ทูตพิเศษสหประชาชาติจะพบผู้นำอาเซียน นอกการประชุมสุดยอดอาเซียน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2021.04.21
กัวลาลัมเปอร์ จาการ์ตา มะนิลา และวอชิงตัน
ทูตพิเศษสหประชาชาติจะพบผู้นำอาเซียน นอกการประชุมสุดยอดอาเซียน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย (ซ้าย) เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2562
ทำเนียบรัฐบาลไทย/เอเอฟพี

ทูตพิเศษของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา จะเดินทางไปยังกรุงจาการ์ตาในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อพูดคุยถึงความวุ่นวายในเมียนมากับบรรดาผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกการประชุมสุดยอดวาระพิเศษ องค์การสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันพุธ

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การประชุมที่จะมีขึ้นในวันเสาร์นี้เริ่มเห็นลางที่ไม่ดีแล้ว เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุม

“คริสติน ชราเนอร์ เบอเกเนอร์ ทูตพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ ยังคงอยู่ในภูมิภาคนี้ และจะไปที่กรุงจาการ์ตา เพื่อพูดคุยกับผู้นำอาเซียน นอกการประชุมวันเสาร์นี้ โดยจะมุ่งที่การหาทางออกทางการเมือง” นายสตีเฟน ดูจาร์ริค โฆษกของนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าว

เลขาธิการสหประชาชาติ “เรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนช่วยกันป้องกันไม่ให้วิกฤตบานปลาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง นอกพรมแดนของเมียนมา” สตีเฟน ดูจาร์ริค บอกในระหว่างการบรรยายสรุปประจำวันแก่สื่อมวลชน ที่สำนักงานขององค์การสหประชาชาติในนิวยอร์ก ตามบันทึกการถอดความ

คริสติน ชราเนอร์ เบอเกเนอร์ เดินทางถึงภูมิภาคนี้ เมื่อต้นเดือนนี้ เพื่อพูดคุยเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่พร้อมที่จะให้เธอเข้าพบ เธอโพสต์ลงในทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน

จนถึงตอนนี้ มีผู้นำหกจากทั้งหมดสิบประเทศของอาเซียน รวมทั้งผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมา ได้ตอบตกลงที่จะเข้าร่วมการประชุมแบบพบหน้ากันนี้

แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร จะไม่เข้าร่วมการประชุมนี้ ได้ทำลายประสิทธิผลของอาเซียน ในการกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าหยุดฆ่าพลเรือนและฟื้นฟูประชาธิปไตย นักวิเคราะห์กล่าว

“ผมคิดว่าควรให้ความสำคัญกับการที่ผู้นำสูงสุดของประเทศสมาชิกเข้าร่วมในการประชุม เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังและความเป็นห่วงเป็นใยอย่างเต็มที่ของอาเซียน” นายอัซมี ฮัสซัน นักวิเคราะห์การเมืองชาวมาเลเซีย กล่าว

“หากมีเพียงผู้นำระดับสองหรือสามเท่านั้นที่เข้าร่วมการประชุม จะเป็นการส่งสัญญาณแก่รัฐบาลทหารเมียนมาว่า อาเซียนขาดความเป็นเอกภาพ ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่อาเซียนจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการตัดสินใจเรื่องเมียนมา” อัซมี ฮัสซัน บอกแก่เบนาร์นิวส์

นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา มีผู้ถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคงของพม่าไปแล้วกว่า 700 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร ตามตัวเลขล่าสุดจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนเมียนมาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

ใครบ้างที่จะเข้าร่วมประชุม

จนถึงวันพุธที่ผ่านมา ผู้นำของบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะเข้าร่วมการประชุม ซึ่งจะมีขึ้นที่สำนักเลขาธิการอาเซียน ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย

นายฟาม มินห์ จินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมด้วย สถานทูตเวียดนามประจำสหรัฐอเมริกา บอกแก่เบนาร์นิวส์เมื่อวันพุธ

ไทยจะส่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปเข้าร่วมประชุม กระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์กล่าวว่า จะออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดีว่า ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต จะเข้าร่วมหรือไม่ สำนักงานของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้พยายามปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของประธานาธิบดี

ลาวและสิงคโปร์ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ใครจะเป็นผู้แทนรัฐบาลเข้าร่วมในการประชุมวาระพิเศษครั้งนี้

นายไซเอ็ด ฮามิด อัลบาร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า การไม่เข้าร่วมของ พล.อ.ประยุทธ์ จะส่งผลเสียมากที่สุดต่อการประชุมอาเซียนครั้งนี้

พล.อ.ประยุทธ์ ไม่บอกเหตุผลของการตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมนี้ เมื่อเขาบอกผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า รองนายกรัฐมนตรีจะเป็นตัวแทนเขาในการประชุมที่กรุงจาการ์ตา

การไม่เข้าร่วมของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผลเสียอย่างหนึ่ง เนื่องจากไทยสนิทกับทัดมาดอว์ มาก ไซเอ็ด ฮามิด อัลบาร์ บอกแก่เบอร์นามา สำนักข่าวมาเลเซียที่อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล โดยใช้คำภาษาพม่าที่ใช้เรียก กองทัพของเมียนมา 

ในปี 2561 ไทยได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น "ประถมาภรณ์ช้างเผือก” แก่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในขณะนั้น ผู้บัญชาการทหารของเมียนมาผู้นี้ได้บอกแก่สื่อมวลชนว่า เขาได้รับเครื่องราชฯ เพราะ “กองทัพของทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีทีเดียว” หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงาน

ในตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นปีที่สี่ หลังจากก่อรัฐประหารในปี 2557 ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ผู้นำทหารของพม่าและไทยมี “เคมีตรงกัน” ที่ “ส่งให้ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองอยู่ในขั้นที่ดีมาก” บทความในโกลบอลเอเชีย สิ่งพิมพ์รายไตรมาสของมูลนิธิเอเชียตะวันออก ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 กล่าว

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย [ในตอนนั้น] เลือกที่จะไปเยือนเมียนมาเป็นประเทศแรก หลังจากการยึดอำนาจในการทำรัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557” บทความนั้นกล่าว

ฮันเตอร์ มาส์ตัน นักวิจัยพิเศษที่แปซิฟิกฟอรัม สถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนที่จะกำลังจะมีขึ้นนี้ เป็นลางไม่ดีสำหรับบรรดาผู้นำของอาเซียนที่ต้องการส่งสัญญาณอันหนักแน่นถึงรัฐบาลทหารพม่า

นี่เป็น “การดับความหวังที่มีน้อยนิดอยู่แล้ว ในการบรรลุความเป็นเอกภาพของอาเซียน” ฮันเตอร์ มาส์ตัน กล่าวทางทวิตเตอร์

เมื่อเดือนมีนาคม บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่สามารถบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และผู้นำคนอื่นของเมียนมาที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถูกคุมขังโดยกองทัพ นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร

“การไม่เข้าร่วมประชุมเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ข้างเขา … [เป็น] สัญญาณว่าเขา [พล.อ.ประยุทธ์] ไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการส่งสัญญาณอันหนักแน่นถึงเมียนมาว่า อาเซียนต่อต้านการรัฐประหาร” มาส์ตันกล่าว

เอาใจ

ในตอนนี้ อาเซียนกำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว ที่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ อาเซียนไม่เปิดเผยว่า ได้ส่งคำเชิญถึงใครบ้าง และใครบ้างที่ตอบรับคำเชิญแล้ว

บรูไน ประธานอาเซียน ก็ไม่ได้บอกว่าได้เชิญผู้แทนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government - NUG) เข้าร่วมการประชุมนี้หรือไม่ รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลคู่ขนานที่ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันศุกร์ และประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ได้ที่นั่งในการเลือกตั้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ถูกกองทัพเมียนมาใช้กำลังโค่นล้ม

โรมิโอ อาบัด อาร์กา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสำนักเลขาธิการอาเซียน บอกแก่เบนาร์นิวส์เมื่อวันพุธว่า เขาไม่มีข้อมูลว่าใครบ้างที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้

เจ้าหน้าที่ของบรูไนและอินโดนีเซียยังไม่ได้ตอบอีเมลของเบนาร์นิวส์

โอ อี ซุน นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิเทศสัมพันธ์แห่งสิงคโปร์ กล่าวว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย อาจไม่เข้าร่วมการประชุมนี้ หากตัวแทนของ NUG เข้าร่วม

“การไม่เชิญ NUG อาจเป็นเพราะไม่ต้องการทำให้ผู้นำรัฐบาลทหารไม่พอใจ เนื่องจากเขาอาจปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุม หาก NUG จะไปร่วมประชุมด้วย” โอ อี ซุน บอกแก่เบนาร์นิวส์  “ดังนั้น ดูเหมือนอาเซียนจะพยายามอย่างหนักที่จะทำตามความต้องการและความปรารถนาของ มิน อ่อง หล่าย และรวมถึงรัฐบาลทหาร ผมคิดว่าคำปกติที่ใช้เรียกการกระทำนี้คือ การเอาใจ”

ขณะเดียวกัน การตัดสินใจของผู้นำรัฐบาลทหารพม่าที่จะเข้าร่วมการประชุม แสดงให้เห็นว่า “เขามั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลทหารมากพอที่จะเดินทางออกนอกประเทศ และไม่กลัวที่จะถูกแย่งอำนาจ” มาส์ตันกล่าว

“เขาต้องการการยอมรับจากที่ประชุม มากพอที่จะเสี่ยงเช่นนั้น” มาส์ตันกล่าว

และทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ไม่เป็นที่แปลกใจแก่ บริเจ็ต เวลช์ นักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม ในมาเลเซีย

“ผมไม่คาดหวังอะไรมากจากการประชุมนี้ เพราะอาเซียนแตกแยกกัน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย สนับสนุนรัฐบาลทหาร ขณะที่สิงคโปร์ลังเล เพราะให้อำนาจรัฐบาลทหาร จึงเหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่ต่อต้านการรัฐประหารนี้” บริเจ็ต เวลช์ บอกแก่เบนาร์นิวส์

ขณะเดียวกัน ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชน ได้เรียกร้องให้อาเซียนยกเลิกคำเชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา “เพราะเขามีส่วนในการสังหารโหด และการใช้วิธีที่โหดเหี้ยมในการปราบปรามผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย”

 ฮาดี อัซมี ในกัวลาลัมเปอร์ รอนนา เนอร์มาลา ในจาการ์ตา เจสัน กุเทียเรซ ในมานิลา และ ไชลาจา นีละคันตัน ในวอชิงตัน มีส่วนร่วมในรายงานนี้ 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง