะในแพลตฟอร์มมีข้อมูลและคอนเทนต์มหาศาล” เธอกล่าวถึงจำนวนของโพสต์จำนวนมหาศาลต่อเวลา 1 นาทีในแพลตฟอร์มติ๊กต็อก

“มนุษย์ไม่สามารถกลั่นกรองข้อมูลแบบนั้นได้ 100% หรอกค่ะ”

เรดิโอ ฟรี เอเชียได้พยายามติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลกับพนักงานในแพลตฟอร์มดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

2 hate-speech-migrant-workers.jpg
แรงงานข้ามชาติและครอบครัวเตรียมพร้อมเดินทางไปโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 4 มกราคม 2564 (แก็มมูนู อมาระซิงหะ/เอพี)

ออง จอ (Aung Kyaw) ผู้จัดการมูลนิธิสิทธิแรงงานกล่าวว่า ผลกระทบจากความคิดเห็นเชิงลบต่อแรงงานข้ามชาติที่หลั่งไหลอยู่ในโลกออนไลน์ส่งผลกระทบต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริง ซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงขั้นที่ทำให้พวกเขาต้องสูญเสียอาชีพ

ยกตัวอย่างเช่น ในจังหวัดสมุทรสาคร เหล่าแรงงานเมียนมา ผู้ทำงานด้านการประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลแบบหามรุ่งหามค่ำ กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของการถูกตรวจสอบอย่างรุนแรงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยนักตรวจสอบความชอบธรรมในการพำนักในไทยของพวกเขาโดยส่วนใหญ่ คืออินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดีย หรือสมาชิกของกลุ่มผู้รักชาติที่คอยจับตาตรวจสอบเอกสารทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้

ข้อมูลจากรายงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ในปี 2567 ระบุว่า ประชากรชาวเมียนมาจำนวนกว่า 22,000 รายถูกบีบให้หนีข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมาออกกฎหมายบังคับการเกณฑ์ทหารเพื่อเติมจำนวนแรงงานรบไว้ต่อกรกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในประเทศของตน คาดการณ์ว่าผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากว่า 7 ล้านรายหลบหนีสถานการณ์ดังกล่าวมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย

กลุ่มของเขาให้ข้อมูลว่า เหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ได้ให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ให้เข้าสุ่มตรวจโรงงานที่ว่าจ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารระบุตัวตนตามกฎหมาย ส่งผลให้พวกเขาถูกจับกุมและส่งตัวกลับประเทศต้นทาง

“กลุ่มผู้รักชาติจำนวนมากเริ่มมีความคิดเห็นที่รุนแรงมากขึ้นในปีที่ผ่านมา และก่อกระแสความเกลียดชังต่อผู้ลี้ภัยให้ลุกลามไปทั่วประเทศ แม้กระทั่งในละแวกบ้านของเรา” ออง จอ ผู้อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสาครกล่าว

ศัตรูทางการเมือง

คอรีเยาะ ให้ข้อมูลว่า กลุ่มผู้มีความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยกำลังปั่นกระแสความเกลียดชังต่อผู้อพยพข้ามชาติเพื่อหวังบ่อนทำลายแรงสนับสนุนต่อพรรคการเมืองหัวก้าวหน้าที่เปิดรับประเด็นสิทธิแรงงานข้ามชาติ

สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล ผู้ก่อตั้งแคมเปญ Stop Online Harm เสริมว่า ส่วนหนึ่งของปัญหานี้มีต้นตอมาจากการที่ผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้ประเด็นแรงงานผู้ลี้ภัยมาถกเถียงจนเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์

ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้รักชาติและสนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้แสดงความกังวลต่อการมีอยู่ของแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง และมักจะวาดภาพว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและสมาคมการค้าไทยเคยคัดค้านมาตรการทางกฎหมายที่อาจจะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิแรงงานโดยเท่าเทียมกันโดยอ้างเหตุผลว่า อาจจะเป็นภัยคุกคามกับแรงงานชาวไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลื่นผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา เป็นบททดสอบนโยบายแรงงานอพยพของไทย

ทำไมลูกแรงงานข้ามชาติต้องได้เรียนหนังสือ

จากรัฐกะเหรี่ยงถึงระยอง : หนีสงครามมาสู้กับงานไกลบ้าน


แบบสำรวจความคิดเห็นของประชากรในจังหวัดกรุงเทพมหานครและจังหวัดตาก ว่าด้วยประเด็นการข้ามพรมแดนจากประเทศเมียนมามายังประเทศไทยสะท้อนให้เห็นว่า ชาวไทยจำนวนมากมองผู้ลี้ภัยที่ไม่มีเอกสารทางกฎหมายคุ้มครองว่าเป็นคู่แข่งทางอาชีพหรือผู้ที่เข้ามาแย่งทรัพยากร ทว่า ชาวไทยบางกลุ่มก็พยายามที่จะกระตุ้นให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตระมัดระวังกับข้อมูลที่พบเจอในโลกออนไลน์

นันทิยา ดวงภุมเมศ นักวิชาการ กล่าวว่า “เวลานี้เป็นหน้าที่ของสังคม นักการศึกษา และพวกเราเองในฐานะสื่อที่ต้องไม่ปฏิบัติตัวเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านั้น รายงานของเราระบุว่า นัยยะทางภาษาศาสตร์หรือการเลือกใช้คำเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

เธออ้างถึงรายงานวิจัย เกี่ยวกับเรื่องการเลือกปฏิบัติทางออนไลน์ในประเทศไทยที่ถูกเผยแพร่ในปี 2566  และเพิ่มเติมว่า การจัดการปัญหาความเกลียดชังทางเชื้อชาติต้องเริ่มที่การให้การศึกษาทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคม

ทีมวิจัยของเธอได้ทำงานร่วมกับศูนย์วิชาการและปฏิบัติการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุไทย (Intelligence Center for Elderly Media Literacy) ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเพื่อฝึกอบรมผู้สูงอายุในประเทศไทยด้านความคิดเชิงวิพากษ์เมื่อต้องพบเจอกับข้อมูลต่าง ๆ ในโลกออนไลน์

“เราออกแบบระบบการทำงานทางความคิดง่าย ๆ ให้พวกเขามีความตื่นตัว เท่าทันสื่ออยู่เสมอ ส่งผลให้ผู้สูงอายุตีความและเลือกที่จะเชื่อข้อมูลที่พวกเขาได้รับทางอินเทอร์เน็ตอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น” เธอกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง