องค์กรผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศชี้ ไทยควรให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังเมียนมา

สุเบล ราย บันดารี และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.07.12
กรุงเทพฯ
องค์กรผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศชี้ ไทยควรให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังเมียนมา ผู้ลี้ภัยหลบหนีการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและกองทัพกบฏ และมาพักพิงชั่วคราว ที่ริมฝั่งแม่น้ำเมย ตามแนวชายแดนไทย พร้อมได้รับความช่วยเหลือที่อำเภอแม่สอด ตาก วันที่ 7 มกราคม 2565
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

ปรับปรุงข้อมูล 10:42 a.m. ET 2022-07-12

องค์กรผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรด้านมนุษยธรรมที่สนับสนุนการดูแลผู้ลี้ภัย เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด ว่าประเทศไทยไม่ควรผลักดันผู้ที่แสวงหาที่หลบภัยจากภัยคุกคามต่อชีวิตและเสรีภาพในเมียนมา พร้อมกับควรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดนผ่านองค์กรท้องถิ่นต่าง ๆ 

ชาวเมียนมาหลายพันอพยพเข้าสู่ประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนยาว 2,400 กิโลเมตร เพื่อหนีจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หลังจากรัฐประหารเมื่อต้นปีที่แล้ว

รัฐบาลเผด็จการทหารได้ก่อความทารุณในวงกว้าง และปิดกั้นองค์การด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ไม่ให้ส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ที่มีความต้องการเป็นอย่างสูง” องค์กรผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ ระบุในรายงาน

“ในขณะเดียวกัน การส่งมอบความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ผ่านประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านองค์กรไม่แสวงกำไรท้องถิ่นที่เคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา เป็นวิธีที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ในการส่งความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการอย่างแท้จริง”

การเผยแพร่รายงานนี้มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนกรุงเทพ ซึ่งได้เรียกร้องให้ไทย สมาชิกอาเซียน และจีน ร่วมกดดันรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาให้ยุติความรุนแรงต่อประชาชนและหันกลับมาสู่วิถีของประชาธิปไตย

ที่ผ่านมารัฐบาลเผด็จการทหารของพม่า ซึ่งนำโดย พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ได้โค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 และสั่งจำคุกผู้นำพลเรือนหลายต่อหลายคน ส่งผลให้เกิดการต่อสู้ระหว่างกองกำลังของรัฐบาลและกลุ่มต่อต้านทั่วประเทศ ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องหนีการสู้รบพลัดถิ่น ท่ามกลางความต้องการด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มขึ้น

“ทางการไทยควรต้องปฏิบัติตามคำมั่นที่จะไม่ส่งกลับ และไม่มีการผลักดันให้ผู้คนที่หลบหนีความรุนแรงมาจากเมียนมา ให้กลับไปทั้งที่ยังไม่ปลอดภัยองค์กรผู้ลี้ภัยฯ กล่าว

ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเสาหลักสำคัญในความสัมพันธ์ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสมาชิกเมียนมามาอย่างยาวนาน ก็ถูกวิพากษ์-วิจารณ์ว่า มีท่าทีอ่อนต่อวิกฤตหลังรัฐประหารเมียนมา ทั้งก่อให้มีความเห็นแตกแยกในกลุ่มประเทศสมาชิก 10 ประเทศ

นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุอีกว่า “ประเทศไทยลังเลที่จะทำอะไรเพื่อจูงใจให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศ แถมยังไม่ให้ความช่วยเหลือข้ามพรมแดน และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยยิ่งแย่ลง”

นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวถึงความช่วยเหลือของรัฐบาล

"เราไม่เคยเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมามาหลายรัฐบาลแล้วครับ แต่เป็นไปได้ว่าสถานการณ์ในเมียนมาและตามแนวชายแดนเปลี่ยนไป อาจทำให้มีความห่วงกังวลโดยสื่อมวลชนและประเทศต่าง ๆ ครับ" นายธานีกล่าวกับเบนาร์นิวส์

220712-th-mn-border-refugees-1.jpg

ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาเดินข้ามแม่น้ำ เพื่อมาฝั่งไทย ทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 15 มกราค 2565 (เอเอฟพี)

วิกฤตการณ์ในเมียนมา

ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองแห่งประเทศไทย ระบุว่า หลังการรัฐประหาร กองกำลังของรัฐบาลทหารได้ควบคุมตัวประชาชนไปแล้วกว่า 14,000 คน ในขณะที่พลเรือนกว่า 2,000 คนถูกสังหาร 

ขณะที่รายงานของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา ระบุเช่นเดียวกันว่า ประชาชนราว 1.1 ล้านคนต้องพลัดถิ่นในเมียนมา รวมถึง 758,500 คน ถูกบังคับให้ต้องออกจากบ้าน และประชาชนราว 14.4 ล้านคนหรือหนึ่งในสี่ของประชากรในเมียนมาต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอันเนื่องมาจากความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม ในไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ การสู้รบที่รุนแรงที่สุดได้เกิดขึ้นในรัฐชิน เขตสะกาย และเขตมาเกว ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา และในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยา ทางตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย

ในเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่า กองกำลังของรัฐบาลทหารได้เผาบ้านเรือนหลายพันหลัง พร้อมกับการโจมตีทางอากาศที่ทำให้ผู้คนมากกว่า 500,000 คนต้องหนีออกจากบ้าน 

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้จำกัดความช่วยเหลือข้ามพรมแดน เช่นเดียวกับ รัฐบาลทหารของเมียนมาที่ควบคุมถนนสายหลัก และยังได้เข้าควบคุมองค์กรด้านมนุษยธรรมท้องถิ่น พร้อมกับยึดสิ่งของและตัดขาดการช่วยเหลือรายงานระบุ

รายงานยังระบุอีกว่า ในทำนองเดียวกัน ภูมิประเทศที่สัญจรยากลำบากของเมียนมา ได้ถูกจำกัดความช่วยเหลือไปโดยปริยาย สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหลายพันคน และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร

ผู้อยู่อาศัยในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยาได้รับความช่วยเหลือบางส่วน จากองค์กรข้ามพรมแดนที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 เมื่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่อสู้กับกองทัพเมียนมา

220712-th-mn-border-refugees-2.jpg

ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมานั่งเรือข้ามแม่น้ำมาที่ฝั่งอำเภอแม่สอด ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ไทย วันที่ 4 มกราคม 2565 (รอยเตอร์

อุปสรรคในการช่วยเหลือ

หนึ่งในความท้าทายหลักของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือข้ามพรมแดนคือความกังวลของรัฐบาลไทย เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหาร รัฐไทยกำลังพยายามสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือข้ามพรมแดนอย่างเป็นทางการส่วนหนึ่งในรายงานระบุ

อย่างไรก็ตามในรายงานขององค์กรผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลอื่นๆ มีส่วนร่วมในการแก้วิกฤตินี้ พร้อมกับระบุชัดเจนว่า อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดและต่อเนื่องที่สุด สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมคือการขาดเงินทุน

“ในขณะที่รัฐบาลเพียงแค่หยิบมือกำลังสนับสนุนกลุ่มท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับความให้ความช่วยเหลือ ประเทศผู้บริจาคควรเพิ่มการสนับสนุนแนวทางลำเลียงความช่วยเหลือ ในรูปแบบที่ไม่ค่อยถูกใช้ประโยชน์และเป็นการปฏิบัติการระดับเล็กเหล่านี้” ส่วนหนึ่งของรายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อรัฐบาลไทยเพื่อสัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ

องค์กรผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ ยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยควรให้การคุ้มครองและสิทธิแก่ผู้คนหลายพันคนที่ข้ามพรมแดนจากเมียนมาเพื่อขอลี้ภัยชั่วคราวหรือระยะยาว ตั้งแต่เกิดรัฐประหารในบ้านเกิดของพวกเขา

นายซาไล บาวี นักวิจัยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือประเด็นผู้ลี้ภัยอย่างจริงจัง เนื่องจากประชาชนเองก็ไม่เห็นความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่รัฐบาลไทยทิ้งภาระและความรับผิดชอบของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาให้กับองค์กรระหว่างประเทศ และทำตัวเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกนายซาไล ระบุ

รายงานขององค์กรผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศยังระบุว่า ที่ผ่านมาทางการไทยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ไทยไม่ได้บังคับผู้ลี้ภัยให้เดินทางกลับ ผู้ลี้ภัยหลายคนเลือกที่จะเดินทางกลับเมียนมาเอง แต่ในทางกลับกัน สื่อท้องถิ่น กลุ่มเอ็นจีโอ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ระบุตรงกันว่า ทางการไทยกดดันให้ผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมาเดินทางกลับประเทศ 

นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยประมาณการว่ามีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา 17,000 คน ได้เดินทางข้ามมายังประเทศไทยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร แต่ตามรายงานของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในเดือนมิถุนายน กลับพบว่ามีผู้ลี้ภัยเพียง 246 คนเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ควบคุมของกองทัพไทย 2 แห่ง ซึ่งมีรายงานว่าสภาพความเป็นอยู่เลวร้าย

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง