กต.แถลงชาวเมียนมาอพยพเข้าฝั่งไทยกว่า 2 พันรายแล้ว
2021.04.30
กรุงเทพฯ
ในวันศุกร์นี้ นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย แถลงกับสื่อมวลชนว่า สถานการณ์ชายแดนพม่ายังไม่สงบ หลังเกิดการปะทะโดยกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ร่วมกับกองกำลังจากกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) เข้าตีฐานที่มั่นของทหารพม่าบริเวณใกล้ชายแดนเมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลกระทบให้ชาวไทยต้องอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่มีชาวเมียนมาหนีการปะทะดังกล่าวข้ามมายังฝั่งไทย ในอำเภอแม่สะเรียง จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 2,267 คน
ด้านเอ็นจีโอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดพื้นที่การทำงาน อนุญาตให้องค์กรต่าง ๆ นำสิ่งของไปบริจาคได้ และเร่งให้ความช่วยเหลือผู้อพยพตามหลักสิทธิมนุษยชน
“เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีเหตุกองกำลัง KNU ได้ร่วมกันกับ KNLA เข้าตีฐานที่มั่นของทหารพม่า บริเวณใกล้ชายแดนเมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน และต่อเนื่องมาถึงวันที่ 28 เมษายน ทำให้มีคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบดังกล่าวในสองพื้นที่ได้แก่ บ้านแม่สามแล่บ ตำบลแม่สามแล่บ อำเภอสบเมย และบ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง ต้องอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เข้าอำนาจความสะดวกและให้การช่วยเหลือ จนถึงปัจจุบันมีจำนวนคงเหลือ 220 รายที่อาศัยในบ้านแม่สามแลบ โดยมีถูกกระสุนได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ซึ่งถูกนำไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว” นายธานี กล่าว
นายธานี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมีผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมาเดินทางข้ามมายังฝั่งไทย เพื่อลี้ภัยในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง คงเหลือทั้งสิ้น จำนวน 2,267 คน แต่รัฐบาลได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเอาไว้แล้ว โดยให้ผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมาไปพักรอในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ซึ่งเราเรียกว่าพื้นที่แรกรับ ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของทหาร โดยมีการคัดกรองโควิด-19 ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
“หากกรณีมีการสู้รบรุนแรงยืดเยื้อ หน่วยความมั่นคง กองทัพไทย และจังหวัด ได้มีการเตรียมแผนเคลื่อนย้ายผู้หนีภัยความไม่สงบ ไปยังพื้นที่พักรอ ซึ่งห่างชายแดนประมาณ 1 กิโลเมตร โดยจะดูแลตามหลักมนุษยธรรม มีอาหาร น้ำ ยารักษาโรค ดูแล ยังไม่ประกาศเปิดรับบริจาค โดยสำหรับแนวทางการรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือ จ.แม่ฮ่องสอน แจ้งว่ายังไม่ประกาศเปิดรับบริจาคในขณะนี้” นายธานี กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนางรวี (สงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี ชาวตำบลแม่สามแลบ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์ในชายแดนไทย-พม่ายังคงวุ่นวาย มีชาวบ้านกว่าร้อยคนยังคงอพยพออกจากพื้นที่ชายแดน เพื่อพักอาศัยชั่วคราว ในพื้นที่โรงเรียนบ้านห้วยกองก้าด ขณะที่มีประชาชนส่วนหนึ่งได้ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาไปตั้งแต่เมื่อวานเช่นเดียวกัน
“ตอนนี้ผู้คนยังงง ๆ กันอยู่ ว่าจะเอายังไง เท่าที่รู้มาคือ มีคนกลับไปส่วนหนึ่ง แต่พอช่วงบ่ายของเมื่อวานมีเหตุการณ์ปะทะอีก เช้านี้ก็มีคนทยอยออกมาพักแรมที่บ้านห้วยกองก้าด ตอนนี้จำนวนน่าจะราว ๆ สี่ร้อยคน” นางรวี
“ปัญหาที่เห็นตอนนี้คือ เจ้าหน้าที่ต่างๆ ไม่อนุญาตให้องค์กรอะไรเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน กลายเป็นเยาวชนที่ต้องจัดการกันเอง เหตุการณ์เลยค่อนข้างวุ่นวายและไม่คิดว่าเรื่องจะจบลงง่าย ๆ ชาวกะเหรี่ยงที่อพยพและปักหลักอยู่ในฝั่งตรงข้ามยังคงรอความช่วยเหลือ และการยิงปะทะกันคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ แทบจะทุกวัน อยากให้เจ้าหน้าที่ฝั่งไทยให้ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ แทนที่จะผลักดันกลับให้อยู่ในพื้นที่อีตูท่าได้แล้ว” นางรวี กล่าวเพิ่มเติม
ด้านพ.อ.สุจินต์ ทรัพย์สิน ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 7 กล่าวแก่สื่อมวลชนในวันนี้ว่า ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาได้
“ตอนนี้ ก็ให้ความปลอดภัยกับประชาชนไทยอยู่แล้ว ขอให้มั่นใจ (เหตุผลที่ไม่ให้คนเข้าไปยังพื้นที่ซึ่งผู้หนีภัยอยู่) หนึ่งเพื่อความปลอดภัย สองเรื่องการควบคุมโควิด เพราะจะเอาเข้ามาในพื้นที่ก็คงจะลำบาก เพราะช่วงนี้เราต้องต่อสู้กับโควิด-19 ด้วย ความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ” พ.อ.สุจินต์ กล่าว
การปะทะระหว่างทหารเมียนมา และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ร่วมกับ กองกำลังทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ทวีความรุนแรงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันกองทัพเมียนมา โดยกองทัพเมียนมาได้ใช้เครื่องบินโจมตีทางอากาศไปที่บ้านเดปู่โน่ จังหวัดมื่อตรอ (ผาปัน) รัฐกะเหรี่ยง ทำให้มีปะทะกันต่อเนื่อง จนประชาชนชาวเมียนมาเกือบ 3 พันคน หนีภัยการสู้รบข้ามมายังฝั่งไทยในห้วงเวลาดังกล่าว
เอ็นจีโอเรียกร้องรัฐบาลเร่งช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน
น.ส. มัจฉา พรอินทร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การที่เราไม่มีความร่วมมือระหว่าง CSO NGO UN และรัฐบาลไทยในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัย จะทำให้ผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคนไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองตามหลักการสิทธิมนุษยชนและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หลี้ภัยสงครามส่วนใหญ่คือ เด็ก ผู้หญิงและผู้สูงอายุ
“ข้อเรียกร้องของเราคือ ขอให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ ทำงานร่วมกับ NGO UN และคนทำงานด้านสิทธิ์ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างเร่งด่วน โดยไม่ผลักดันส่งกลับ รวมถึงให้รัฐสนับสนุนผู้ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัย นักข่าวให้สามารถเข้าเข้าถึงพื้นที่และข้อมูล เพื่อให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมนานาชาติ สามารถมีส่วนสนับสนุนสันติภาพและส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศพม่าได้ ซึ่งประเทศไทยก็ควรที่จะแสดงจุดยืนนี้ด้วย” น.ส.มัจฉา ระบุ
ขณะที่ น.ส.พรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เผยกับเบนาร์นิวส์เช่นกันว่า ตอนนี้การได้ข้อมูลจากพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวิน ค่อนข้างลำบาก เพราะมีการสั่งห้ามถ่ายภาพ และส่งข้อมูลออกมา รวมถึงมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ฝั่งพม่า
"สถานการณ์สู้รบตอนนี้ยังมีเครื่องบินบินอยู่ และมีการปรับแนวทางจากที่เมื่อก่อนทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้าน ตอนนี้เปลี่ยนมาทิ้งระเบิดบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ที่ชาวบ้านหลบอยู่ เพราะพวกเขาไม่อยู่ในหมู่บ้านมาพักใหญ่ ๆ แล้ว" น.ส.พรสุข กล่าว
โดยมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กอีกครั้ง เพื่อยืนยันแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งลงนามโดย 62 องค์กรภาคประชาสังคมและ 344 บุคคล ระบุว่า
“1. รัฐจะต้องไม่ปฏิเสธการขอเข้าลี้ภัย 2. ความรับผิดชอบในการจัดการดูแลคุ้มครองจะต้องเป็นของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสามารถประสานกับสาธารณสุขท้องถิ่น และองค์กรมนุษยธรรม 3. รัฐจะต้องไม่ปิดกั้น หากควรอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนไทยที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัย 4. รัฐจะต้องอนุญาตให้ UNHCR เข้าถึงผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่หลบหนีการปราบปราม เข้ามาอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์และอาจปะปนเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย อีกทั้งสามารถใช้กลไกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 เพื่อให้ความคุ้มครองได้ 5. การตัดสินใจส่งกลับผู้ลี้ภัยจะต้องมีความโปร่งใส ไม่ใช่บทบาทของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นบทบาทร่วมของหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย”