ร่างกฎหมายประมงใหม่ไทย ทำให้แรงงานพม่าเสี่ยงภัยมากขึ้น

ร่างกม. อนุญาตให้เรือประมงขนถ่ายลูกเรือ-สัตว์น้ำไปเรืออื่นขณะลอยลำ แรงงานต้องอยู่กลางทะเลนานขึ้น
รายงานพิเศษ เรดิโอฟรีเอเชีย
2024.02.16
ร่างกฎหมายประมงใหม่ไทย ทำให้แรงงานพม่าเสี่ยงภัยมากขึ้น แรงงานชาวเมียนมาคัดแยกสัตว์ทะเลที่จับได้ บนท่าเทียบเรือ ในจังหวัดระนอง วันที่ 22 พฤษภาคม 2565
เรดิโอฟรีเอเชีย

นายออง ออง แรงงานประมงชาวพม่าที่ทำงานบนเรือประมงในน่านน้ำภาคใต้ของไทยมานานกว่า 14 ปี กำลังเผชิญหน้ากับอนาคตที่ไม่แน่นอน เนื่องจากอาจมีการยกเครื่องกฎหมายประมงในอุตสาหกรรมประมงไทยในอนาคต

นายออง ออง วัย 33 ปี เผยว่าเขารู้สึกกังวลว่าร่างกฎหมายใหม่ที่จะบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้ อาจทำให้แรงงานประมงต้องใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลนานหลายเดือนต่อการออกเรือหนึ่งครั้ง ซึ่งเขาเคยเผชิญกับประสบการณ์เช่นนั้นมาแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน “ตอนที่เรือของเรามีปลาเต็มเรือ เราต้องขนปลาไปที่เรือขนส่ง ส่วนแรงงานก็ต้องอยู่บนเรือหาปลาต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องขึ้นฝั่ง” นายออง ออง กล่าว

“ในช่วงเวลานั้น เราเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค ไม่ได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย ไหนจะเผชิญภาวะเครียดหรือซึมเศร้า หากเราต้องใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลเป็นเวลานาน” เขากล่าว

ประเทศไทยเคยมีชื่อเสียงด้านลบเรื่องการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้เป็นแรงงานข้ามชาติ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยในขณะนั้น จึงจำเป็นต้องกอบกู้ภาพลักษณ์ของประเทศจากกรณีดังกล่าว ด้วยการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการทำประมงผิดกฎหมายและการปฏิบัติต่อแรงงานประมงอย่างทารุณ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย มีแนวคิดริเริ่มเรื่องการผ่อนปรนมาตรการเข้มงวดด้านการทำประมง ซึ่งเป็นผลจากการบังคับใช้ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 ทว่าแนวคิดริเริ่มดังกล่าวได้สร้างความหวาดกลัวเรื่องการทำลายความก้าวหน้าด้านการปกป้องสิทธิแรงงาน

th-mn-migrants-fishing-law2.jpeg

เรือลากอวน เช่นเรือนอกชายฝั่งลำนี้ ในน่านน้ำจังหวัดระนอง มักขาดแคลนอาหารเป็นประจำ หลังจากออกทะเลเพียง 15 วัน เท่านั้น เดือนพฤษภาคม 2565 (เรดิโอฟรีเอเชีย)

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลใหม่เสนอร่างกฎหมายจำนวน 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานประมง โดยระบุว่ากฎหมายฉบับปัจจุบันเข้มงวดจนไม่เป็นธรรมกับเจ้าของเรือและผู้ประกอบธุรกิจประมง รวมถึงสร้างความเสียหายด้านรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ

ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดที่เสนอเข้าสภาเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อนุญาตให้เรือประมงสามารถขนถ่ายลูกเรือและสัตว์น้ำที่จับได้ไปยังเรืออีกลำขณะที่ลอยลำอยู่กลางทะเลได้ “ในกรณีฉุกเฉิน” และมีข้อบังคับบางประการ ซึ่งนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานคัดค้านข้อกฎหมายนี้อย่างรุนแรง เพราะมองว่าการกระทำในลักษณะนี้อาจเป็นการปล่อยให้แรงงานประมงที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ต้องติดอยู่กลางทะเลเป็นเวลานาน

เสี่ยงอันตรายมากขึ้น

นายเย ตุย (Ye Thwe) ประธานเครือข่ายสิทธิแรงงานประมง (Fishers’ Rights Network - FRN) ซึ่งเป็นแรงงานประมงชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในจังหวัดระนอง กล่าวว่า กฎหมายฉบับใหม่อาจทำลายนโยบายอื่น ๆ ด้านการคุ้มครองแรงงานที่รัฐบาลไทยเคยให้สัตยาบันเอาไว้

“จากการลดระดับการควบคุมดูแล แรงงานประมงข้ามชาติจะตกอยู่ในตำแหน่งที่เสี่ยงอันตรายมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความไม่มั่นคงให้เราเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น ค่าแรงที่ลดลง และสภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายที่เราเผชิญกลับยิ่งเลวร้ายนักยิ่งขึ้น” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป

“การเคลื่อนย้ายแรงงานกลางทะเลถูกออกแบบมาสำหรับเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น ลูกเรือมีอาการป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุขณะปฏิบัติงาน ควรจะมีทางออกสำหรับลูกเรือเมื่อเกิดปัญหาด้านแรงงาน ซึ่งเราสามารถรายงาน [การรับส่ง] ไปยังศูนย์สั่งการได้” เขากล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า “ปลาเน่า” ไม่กี่ตัวในอดีตนั้นสร้างข้อบังคับที่เป็นบทลงโทษแก่ทุกคน

