ผบ.ตร. แถลงย้ำเน้นจับขบวนการนำพาคนต่างด้าว แทนการลงโทษแรงงาน
2021.01.27
กรุงเทพฯ และปัตตานี
ในวันพุธนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และคณะ ได้แถลงข่าวการจับกุมขบวนการนำพา และซ่อนเร้นคนต่างด้าว ในเดือนมกราคม 2564 โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่เร่งปราบปรามผู้นำพาและนายทุน
พล.ต.อ.สุวัฒน์ เปิดเผยในการแถลงข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า สามารถจับกุมนายหน้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำพาคนต่างด้าวเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายได้ 78 ราย คุมตัวคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองได้ 266 ราย ขณะที่ปี 2563 มีผู้ลักลอบเข้าเมืองตลอดทั้งปี 6.8 หมื่นราย ลดลงจากปี 2562 ที่มีคนลักลอบเข้าเมืองกว่า 2 แสนราย โดยการเร่งกวาดล้างขบวนการ สืบเนื่องจากการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ส่วนหนึ่งก็มาจากแรงงานต่างสัญชาติ จากจังหวัดสมุทรสาคร
“การปราบปรามเราเน้นเรื่องขบวนการนำเข้า-ส่งออกแรงงานผิดกฎหมาย เราไม่ได้เน้นคนที่หลบหนีเข้าเมือง ซึ่งรัฐบาลก็มีนโยบายที่ชัดเจนว่า ในบางส่วนก็จะอนุญาตผ่อนผันแล้ว ก็จะให้ทำงานเข้าอยู่ในระบบ... จัดการกับคนที่นำเข้า-ส่งออก นายทุน” พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว
เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกกฎหมาย นำหลักฐานมาดำเนินการขึ้นทะเบียน เพื่อให้สามารถทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยได้ เป็นเวลา 2 ปี
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. การจับกุมขบวนการนำพาคนต่างด้าว ตำรวจได้มีการบูรณาการข้อมูลข่าวเจ้าหน้าที่ทหาร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน โดยเน้นการขยายผลการจับกุม เพื่อหาต้นตอการนำเข้า โดยเฉพาะจับกุมนายทุนผู้อยู่เบื้องหลัง
“ตั้งแต่ 1-25 มกรา เราได้มีการจับกุมที่สำคัญ เรื่องของการนำหรือพาคนต่างด้าวโดยผิดกฎหมายจำนวน 16 ราย การซ่อนเร้นช่วยเหลือคนต่างด้าวผิดกฎหมาย 62 ราย ระดมกวาดล้างขบวนการแรงงานต่างด้าวตามหมายจับ 19 หมาย ซึ่งขณะนี้ได้ไปดำเนินการกับเครือข่ายได้ 5 เครือข่าย” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าว
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า การกวาดล้างขบวนการนำเข้าคนต่างด้าวผิดกฎหมายนั้น สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมตัวคนต่างด้าวชาวโรฮิงญา 19 คน ซึ่งลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และมาหลบซ่อนอยู่ในบ้านพักย่านดอนเมือง กรุงเทพฯ ซึ่งหลังจากการตรวจโรคพบว่า ในนั้น 7 ราย ติดเชื้อโควิด-19 จากการสอบสวนพบว่า คนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว เดินทางเข้ามาจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ผ่านช่องทางธรรมชาติ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีขบวนการนายหน้า ซึ่งเป็นคนไทยและคนต่างชาติให้การช่วยเหลือ รวมถึงเรียกรับผลประโยชน์
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มกราคมนี้ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมเครือข่ายนำพาแรงงาน ได้อีก 7 ราย จากการตรวจค้นใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องชาวไทยได้ 3 ราย ในนั้นเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ 1 ราย พื้นที่ เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ จับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ 2 ราย พื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พื้นที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช สามารถจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ 2 ราย โดยเป็นชาวเมียนมา และเบื้องต้น สืบทราบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการ 37 คน ซึ่งอาจมีทั้งเข้าข่ายถูกดําเนินการทางอาญา ถูกดำเนินการทางวินัยและทางปกครอง โดยจะต้องมีการดำเนินการขยายผลในอนาคต และจากเบาะแสคดีดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสืบสวน และตรวจค้น จนสามารถจับกุมขบวนการเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ 5 เครือข่าย สามารถควบคุมตัวแรงงานข้ามชาติได้ 266 คน
สตช. ยังได้สรุปผลการดำเนินงาน จับกุมคนต่างด้าว และขบวนการนำพา และให้การช่วยเหลือ โดยระบุว่า ปี 2562 สามารถจับกุมคนต่าวด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ 208,791 ราย จับกุมผู้นำพาได้ 206 ราย และจับกุมผู้ให้ความช่วยเหลือ หรือซ่อนเร้นได้ 580 ราย ขณะที่ ปี 2563 จับกุมคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ลดลงเกือบสามเท่า เหลือเพียง 68,942 ราย จับกุมผู้นำพาได้ 312 ราย และจับกุมผู้ให้ความช่วยเหลือ หรือซ่อนเร้นได้ 684 ราย
แต่เมื่อมีการนำพาแรงงานรอบใหม่มากขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิดภายในประเทศทุเลาลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กวาดล้างขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน สืบสวนปราบปรามเครือข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อปราบปรามการกระทำผิด
ไทยเตรียมส่งเมียนมาในห้องกักระนอง 166 ราย กลับเมียนมา พฤหัสบดีนี้
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) เปิดเผยว่า ทางการไทยได้ประสานงานกับทางการเมียนมา เพื่อขอส่งตัวชาวเมียนมาจำนวน 166 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวที่ห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง เพื่อกลับประเทศเมียนมา หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ชาวเมียนมา 402 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในห้องกักดังกล่าว พยายามแย่งกุญแจ และแหกห้องกัก หลังเกิดความเครียดระหว่างถูกกักตัว และต้องการจะกลับประเทศ
พล.ต.ท.สมพงษ์ ระบุว่า ในเวลา 08.00 น. ของวันที่ 28 มกราคม 2564 นี้ จะได้มีการส่งตัวชาวเมียนมา 166 คน กลับประเทศ ขณะที่อีก 97 คน อยู่ระหว่างการประสาน เพื่อส่งตัวกลับประเทศเมียนมาเช่นกัน ทั้งนี้ ในห้องกักจังหวัดระนอง มีคนเมียนมา 402 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 365 คน ผู้หญิง 37 คน ถูกควบคุมตัวเนื่องจากลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
มติ ครม. 29 ธันวาคม 63 : จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล และออกใบอนุญาตทำงาน
ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 คาดว่า จะมีแรงงานต่างด้าว 500,000 คน ให้จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล เพื่อการพิสูจน์ ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจโควิด-19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะส่งข้อมูลคนต่างด้าว ที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้ว ให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน
นายอดิศร เกิดมงคล จากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) เสนอเมื่อเดือนที่แล้ว ให้รัฐบาลออกมาตรการที่ชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไรกับคนต่างด้าว ระหว่างที่มีคนต่างด้าวจำนวนหนึ่ง รอการขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานอย่างถูกกฎหมาย จนถึงเดือนเมษายน 2564 นี้
“ผมประเมินว่า จะมีแรงงานประมาณ 8 แสนคน ที่มาขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ (ครม.ประเมินว่ามี 5 แสนคน) ระหว่างที่รอการขึ้นทะเบียน รัฐจำเป็นต้องมีการประกาศแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนว่า จะไม่มีการจับกุม หรือดำเนินคดีกับแรงงานข้ามชาติ”
“ถ้ารัฐบาลประกาศชัดเจนว่า ระหว่างนี้จะเว้นโทษ จะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ ไม่มีนายจ้างปล่อยทิ้งแรงงานข้ามชาติ หรือการเอารัดเอาเปรียบจากแรงงานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการขึ้นทะเบียน ถือว่าไทยได้ประโยชน์ คือได้แรงงานเข้าสู่ระบบ ขณะที่ประเทศยังปิดอยู่” นายอดิศร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ผ่านโทรศัพท์ เมื่อเดือนที่แล้ว