ครม. ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท เริ่มใช้ 1 ม.ค. 67

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.12.26
กรุงเทพฯ
ครม. ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท เริ่มใช้ 1 ม.ค. 67 เรือแล่นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ วันที่ 10 ตุลาคม 2566
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2567 นี้แล้ว โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันจะผลักดันให้มีการขึ้นค่าแรงอีกครั้งมีนาคม 2567 นี้ เพื่อเป็นของขวัญวันสงกรานต์ให้ประชาชน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. ว่า ครม. รับทราบอัตราค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 แล้ว

“มติของคณะกรรมการไตรภาคีกลับมาเสนอเพื่อทราบอีกครั้ง โดยยืนยันตามเดิมนะครับว่า ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 บาท ถึง 16 บาท โดยมีระดับค่าจ้าง 17 ขั้น ขั้นต่ำสุดก็คือ ขึ้นจาก 328 บาท เป็น 330 บาท ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส อันดับหนึ่งสูงสุดค่าแรงที่ภูเก็ต ขึ้นเป็น 370 บาท จาก 354 บาท” นายชัย กล่าว

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละปี คือ คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐ (ไตรภาคี) โดยพิจารณาการขึ้นค่าจ้างจากปัจจัย ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ GDP และอื่น ๆ

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการค่าจ้าง มีมติในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ขึ้นค่าจ้าง 2-16 บาท แต่เมื่อเสนอเข้าครม. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า อัตราดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงได้ขอถอนข้อเสนอออกไปก่อน เพื่อพิจารณาใหม่ อย่างไรก็ตาม ในวันอังคารนี้ ยังยืนยันอัตราค่าจ้างเดิม

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลจะพยายามเร่งรัดให้มีการประชุมปรับค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งในต้นปี 2567

“จะมีการประชุมอีกครั้งในต้นปีหน้า ภายในเดือนมกราคมเพื่อกำหนดอัตราใหม่ เพื่อพยายามทำให้ (ค่าแรง) สูงขึ้น ก็พยายามอย่างเต็มที่ และประกาศใช้ให้ได้เดือนมีนาคมใหม่อีกรอบนึง เพราะไม่จำเป็นต้องขึ้นปีละหน ก็อาจจะไปดูตามรายอำเภอหรือรายอาชีพจริง ๆ ที่สามารถทำให้พี่น้องได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายกรัฐมนตรี ระบุ

ขณะที่ นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 มกราคม 2567 จะมีการเชิญคณะกรรมการค่าจ้างคุยอีกครั้ง และตั้งอนุกรรมการขึ้นเพื่อศึกษาการขึ้นค่าแรงใหม่ โดยจะมีการศึกษารายอาชีพ และการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเชื่อว่าจะให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าแรงที่เหมาะสมได้ในสิ้นเดือนมีนาคม 2567

“การประกาศเป็นรายจังหวัด จะเป็นการสะท้อนภาพเป็นจริงส่วนหนึ่ง ไม่เป็นจริงอีกหลาย ๆ ส่วน บางอำเภอ มีสภาวะเศรษฐกิจที่ดี แต่พอออกนอกพื้นที่อำเภอ เศรษฐกิจก็อาจจะไม่ดีเหมือนในตัวเมือง จะขอข้อมูล ธนาคารชาติ สภาพัฒน์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อประกอบการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะเป็นการประกาศให้เป็นของขวัญวันปีใหม่ไทย คือวันสงกรานต์” นายพิพัฒน์ กล่าว

231226-th-economy-minimum-wage 2.jpg

แรงงานก่อสร้างขณะซื้อหาผักและอาหารสดจากตลาดริมทางแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 10 ตุลาคม 2566 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

สำหรับประเด็นนี้ น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network - MWRN) เคยเปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ค่าแรงที่เหมาะสมสำหรับแรงงานควรมากกว่านี้

“การศึกษาตั้งแต่ปี 2560 พบว่า ค่าแรงที่เหมาะสมและสอดคล้องกับอนุสัญญาของ ILO คือ 712 บาท ต่อวัน เพราะจะทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงครอบครัว 3 คนได้ แต่ถ้ายังขึ้นได้ไม่ถึงขนาดนั้น ก็ควรเป็น 492 บาท สำหรับประทังคนเดียว ไม่ใช่แค่ 2-16 บาท จากที่เราทำสำรวจโรงงาน 20 กว่าโรงงาน แรงงานได้อยู่ 353 บาทต่อวัน สุดท้ายเขาอยู่ไม่ได้จริง ติดลบกันหมด” น.ส. สุธาสินี กล่าว 

ต่อประเด็นดังกล่าว ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การที่รัฐบาลไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้ จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือทันที

“กรรมการสามฝ่ายที่พิจารณาอัตรานี้เขาก็คงประเมินกันมาแล้ว แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่สัญญาต่อประชาชน ผมคิดว่ารัฐบาลต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ การอ้างว่าค่อยขึ้นทีหลังนั้น ถือว่ารัฐบาลไม่ได้วางแผนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และต้องสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าเกิดอะไรขึ้น” ผศ.ดร. โอฬาร ระบุ

สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในปี 2554 รัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยประกาศขึ้นค่าแรงจาก 215 บาท เป็น 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ตามแนวทางการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ต่อมาเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารยึดอำนาจ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยปีละ 2.54-4.90 บาท

ทำให้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 28-54 บาทเท่านั้น โดยขึ้นค่าแรงครั้งสุดท้ายในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 กระทั่งในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอนโยบายว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีเป็น 400 บาทและทยอยขึ้นจนถึง 600 บาทภายในปี 2570

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง