ครม. ขยายเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติถึง 31 ก.ค. 66
2023.07.06
กรุงเทพฯ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม อีกประมาณห้าแสนคน และอนุญาตให้อยู่ในประเทศได้ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 หลังจากที่แรงงานเหล่านั้นดำเนินการไม่ทันกำหนดเดิมภายในวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านนี้
น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการแถลงข่าวหลังการประชุม ครม. ในวันพุธว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการออกประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป
“จำเป็นต้องผ่อนผันให้กับคนต่างด้าวที่สถานะไม่ถูกกฎหมายเพื่อให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ สามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้อย่างเหมาะสม และไม่ให้กระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19… ผ่อนผันให้คนต่างด้าวมีเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานได้ถึง 31 กรกฎาคม 66” น.ส. ไตรศุลี กล่าว
“สืบเนื่องจาก ครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 66 ได้เห็นชอบให้คนต่างด้าว ที่ประสงค์จะทำงานต่อในประเทศไทยจะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2566 และให้ไปดำเนินการเพื่อให้ได้เอกสารหลักฐานต่าง ๆ แล้วนำมายื่นกับกรมการจัดหางาน ภายใน 15 พฤษภาคม 2566 ซึ่งภายหลังสิ้นสุดช่วงเวลาดังกล่าวแล้วปรากฎว่ามีคนต่างด้าวประมาณ 5 แสนคนที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนด” น.ส. ไตรศุลี กล่าวเพิ่มเติม
น.ส. ไตรศุลี ระบุว่า การดำเนินการหลังจากนี้ นายจ้างต้องยื่นบัญชีรายชื่อ พร้อมรูปถ่าย เพื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน ต่อกรมการจัดหางาน ทั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือสำนักงานเขตพื้นที่ เมื่อได้รับการอนุมัติจะได้รับเอกสารเพื่อแสดงว่า แรงงานข้ามชาติได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
กรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 มีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย 2.74 ล้านคน ในนั้นเป็นคนกัมพูชา 4.14 แสนคน เมียนมา 1.86 ล้านคน ลาว 2.10 แสนคน และเวียดนาม 2,230 คน อีก 3 แสนคนเป็นแรงงานสัญชาติอื่น
ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กรมการจัดหางานระบุว่า มีแรงงานกัมพูชา, เมียนมา, ลาว และเวียดนาม ที่ไม่ได้รับการอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในประเทศไทย 7.06 แสนคน ซึ่งรัฐบาลเปิดให้ดำเนินการขึ้นทะเบียน แต่ถึงปัจจุบัน มีเพียงประมาณ 2 แสนคนที่ขึ้นทะเบียนสำเร็จ ขณะที่อีก 5 แสนคนยังไม่สามารถดำเนินการได้ นำมาสู่การผ่อนผันให้คนกลุ่มนี้
สำหรับปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้อีก 5 แสนคน นายอดิศร เกิดมงคล จากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ แต่รัฐบาลไม่ได้เตรียมแผนรองรับไว้
“ก่อนหน้านี้ ระยะเวลาในการให้นายหน้า หรือแรงงานมาขึ้นทะเบียนค่อนข้างสั้น และมีความยุ่งยากทั้งการไปแจ้งความประสงค์จ้างแรงงานข้ามชาติ การดำเนินเอกสารที่ให้กรมการจัดหางานส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติเท่านั้น และการตรวจสุขภาพแรงงาน มีโรงพยาบาลที่รองรับการตรวจสุขภาพให้แรงงานไม่กี่แห่ง การต่อวีซ่า หรือขอหนังสือเดินทางก็คิวยาว โดยเฉพาะเมียนมา ด้วยระบบที่ยุ่งยากทำให้เกิดระบบนายหน้า แต่ก็ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมาก รัฐบาลรู้ปัญหาดีแต่ไม่มีมาตรการรองรับ” นายอดิศร กล่าว
นายอดิศร ระบุว่า โดยปกติ ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติต่อคนอยู่ที่ 8,000-10,000 บาท แต่ถ้าดำเนินการผ่านนายหน้า ค่าใช้จ่ายจะสูงถึง 18,000-20,000 บาท ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับนายจ้าง หรือแรงงาน และยังพบว่า แรงงานบางรายเมื่อดำเนินการผ่านนายหน้าแล้ว กลับไม่ได้ใบอนุญาต ทำให้สูญเงินเปล่า ๆ
“การขยายเวลาขึ้นทะเบียนที่ประกาศออกมานี้ เป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อรอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการต่อ ผมเสนอแนะการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือ รัฐบาลใหม่ต้องปฏิรูปทั้งระบบแรงงานเพื่อแก้ปัญหาโดยทำระบบขึ้นทะเบียนแบบ One Stop Service เพื่อความสะดวก และตัดปัญหานายหน้า รวมทั้งต้องวางแผนการจัดการแรงงานข้ามชาติใหม่ทั้งระบบ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว” นายอดิศร กล่าวเพิ่มเติม