“เรายังคงต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยน [ลูกเรือ] ระหว่างเรือประมงสองลำที่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบการเดียวกัน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น แต่เราไม่มั่นใจว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่” เขากล่าว

ตามข้อเท็จจริง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยยื่นข้อเสนอแนะให้กลับไปใช้การจ่ายค่าแรงรายวันเป็นเงินสด และยกเลิกการใช้ระบบการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

ตามกฎหมายแล้ว แรงงานประมงสามารถทำงานได้เพียง 22 วันต่อเดือนเท่านั้น ดังนั้นการจ่ายค่าแรงเต็มเดือนให้แก่พวกเขาจึงไม่ยุติธรรมนัก นายมงคลกล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือของเบนาร์นิวส์

th-mn-migrants-fishing-law3.jpeg

แรงงานชาวเมียนมาคัดแยกสัตว์น้ำที่จับได้ บนท่าเทียบเรือ จังหวัดระนอง วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 (เรดิโอฟรีเอเชีย)

ระบบการจ่ายค่าแรงแบบเงินสดเป็นช่องว่างทางกฎหมายและการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบอย่างละเอียด นายโดมินิค ทอมสัน ผู้อำนวยการมูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

“เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลอย่างมากสำหรับเรา เพราะเราเห็นว่าอุตสาหกรรมประมงเลวร้ายได้ถึงขั้นไหน หากปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม” นายทอมสันกล่าว

“เราเห็นแล้วว่ากฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงกระบวนการปฏิรูป ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้างกับภาคการประมงของไทย และเราได้เห็นแล้วว่าประวัติศาสตร์เกือบจะซ้ำรอย หากภาคธุรกิจเป็นผู้ได้ประโยชน์”

แรงงานข้ามชาติชาวพม่านับเป็นกลุ่มแรงงานส่วนใหญ่ในตลาดแรงงานของไทย ทั้งในภาคการเกษตร การผลิต และการบริการ โดยแรงงานข้ามชาติชาวพม่ากว่าร้อยละ 70 ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมประมง

เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของไทยมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทางทะเลเสนอ และคาดว่ารัฐสภาจะอภิปรายร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวภายในสองเดือนนี้

ถูกเอารัดเอาเปรียบ

แม้ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 จะมีผลบังคับใช้ แต่แรงงานประมงและนักเคลื่อนไหวระบุว่า อุตสาหกรรมประมงยังต้องการการควบคุมดูแลที่เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ

รายงานเมื่อวันที่ 25 มกราคม ของเครือข่ายสิทธิแรงงานประมง พบว่าปัจจุบัน แรงงานประมงเกินร้อยละ 99 ที่ตอบแบบสำรวจไม่ได้รับเงินค่าแรงผ่านบัญชีธนาคาร แม้ว่ากฎหมายจะบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าแรงผ่านระบบบัญชีธนาคารก็ตาม โดยการสำรวจดังกล่าวมีแรงงานประมงมากกว่า 1,000 คน จากท่าเรือ 15 แห่งทั่วประเทศร่วมตอบแบบสอบถาม ซึ่งเริ่มเก็บข้อมูลในช่วง 7 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2566

ข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงานดังกล่าวยังพบว่าแรงงานประมงมากกว่าร้อยละ 83 ยังไม่สามารถเข้าถึงเอกสารยืนยันตัวตน รวมถึงบัตรเอทีเอ็มและสมุดบัญชีธนาคาร เพราะนายจ้างเป็นผู้เก็บไว้

th-mn-migrants-fishing-law4.jpeg

แรงงานประมงและคนงานล้งอาหารทะเลทำการคัดแยกขนาดและชนิดของปลา ที่ท่าเทียบเรือ ในจังหวัดระนอง วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 (เรดิโอฟรีเอเชีย)

นอกจากนี้ แรงงานประมงยังเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารและเสบียงอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม ออง ออง ประเมินว่ากว่าร้อยละ 70 ของเรืออวนลาก มีอาหารเพียงพอสำหรับประทังชีวิตเพียงครึ่งทางเท่านั้น แม้ว่าจะต้องใช้เวลาออกเรือหาปลานานนับเดือน

“ถ้าคุณได้รับมอบหมายให้ออกเรือหาปลาหนึ่งเดือน เจ้าของ [เรือ] หลายเจ้าไม่ได้จัดหาเสบียงอาหารให้มากเกินกว่า 15 วัน ไม่เคยมีมากกว่านั้น” เขากล่าว

“ถ้าพ้นวันที่ 15 ก็จะไม่มีอาหารเหลือ บางครั้งถ้าจับปลาได้ไม่มากพอ คุณต้องลอยลำ [อยู่กลางทะเล] ให้นานขึ้น แต่คุณไม่มีอาหาร ไม่มีกระทั่งเกลือ คุณต้องต้มปลาทูน่าครีบเหลืองกินเพื่อประทังชีวิต”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง

ความคิดเห็น

จากใจเด็กระนอง
Feb 17, 2024 09:09 AM

ไปเก็บข้อมูลส่วนไหนของระนองมาค่ะ หัดเขียนข่าวที่เป็นจริงบ้างนะ ไม่ใช่ใส่ข่าวอย่างเดียว สร้างประเด็นเก่ง